บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หนทางแห่งชัยชนะ

หนทางแห่งชัยชนะ

——————-

ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ท่านแบ่งตัณหาไว้ ๓ อย่าง คือ

๑ กามตัณหา (กา-มะ-) ความอยากได้

๒ ภวตัณหา (ภะ-วะ-) ความอยากเป็น

๓ วิภวตัณหา (วิ-ภะ-วะ-) ความอยากพ้นไปจากภาวะที่กำลังเป็น

ความอยากได้ ทำให้กอบโกยไม่รู้จักพอ

ความอยากเป็น ทำให้วิ่งเต้นหาตำแหน่ง เกาะติดตำแหน่ง หรือหวังตำแหน่ง

ความอยากพ้น ทำให้อึดอัดขัดใจไร้สุขกับสภาพปัจจุบัน

ใครมีตัณหามาก ก็มีปัญหามาก

ใครควบคุมตัณหาไว้ให้มีแต่น้อย ก็มีปัญหาน้อย 

ใครตัดตัณหาได้ขาด ก็หมดปัญหา

ที่ยกเรื่องตัณหาขึ้นมากล่าวนำ ก็เพราะเรื่องที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ขึ้นอยู่กับตัณหาของผู้ที่เกี่ยวข้อง

————–

เป็นอันรู้ทั่วกันแล้วนะครับว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ท่านได้รับการสนับสนุนจากสังคมให้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอันรู้ทั่วกันว่าท่านก็ถูกสังคมคัดค้านไม่ให้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วยเช่นกัน

ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านกำลังออกมาประลองกำลังกันอุตลุดฝุ่นตลบอยู่ในเวลานี้

เหตุผลของฝ่ายสนับสนุนก็คือ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๗ บัญญัติว่า

……

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

……

ณ เวลานี้ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีสิทธิ์ตามกฎหมาย

เหตุผลของฝ่ายคัดค้านก็คือ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ มีคดีความติดตัวเกี่ยวกับกรณีรถเบนซ์ดังที่กำลังเอะอะกันอยู่ในเวลานี้

ตามที่ผมสังเกต คดีรถเบนซ์เพิ่งจะเกิดตึงตังขึ้นมาหลังจากที่มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะฯ ก่อนหน้านั้นก็เห็นเงียบๆ อยู่

คนทั่วไปก็พอจะมองออกว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายคัดค้านพยายามเปิดแผลเพื่อจะได้เป็นข้ออ้างในการค้านได้เต็มไม้เต็มมือยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านั้น เหตุผลของฝ่ายค้านที่พูดๆ กันก็คือ กรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องทุจริตการเงินถึงขั้นเห็นกันว่าต้องอาบัติปาราชิกข้ออทินนาทานไปแล้ว แต่มหาเถรสมาคม โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ เป็นผู้นำ ก็พยายามปกป้องว่าไม่มีความผิด ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจทั้งในตัวท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ เป็นส่วนตัว ทั้งลามไปถึงองค์คณะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นส่วนรวมอีกด้วย

ผมเข้าใจว่ากรณีธรรมกายนี้น่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ ทั้งนี้เพราะวัดพระธรรมกายนั้นไม่ใช่วัดธรรมดา แต่มีลักษณะเป็นบริษัทพาณิชย์ มีนโยบายเอาทรัพยากรในพระพุทธศาสนาออกมาแปรรูปเป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อสะสมความมั่งคั่ง เช่น จัดกิจกรรมเดินธุดงค์ ตักบาตรพระหมื่นรูป บวชพระแสนรูป เป็นต้น หลักคำสอนก็วิปริตจากพระธรรมวินัย เช่นสอนว่านิพพานเป็นอัตตา มีดินแดนเรียกว่า “พระนิพพาน” ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไปประทับรวมกันอยู่ มีพิธีกลั่นอาหารทิพย์ขึ้นไปถวายพระพุทธเจ้า เป็นต้น 

สรุปว่าวัดพระธรรมกายนั้นมีความสามารถในการสร้างภาพ สร้างกิจกรรมที่น่าศรัทธา แล้วก็ใช้ศรัทธานั้นเป็นทางดูดความมั่งคั่งมาสู่สำนักต่อไป ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้สังคมตั้งข้อสงสัย มีการต่อต้าน และโดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ที่อื้อฉาว ทำให้วัดพระธรรมกายตกอยู่ในฐานะจำเลยสังคม

เมื่อท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ แสดงตัวว่าเป็นพวกเดียวกับวัดพระธรรมกาย (วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้องกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน-ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ กล่าวไว้เองเช่นนี้) จึงเป็นเหตุให้สังคมที่คัดค้านวัดพระธรรมกายพลอยคัดค้านท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำไปด้วย

กรณีพระสงฆ์ออกมาชุมนุมที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เรียกร้องให้รัฐบาลเสนอนามท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชโดยเร็ว ยิ่งทำให้ภาพของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ เสียหายหนักขึ้นไปอีก เพราะเป็นที่ปรากฏชัดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุมก็คือวัดพระธรรมกายนั่นเอง มิหนำซ้ำยังปรากฏหลักฐานทางสื่อว่า ส่วนหนึ่งของ “พระ” ที่มาชุมนุมนั้นเป็นบุคคลที่แต่งกายเลียนแบบพระ เรื่องก็ยิ่งแย่หนักขึ้นไปอีก

เห็นได้ชัดว่า เรื่องจะไม่ยุติอย่างสงบเงียบเรียบร้อยอย่างแน่นอน

และถ้าเรื่องยังดำเนินต่อไปชนิดไม่มีใครยอมใครอยู่เช่นนี้ ความเสื่อมเสียที่จะเกิดขึ้นแก่วงการพระพุทธศาสนาในบ้านเราก็จะทวียิ่งขึ้นจนถึงเกิดเป็นความวิบัติขึ้นในบ้านเมือง

————–

ต่อไปนี้เป็นความเห็นและข้อเสนอของผม

๑ การเสนอนามท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ มีสิ่งบอกเหตุว่าจะไม่ปกติย้อนหลังไปตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ แต่มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลาล่วงเลยไปแล้วถึง ๒ ปีเศษ 

เหตุผลจะเป็นประการใดก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ต้องยืดออกไป ตามหลักนิยมที่ว่า เมื่อยังไม่ได้พระราชเพลิงพระองค์เก่า ก็ยังสถาปนาพระองค์ใหม่ไม่ได้

กรณีนี้มีหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือนอย่างสุภาพว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปอาจจะไม่ใช่องค์ที่คาดกันไว้ก็ได้

๒ เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เก่าแล้ว ปรากฏว่ามหาเถรสมาคมก็ประชุมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะฯ ทันที (ตามข่าวว่าประชุมวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๙) และกลายเป็นประเด็นทางข้อกฎหมายที่ถกเถียงกันว่า ข้อความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ว่า “…ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ …” นั้น ขั้นตอนการปฏิบัติคืออย่างไรกันแน่ 

คือให้เริ่มจากมหาเถรสมาคมเสนอนามไปถึงนายกรัฐมนตรี 

หรือว่าให้เริ่มจากนายกรัฐมนตรีเสนอนามมาขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (คือถ้านายกรัฐมนตรียังไม่เสนอนามมา มหาเถรสมาคมก็ยังไม่ต้องทำอะไร เป็นอย่างที่ว่า เขายังไม่ถาม ก็ไม่ต้องตอบ)

จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่ได้เห็นคำตอบว่า หลักปฏิบัติที่ถูกต้องคือใครเริ่มก่อน ได้ฟังแต่ความคิดเห็น ซึ่งก็ยังตัดสินไม่ได้อยู่นั่นเองว่าข้อยุติเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้พระเถระผู้ใหญ่ระดับรองสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง ท่านปรารภว่า ถ้ามหาเถรสมาคมยังไม่ประชุมเรื่องนี้เสียก่อนก็จะดีมาก คือรอให้รัฐบาลเป็นฝ่ายถามมาก่อนว่า บัดนี้การพระราชทานเพลิงพระศพฯ ก็ผ่านไปนานพอสมควรแล้ว เรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ยังไม่เห็นมหาเถรสมาคมคิดอ่านว่าอย่างไรกัน พระเดชพระคุณจะว่ากันอย่างไรก็ว่ามา รัฐบาลจะได้ดำเนินการต่อไป

ถ้ารอให้รัฐบาลทวงถามมาอย่างนี้ก่อน ภาพก็จะออกมาสง่างามยิ่งนัก

ถ้ารัฐบาลไม่ถาม ประเดี๋ยวประชาชนเขาก็จะทวงถามไปที่รัฐบาลเองจนได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะแกล้งลืม

การที่รีบเสนอนามขึ้นก่อน อุปมาเหมือนรู้ว่าทายกทายิกาเขากำลังเตรียมจัดงานบุญ ก็รีบไปถามเขาว่า เมื่อไรจะมานิมนต์อาตมา-ประมาณนั้น

๓ ดูตามทิศทางลมแล้ว งานนี้มีแต่ยุ่งกับยุ่ง 

ฝ่ายหนึ่งยึดอยู่ว่าเป็นสิทธิของฉันที่จะได้เป็น 

อีกฝ่ายหนึ่งยึดอยู่ว่าฉันจะไม่ยอมให้คุณได้เป็นเป็นอันขาด 

ถ้าต่างก็ยังยึดมั่นอยู่อย่างนี้ ไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ ก็ไม่มีทางที่จะสงบสง่างามทั้งนั้น

ผมขอเสนอว่า ถ้าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ท่านยอมหลีกทางให้ คือยอมสละสิทธิ์ที่จะได้รับการเสนอนามเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเสีย ทุกอย่างจะสงบ และจะสง่างามอย่างยิ่ง

กรุณาอ่านข้อเสนอของผมอีกครั้งหนึ่งก่อนนะครับ แล้วค่อยโกรธกัน

ผมมีเหตุผลดังนี้ (บางคำต้องขออนุญาตใช้ภาษาพูดบ้างนะครับ)

๑ ฝ่ายตรงข้าม (ถ้าจะเรียกอย่างนั้น) พยายามระดมสรรพกำลังทุกทางโดยพุ่งเป้าไปที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ แต่เพียงเป้าเดียว ด้วยจุดประสงค์ที่แน่วแน่ว่าจะไม่ยอมให้ได้เป็นสังฆราชเป็นอันขาด

ถ้าสมมุติว่าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ประกาศสละสิทธิ์วันนี้ ฝ่ายนั้นจะหาเป้าไม่เจอทันที อะไรที่พุ่งเข้าใส่ก็จะเจอแต่ความว่างเปล่า สถานการณ์ขัดแย้งจะยุติทันที การกระทำทั้งหลายที่เห็นกันว่าไม่ได้ให้เกียรติท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำก็จะหมดความหมายทันที

เรียกว่าเป็นการถอดสลักแก้ปัญหาด้วยปลายปากกาแกร็กเดียวจบ

๒ การประกาศสละสิทธิ์ นอกจากเป็นการ shock ฝ่ายตรงข้ามให้กลายเป็นฝ่ายเก้อเร่อร่า เงื้อง่าชกเงาแล้ว ยังจะมีผลเท่ากับเปิดไฟสว่างเมื่อหนังฉายจบ จะได้เห็นกันว่าใครนั่งตรงไหน ใครกำลังทำอะไรกับใคร 

พูดตรงๆ ก็คือจะได้รู้กันว่าใครที่รุมเล่นงานท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำอยู่ ณ เวลานี้ ถึงตอนนั้นยังจะเล่นงานต่อไปหรือไม่ คือเจตนาจะทำเพื่อความกระจ่างทางข้อกฎหมาย หรือที่แท้จริงทำเพียงเพื่อ discredit ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำเท่านั้นเอง 

เท่ากับกระชากหน้ากากฝ่ายตรงข้ามให้สังคมรู้ทั่วกัน

๓ ฝ่ายสนับสนุนจะต้องรู้สึกว่า ทำแบบนี้ก็อดเป็นสังฆราชนะซี ทำแบบนี้ก็ไม่ได้อะไรนะซี ทำแบบนี้ก็เข้าทางเขานะซี ฯลฯ 

พูดกันตรงๆ ทำแบบนี้ก็เหมือนกับ-เตะหมูเข้าปากหมา-นะซี

จะว่าเตะหมูเข้าปากหมาก็ใช่ แต่ใครโดดเข้ามางับหมูชิ้นนี้ก็จะต้องคิดหนัก นั่นเท่ากับเรายืมปากสังคมด่าฝ่ายนั้นว่าเป็น “หมา” แทนนั่นเอง 

ไม่น่าสะใจกว่ากันหรือ

๔ แต่ที่จะเป็นการสอนธรรมะได้อย่างลึกซึ้งก็คือ การสละสิทธิ์เช่นนี้เป็นการดำเนินตามปฏิปทาของพุทธาทิบัณฑิตผู้มองเห็นตำแหน่งฐานันดรทั้งหลายว่าเป็น เขฬปิณฺฑํ ว ชิวฺหคฺเค – ประหนึ่งว่าก้อนเขฬะที่ปลายลิ้น อันบุรุษผู้มีกำลังจะพึงถ่มทิ้งเสียได้โดยสะดวกดาย

ต่อจากนั้น เราก็จะได้นั่งดูกันว่าใครจะโดดเข้ามาเก็บเขฬะก้อนนี้กลืนกินเข้าไปอีก 

ไม่น่าสะใจกว่ากันดอกหรือ

๕ คงจะมีบางคนหรือหลายคน รวมทั้งฝ่ายตรงข้าม มองว่าการสละสิทธิ์คือความพ่ายแพ้ หรือเสียศักดิ์ศรี

ใครจะมองอย่างนั้นก็ให้เขามองไป แต่ความจริงก็คือ การสละสิทธิ์จะเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เพราะชนะใจตัวเอง 

เป็นชัยชนะที่สุดประเสริฐ เพราะไม่ทำให้ใครต้องพ่ายแพ้ 

เป็นชัยชนะที่บริสุทธิ์ เพราะไม่ได้ปล้นใครมา 

เป็นชัยชนะที่แม้ศัตรูก็ต้องน้อมคารวะ เพราะหาช่องที่จะตำหนิติเตียนต่อไปอีกไม่ได้เลย 

การสละสิทธิ์จะเป็นการรักษาศักดิ์ศรีที่กำลังถูกเหยียบย่ำอยู่ในเวลานี้ให้กลับคืนคงดำรงอยู่อย่างสง่างาม

จะพูดว่า-เหมือนราชสีห์ยอมให้หมูชนะ ในนิทานชาดก ก็ยังได้

๖ การประกาศสละสิทธิ์ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการที่ว่า-เหตุเกิดที่ไหน ต้องทำให้สงบที่นั่นก่อนแล้วจึงค่อยไป- ทั้งนี้เพราะแม้สละสิทธิ์แล้ว ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้หนีไปไหน ใครอยากจะมาเคลียร์กับท่าน หรือแม้ท่านอยากจะเคลียร์กับใคร ก็ยังทำได้ และยังทำได้เต็มที่ทุกประการ

อันที่จริง การสละสิทธิ์นั่นเองคือการทำให้เหตุที่เกิดขึ้นสงบลงได้อยู่แล้วในตัวมันเองโดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีกเลย

๖ การสละสิทธิ์ในกรณีแบบนี้ พระเถระในอดีตท่านได้เคยทำมาแล้ว นั่นคือเมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถระ วัดราชบพิธ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อพระราชเพลิงพระศพแล้ว ก่อนจะมีการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้อยู่ในขอบข่ายที่จะทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ) วัดสามพระยา ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ “อยู่ในขอบข่าย” ด้วยรูปหนึ่ง ได้ขอสละสิทธิ์ถอนตัวออกจากรายชื่อที่ทางราชการจะเสนอขึ้นไป (ดูรายละเอียดที่ภาพประกอบเรื่อง)

กล่าวได้ว่า ครั้งนั้นท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ท่านมีสายตาที่แหลมคม หยั่งรู้ทิศทางลมได้เป็นอันดี ท่านจึงไม่ทำตัวท่านให้เป็นที่กีดขวางทางลม กลับสร้างความสบายใจโล่งใจอย่างยิ่งให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง

ในที่สุด ครั้งนั้นสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ผลที่สืบตามมาในครั้งนั้น ผู้ที่อยู่วงในใกล้ชิดกล่าวกันว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเคารพนับถือท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นพิเศษ ในที่ประชุมมหาเถรสมาคมทรงเกรงใจท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นอย่างยิ่ง ยิ่งบุคลิกของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดสามพระยา ท่านเป็นคนพูดน้อยต่อยหนักอยู่ด้วย เมื่อท่านแสดงความเห็นในเรื่องใดๆ องค์ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมจะทรงอนุวัตรตามด้วยดีเสมอ

๗ ผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่หากท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ สละสิทธิ์ ก็คือ จะเป็นการสละหรือสลัดลัทธิธรรมกายให้หลุดออกไปจากตัวท่านได้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน

หมายความว่าอย่างไร

ก็หมายความว่า เป็นที่เห็นกันชัดแจ้งแล้วว่า ที่ธรรมกายหนุนให้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ได้เป็นพระสังฆราชนั้น ความประสงค์ที่แท้จริงก็คือจะได้อาศัยบารมีความเป็นสังฆราชเบิกทางไปสู่การขยายอิทธิพลและกอบโกยความมั่งคั่งได้หนักหน่วงยิ่งขึ้นนั่นเอง

ดังคำที่หลายๆ ฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าวัดปากน้ำได้เป็นสังฆราช ธรรมกายก็จะผงาดขึ้นเฟื่องฟุ้ง

ถ้าท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ สละสิทธิ์ ความหวังของธรรมกายก็หมดไปด้วย ถึงตอนนั้น (ถ้ามีตอนนั้น) ธรรมกายนั่นเองที่จะเป็นฝ่ายสลัดวัดปากน้ำเพราะไม่เห็นทางที่จะได้ประโยชน์อะไรอีกแล้ว

แต่ไม่ว่าธรรมกายจะตีจากหรือจะยังคงช่วยเหลือเกื้อกูลวัดปากน้ำอยู่ต่อไป ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ก็จะเป็นอิสระมากขึ้น ธรรมกายย่อมไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาขอให้ท่านอำนวยประโยชน์อะไรให้อีก และตัวท่านเจ้าพระคุณเองก็ย่อมจะไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องอำนวยประโยชน์อะไรให้ธรรมกาย นอกจากในฐานะศิษย์-อาจารย์ธรรมดาๆ ท่านยังจะเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายหรือไม่เกี่ยวข้องก็ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อสังฆมณฑล

นี่คือผลพลอยได้ที่มีความหมายมากที่สุด

๘ เหตุผลที่ฝ่ายสนับสนุนนิยมยกขึ้นมาอ้างตามหลักทั่วไปก็คือ การได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชจะได้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล หรือเป็นเกียรติยศแก่วัดปากน้ำสืบไป 

อันนี้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ถ้าทิศทางลมสะดวกก็สมควรจะให้ได้เป็น

แต่กรณีทิศทางลมผันผวนเช่นในยามนี้ ผมเห็นว่าการได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชนอกจากจะไม่ได้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล หรือเป็นเกียรติยศแก่วัดปากน้ำแล้ว ยังจะก่อความวุ่นวายยุ่งเหยิง เป็นทางเสื่อมศรัทธาของชาวโลกอย่างน่าสลดใจที่สุดอีกต่างหาก

คาดการณ์ได้และเห็นได้ชัดๆ ว่าได้ไม่คุ้มเสีย

๙ เมื่อคะนึงนึกโดยทางธรรม การได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็เป็นได้แค่ตาย ถ้าเอาอายุขัยเป็นเกณฑ์คิด ก็คงเหลือเวลาอีกนิดเดียว แต่ประวัติความเป็นมาเป็นไปของการได้เป็นจะคงอยู่ติดแผ่นดินไปนานเท่านาน 

ถ้ามีเสียงชื่นชม ก็ชื่นชมไปอีกนานเท่านาน

ถ้ามีเสียงก่นด่า ก็จะก่นด่าไปอีกนานเท่านานเช่นกัน

ควรจะเห็นยาวดีกว่าสั้น หรือควรจะเห็นสั้นดีกว่ายาว?

๑๐ การสละสิทธิ์จะเป็นประวัติติดอยู่กับประวัติศาสตร์ของชาติไทยไปตลอดกาล คนรุ่นหลังจะเล่าขานถึงเรื่องนี้อย่างชื่นชม เป็นตัวอย่างอ้างอิงที่จะมีผู้ถือเป็นหลักในการตัดสินใจเรื่องใดๆ ในอนาคตได้อย่างมั่นใจ 

นี่ต่างหากที่ควรเรียกว่า เกียรติยศแห่งวงศ์ตระกูล ที่แท้จริง

๑๑ ถ้ายังนึกเหตุผลอื่นไม่ออก จะคิดอย่างครึ้มๆ ก็ยังได้ คือ เป็นสังฆราชกับเป็นพระที่สังฆราชองค์ต่อไปต้องมากราบ ใครจะใหญ่กว่ากัน

อาจจะมีคนแย้งว่า คิดอย่างนี้มันก็คือ-องุ่นเปรี้ยว-นั่นแหละว้า!

คิดชั้นเดียวก็อาจจะเห็นเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าคิดหลายๆ ชั้นก็จะเห็นธรรม

หมาจิ้งจอกมันสอยองุ่นไม่ได้ มันจึงว่าองุ่นเปรี้ยว

แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ท่านสามารถสอยตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ แต่เพราะท่านมีคุณธรรม ท่านเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยท่านจึงไม่สอย ท่านจึงเปิดโอกาสให้คนที่อยากได้มาสอยเอาให้สมอยาก

อย่างนี้องุ่นเปรี้ยวรึ?

————–

อนึ่ง การสละสิทธิ์ที่ว่ามานี้ อาจทำได้เป็น ๒ กรณี คือ

๑ สละสิทธิ์เด็ดขาด คือประกาศไม่รับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเด็ดขาดไปเลย หรือ –

๒ สละสิทธิ์แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ไม่ประกาศถือสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวอย่างที่ผ่านมา หากแต่เปิดทางโล่งให้แก่ผู้มีอำนาจหน้าที่ จะเสนอใคร จะสถาปนาใคร เชิญตามสบาย 

กรณีที่ ๒ นี้ถ้าผู้มีอำนาจหน้าที่เสนอท่านผู้อื่น ก็เชิญตามสบาย ไม่ขัดข้อง ยินดีด้วยกับท่านผู้นั้น

หรือท่านผู้มีอำนาจหน้าที่จะคงเสนอท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ วัดปากน้ำ อยู่เหมือนเดิม ก็ไม่ขัดข้อง คราวนี้ทุกฝ่ายก็ควรจะมีน้ำใจนักเลง คือยินดีด้วยให้เสมอกัน

สรุปก็คือ การประกาศสละสิทธิ์เป็นการทำให้ผู้มีอำนาจหน้าที่มีอิสระเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่

และทุกฝ่ายจะได้ตั้งอยู่ในธรรมอย่างเป็นอิสระจากตัณหาทั้งปวง

ใครยังคิดจะกดดัน หรือแอบแฝงซ่อนเร้นวิ่งเต้นใต้โต๊ะหลังฉาก ก็จะได้รู้กันว่านั่นคืออธรรม

ผมบอกแล้วว่า การประกาศสละสิทธิ์คือหนทางแห่งชัยชนะของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

ถ้าเลือกตามกรณีที่ ๑ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ชนะน็อก

ถ้าเลือกตามกรณีที่ ๒ ชนะคะแนน

แต่ถ้าไม่เลือกทางไหนเลย คือสู้กันต่อไป ก็จะไม่มีใครชนะเลย จะมีแต่ผู้แพ้ 

แต่ที่แพ้ที่สุดก็คือพระศาสนา ความเสื่อมศรัทธาจะเพิ่มทวีขึ้น

เปิดทางให้ศาสนาอื่นที่วางแผนเปลี่ยนแผ่นดินพุทธให้เป็นแผ่นดินแห่งศาสนาของเขารุกคืบได้สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก

————–

แม่น้ำสายใหญ่ที่ขวางหน้าไม่ให้ข้ามไปสู่หนทางแห่งชัยชนะนี้ได้ก็คือ ตัณหา

โดยเฉพาะ-ภวตัณหา

ถ้าแหวกว่ายข้ามมหานทีธารนี้ไปไม่รอด ก็เตรียมเผชิญปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงต่อไป

นอกจากนี้ยังมีภูเขาหิมาลัยลูกมหึมาที่ขวางหน้าอยู่อีกลูกหนึ่ง นั่นคือลัทธินิกายนิยม คือความเป็นมหานิกาย ความเป็นธรรมยุต ที่คอยจ้องจะชิงไหวชิงพริบกันอยู่ตลอดเวลา

เมื่อไม่นานมานี้เคยเห็นใครคนหนึ่งทำสถิติว่า สังฆราชเป็นมหานิกายกี่องค์ เป็นธรรมยุตกี่องค์ มหานิกายเป็นรวมกันได้กี่ปี ธรรมยุตเป็นรวมกันได้กี่ปี

เหมือนกับจะมีเสียงคำรามออกมาว่า ธรรมยุตเป็นมาเยอะแล้ว ตอนนี้ถึงคิวมหานิกายบ้างแล้ว

ถ้ายังปีนป่ายข้ามภูเขาลูกนี้ไปไม่พ้น ก็เตรียมเผชิญปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงต่อไป

หรือถ้าคิดว่า ทางที่ผมเสนอมานี้ไม่ใช่หนทางแห่งชัยชนะ แต่มันเป็นหนทางแห่งความพ่ายแพ้ (ของกู) ชาวพุทธในเมืองไทยก็เตรียมใจดูการสัประยุทธ์อันวุ่นวายยุ่งเหยิงต่อไปเถิด

————–

ในท่ามกลางแห่งความมืดมัวมนเช่นยามนี้ เสียงคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อยู่ห่างไกลคงดังไม่พอที่จะกลบเสียงเชียร์ของคนรอบข้าง-โดยเฉพาะคนใกล้ชิดติดตัว-ที่คอยจ้องแต่จะไขว้คว้าหาผลประโยชน์ใส่ตัว

ขอเทพยดาที่รักษาพระศาสนาอันทรงทิพยเนตรทิพยโสต โปรดนำความข้อนี้ไปดลจิตดลใจผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้มีสัมมาทิฐิ ดำริการอันถูกต้องชอบธรรม นำสังคมประเทศชาติ พระศาสนา ไปสู่ความสะอาด สงบ สว่าง ยังสันติสุขให้เกิดขึ้นโดยพลันด้วย เทอญ.

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙

๑๐:๑๓

——–

[74] ตัณหา 3 (ความทะยานอยาก — Taṇhā: craving)

1. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม, ความอยากได้กามคุณ คือสิ่งสนองความต้องการ

ทางประสาททั้งห้า — Kāma-taṇhā: craving for sensual pleasures; sensual craving)

2. ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ, ความอยากในภาวะของตัวตนที่จะได้ จะเป็นอย่างใด

อย่างหนึ่ง อยากเป็น อยากคงอยู่ตลอดไป, ความใคร่อยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ

— Bhava-taṇhā: craving for existence)

3. วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ, ความอยากในความพรากพ้นไปแห่งตัวตนจาก

ความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ, ความใคร่อยากที่

ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ — Vibhava-taṇhā: craving for non-existence;

craving for self-annihilation)

A.III.445; Vbh.365. องฺ.ฉกฺก.22/377/494; อภิ.วิ.35/933/494.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *