บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กำแพง ๓ ชั้น

กำแพง ๓ ชั้น

กำแพงที่มีชื่อเสียงในโลกเห็นจะเป็นกำแพงเมืองจีน ใครที่เคยไปเห็นของจริงมาแล้วคงจะเป็นพยานยืนยันได้

แต่-ท่านเชื่อหรือไม่ว่า เมืองไทยเราก็มีกำแพงโบราณมหัศจรรย์ยิ่งกว่ากำแพงเมืองจีน

กำแพงของเราวิเศษกว่าด้วย คือมีถึง ๓ ชั้น

ไม่ต้องไปถึงเมืองจีนหรอกครับ
ตามผมมา เดี๋ยวจะพาไปดู

ที่ริมเขื่อนบริเวณตลาดราชบุรี ตั้งแต่หน้าศาลากลางจังหวัดเก่าที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานอยู่เดี๋ยวนี้-เรื่อยไปจนถึงสะพานรถไฟ เทศบาล (หรือหน่วยงานไหนก็ไม่ทราบ) สร้างเขื่อนสองชั้น ชั้นบนเสมอพื้น เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติรวมทั้งเป็นที่จอดรถ ชั้นล่างเป็นที่เดินเลียบริมน้ำไปตลอดความยาว

ชั้นล่างที่เป็นที่เดินเลียบริมน้ำไปตลอดความยาวนี้วิเศษมาก เช้าๆ เย็นๆ ใช้เป็นที่เดินออกกำลังได้เป็นอย่างดี

แต่ว่าทางเดินชั้นล่างนี้ไม่ได้สร้างทีเดียวตลอดความยาว แต่สร้างเป็นช่วงๆ หัว-ท้ายของแต่ละช่วงมีราวกั้น

ราวกั้นหัว-ท้ายนี่แหละครับต่อมาได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ริมเขื่อน

นั่นก็คือ เมื่อมีการสร้างทางเดินช่วงใหม่ต่อจากช่วงเดิมที่มีอยู่แล้ว คนออกแบบก็ออกแบบให้มีราวกั้นหัว-ท้ายอีกเหมือนเดิม

ทางเดินริมเขื่อนชั้นล่างจึงมีราวกั้นขวางทางเดินเป็นระยะๆ รวม ๓ แห่ง

๒ แห่งมีช่องให้พอเบี่ยงตัวเดินผ่านไปได้

๑ แห่ง ราวกั้นปิดทางเดิน เดินต่อไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทางเดินต่อไปก็สร้างเสร็จแล้วอยู่ข้างหน้านั่นเอง ถ้าจะเดินต่อไปก็ต้องปีนราวกั้น

มีแห่งหนึ่งที่สุดแสนจะมหัศจรรย์ คือราวกั้นทางเดินเดิมกับราวกั้นที่สร้างต่อไปใหม่อยู่แนบชิดตัดกัน ๒ ราว

นับเป็นการออกแบบก่อสร้างที่สุดยอดแห่งสิ่งมหัศจรรย์

โปรดดูภาพประกอบและอ่านคำบรรยายด้วยนะครับ

ไม่เคยมีคำอธิบายว่า ที่ยังคงให้มีราวกั้นเป็นระยะไว้นั้นเพื่อประโยชน์อะไร และถ้ารื้อราวกั้นออกเพื่อให้คนเดินได้สะดวกตลอดความยาวริมเขื่อน จะเกิดผลเสียอะไร

ผมเคยเสนอผ่านเฟซบุ๊กนี้หลายปีมาแล้ว ขอให้เทศบาลเมืองราชบุรีหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกรุณารื้อราวกั้นออกเสียเถิด

แต่คำเสนอนั้นเงียบหายไปกับสายลม

ตรงนี้แหละครับที่ผมมองเห็น “กำแพง ๓ ชั้น” ที่จะขออนุญาตนำชม

……………..
กำแพงชั้น ๑
คือความคิดที่ว่า “ไม่ใช่หน้าที่” หรือ “ธุระไม่ใช่”

ข้อเสนอของผมนั้นมีคนอ่าน คนที่ทำงานอยู่ที่เทศบาลเมืองราชบุรีหรือที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี หรือเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้อ่าน ได้รู้ว่ามีปัญหาอย่างนี้ และมีคนเสนออย่างนี้

แต่ท่านเหล่านั้นก็ทำแค่อ่าน แค่รับรู้เหมือนคนอ่านโพสต์ทั่วไป ไม่ได้นำเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา คือไม่ได้นำเสนอผู้มีอำนาจในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาสั่งการ ด้วยเหตุผลที่ใครๆ ที่อยู่ใน “ระบบ” ก็ต้องอ้างทำนองเดียวกัน และเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น คือ “ไม่ใช่หน้าที่”

นี่เป็นกำแพงโบราณกำแพงหนึ่งที่กั้นคนไว้ไม่ให้ทำอะไรที่ควรทำ

……………..
กำแพงชั้น ๒
คือระบบราชการที่ถือว่า ใครจะเสนอความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใดๆ จะต้องทำเป็นแผ่นกระดาษ มีคนเอาไปยื่น ณ หน่วยงานนั้นๆ เจ้าหน้าที่ประทับตรารับไว้ นั่นแหละจึงจะยอมรับว่าได้รับคำเสนอนั้นๆ แล้ว

เวลานี้ดูเหมือนจะยอมให้ใช้วิธีแจ้งไปทางโทรศัพท์ได้ด้วย-อันนี้ยังไม่แน่ใจว่าได้หรือไม่

วิธีที่ผมเขียนคำเสนอทางเฟซบุ๊กให้สาธารณชนได้อ่านกันนั้น จึงไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นการยื่นคำเสนอ-แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องจะได้อ่านจะได้รู้เห็นแล้วก็ตามทีเถอะ

เราอยู่ในโลกยุคดิจิตอลกันแล้ว แต่ระบบราชการ-เหมือนยังอยู่ในยุคหิน

ผมเคยเขียนเสนอให้คณะสงฆ์ทำเรื่องนั้นเรื่องโน้นหลายเรื่องหลายครั้ง ทราบว่ากรรมการมหาเถรสมาคมบางรูปท่านก็ได้อ่าน เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ก็ได้อ่าน

แต่ก็ไปติดที่กำแพงชั้นนี้

ถ้าจะเสนอ ต้องทำเป็นแผ่นกระดาษ เอาไปใส่แฟ้ม เอาไปใส่มือ นั่นแหละจึงจะถือว่าได้รับข้อเสนอแล้ว

เราอยู่ในโลกยุคดิจิตอลกันแล้ว แต่ระบบงานของคณะสงฆ์-เหมือนยังอยู่ในยุคหิน

เรื่องมันควรจะเป็นว่า ข้อเสนอแนะไม่ว่าจะนำเสนอด้วยวิธีการใดๆ-โดยเฉพาะวิธีนำเสนอต่อสาธารณชน-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัญหานั้นๆ มีหน้าที่ออกไปลาดตระเวนตามหาตามเก็บข้อเสนอแนะนั้นๆ จากทุกแหล่ง โดยเฉพาะแหล่งที่สังคมสาธารณะเขารับรู้รับเห็นกันอยู่ตามปกติทั่วไป โดยให้ถือว่า-นั่นคือการนำส่งข้อเสนอนั้นเรียบร้อยแล้ว

แล้วนำข้อเสนอที่ประมวลได้มาเข้าสู่กระบวนการแยก-คัดกรองส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป

เลิกอ้างกันเสียทีว่า-ยังไม่ได้รับเรื่อง ยังไม่เห็นเรื่อง

สังคมเขาเห็นกันกระหึ่มไปแล้ว
ยังหลับตาพูดอยู่นั่นแล้วว่า-ยังไม่เห็นเรื่อง

คนในหน่วยงานที่เรียกกันว่า “ประชาสัมพันธ์” นั่นแหละครับตัวรันงานที่ดีที่สุด จะเป็นระดับกรม ระดับกอง ระดับแผนก หรือระดับใดๆ ก็ตาม ควรเปิดวิสัยทัศน์ให้กว้างไกล

ไม่ใช่เอาแต่นั่งรอข่าวอยู่ในบ้าน
แต่ต้องวิ่งออกไปเก็บข่าวเก็บข้อมูลนอกบ้านด้วย

คนในหน่วยนี้ ถ้าพัฒนาระบบการทำงานตามแนวที่ผมว่านี้ จะเป็นพระเอกของหน่วยงาน เพราะเป็นคน “นับหนึ่ง” ก่อนใคร เป็นคนสตาร์ทรถ เป็นคนจุดระเบิด

……………..
กำแพงชั้น ๓
นั่นคือ เมื่อมีข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับงานใดๆ ก็ตาม ผู้รับผิดชอบในงานนั้นๆ จะถามก่อนว่า “ใครเสนอ” โดยแทบจะไม่สนใจว่า “เสนออะไร”

อย่างกรณีราวกั้นทางเดินริมเขื่อนชั้นล่างตามที่เล่ามา ถ้าคนเสนอแนะไม่ใช่ทองย้อย หากแต่เป็นบิ๊กอะไรสักบิ๊ก ป่านนี้รื้อถอนโปร่งโล่งเดินสะดวกกันมานานแล้ว

อย่างกรณีเสนอให้คณะสงฆ์จัดตั้งกองวิชาการคณะสงฆ์ หรือกองวิชาการพระพุทธศาสนา ถ้าคนเสนอแนะไม่ใช่ทองย้อย หากแต่เป็นบิ๊กอะไรสักบิ๊ก ป่านนี้ท่านก็ตั้งเสร็จและทำงานแก้ปัญหาคาใจของชาวบ้านได้เป็นไหนๆ แล้ว

นี่คือกำแพงชั้นที่เก่าแก่ที่สุดและหนาทึบที่สุดที่มีอยู่ในเมืองไทย

……………..

และทั้งหมดนี้คือ “กำแพง ๓ ชั้น” ที่มีอยู่ในเมืองไทย

เมื่อใดเราสามารถทะลายกำแพงทั้ง ๓ ชั้นนี้ลงได้
เมื่อนั้นสังคมไทยจะโลดแล่นนำหน้าในสังคมโลก

อยากจะบอกละสิว่า-ไม่ใช่หน้าที่ฉัน!!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓
๑๕:๒๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *