บาลีวันละคำ

โลภ – วิสมโลภ (บาลีวันละคำ 2,960)

โลภวิสมโลภ

โลภที่ควบคุมไม่ได้ หรือโลภไม่เลือก

คำว่า “โลภ” (โลบ) เราคุ้นกันดี แต่ “วิสมโลภ” (วิ-สะ-มะ-โลบ) เราไม่คุ้น

(๑) “โลภ” บาลีอ่านว่า โล-พะ รากศัพท์มาจาก ลุภฺ (ธาตุ = อยากได้, ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ลุ-(ภฺ) เป็น โอ (ลุภฺ > โลภ)

: ลุภฺ + = ลุภฺณ > ลุภ > โลภ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความอยากได้” (2) “อาการเป็นเหตุให้อยากได้ หรืออาการที่อยากได้เสียเอง” (หมายความว่า บางที “โลภ” ก็เป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดความอยากได้ แต่บางทีก็ไม่ได้ไปกระตุ้นจิตดวงไหน หากแต่เป็นตัวอยากได้เสียเอง)

โลภ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความละโมบ, ความโลภ (covetousness, greed)

(๒) “วิสม” บาลีอ่านว่า วิ-สะ-มะ ประกอบขึ้นจากคำว่า วิ (ตัดมาจาก “วิคต” = ออกไป > ไม่มี) + สม

สม” (สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + (อะ) ปัจจัย

: สมฺ + = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน)

สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)

(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)

(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)

: วิ + สม = วิสม แปลตามศัพท์ว่า “มีความเสมอออกแล้ว” (คือไม่มีความเสมอ)

วิสม” ในบาลี ปกติใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) ไม่เรียบ, ไม่เสมอ, ไม่เข้ากัน, ตรงกันข้าม (uneven, unequal, disharmonious, contrary)

(2) ไม่ตรงกัน, ไม่มีกฎหมาย, ผิด (discrepant, lawless, wrong)

(3) แปลกประหลาด, พิกล, หยุมหยิม, ไม่ชื่นชม (odd, peculiar, petty, disagreeable)

วิสม” ถ้าใช้เป็นคำนาม หมายถึง –

(1) สถานที่ไม่สม่ำเสมอหรือมีอันตรายหรือไม่อาจไปถึง, ถนนขรุขระ (an uneven or dangerous or inaccessible place, rough road)

(2) ความไม่เสมอหรือเท่ากัน, ความเลว, ความประพฤติผิด, ความไม่เป็นที่ชื่นชม (unevenness, badness, misconduct, disagreeableness)

ในที่นี้ “วิสม” ใช้เป็นคุณศัพท์ ขยายคำว่า “โลภ

: วิสม + โลภ = วิสมโลภ แปลตามศัพท์ว่า “โลภะที่มีความเสมอออกแล้ว” หมายถึง โลภะที่ไม่มีความเสมอ

วิสมโลภ” ถ้าเขียนอย่างนี้ในภาษาไทย อ่านว่า วิ-สะ-มะ-โลบ เขียนแบบไทยเป็น “วิสมโลภะ” อ่านว่า วิ-สะ-มะ-โล-พะ

วิสมโลภะ” นี้เรียกเต็มๆ ว่า “อภิชฌาวิสมโลภะ” นักเรียนธรรมะมักแปลกันตามตำราว่า “ความโลภไม่สม่ำเสมอคือความเพ่งเล็ง” ซึ่งแปลแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่า โลภแบบไหนหรือโลภอย่างไร

ขยายความ:

เก็บความและขยายความตามนัยอรรถกถาได้ความว่า –

๑ อยากได้ของที่พึงได้ตามสิทธิอันชอบธรรมของตน เรียกว่า “โลภ” แบบนี้เป็นปกติของมนุษย์ปุถุชน

๒ อยากได้ของที่ไม่ใช่ของตนหรือตนไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ คืออยากได้ของของคนอื่น เรียกว่า “วิสมโลภ” แบบนี้ผิดปกติของสาธุชน เข้าขั้นเป็นพาลชน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [347] ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

อภิชฌาวิสมโลภะ : คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอา ไม่เลือกควรไม่ควร (greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โลภก็โลภเถิด

: แต่อย่าเตลิดไปถึงขั้นโลภไม่เลือก

#บาลีวันละคำ (2,960)

20-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *