สมเด็จพระราชินีวิธวา (บาลีวันละคำ 2,961)
สมเด็จพระราชินีวิธวา (queen dowager)
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี หัวข้อ “สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง” (อ่านเมื่อ 21 กรกฎาคม 2563 เวลา 20:30 น.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
…………………………………..
… สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 นั้นไม่มีพระราชโอรสสืบราชสมบัติจึงมิได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง แต่เป็นสมเด็จพระราชินีวิธวา (queen dowager)
…………………………………..
มีผู้สงสัยว่า คำว่า “วิธวา” เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร
ในข้อความมนั้นมีภาษาอังกฤษในวงเล็บว่า queen dowager
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล dowager เป็นไทยว่า ผู้หญิงมียศซึ่งสามีถึงแก่กรรมไปแล้วและมีบุตรรับยศแทนบิดาอยู่, เจ้าจอมมารดา, พระพันปี
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล dowager เป็นบาลีว่า:
(laddhadāyādā) vidhavā (ลทฺธทายาทา) วิธวา
คำบาลีอ่านว่า ลัด-ทะ-ทา-ยา-ทา วิ-ทะ-วา
เฉพาะคำว่า “ลทฺธทายาทา” แปลว่า “ผู้มีทายาทอันตนได้แล้ว” หมายถึงมีบุตรสืบสกุล
เป็นอันว่า dowager คำบาลีว่า “วิธวา” ที่วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีบอกว่า “สมเด็จพระราชินีวิธวา (queen dowager)” ก็เป็นอันตรงกัน
ความจริง ดูที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็จะรู้ความหมายตรงๆ พอดีว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “วิธวา” (วิ-ทะ-วา) บอกไว้ว่า –
“วิธวา : (คำนาม) หญิงม่าย. (ป., ส.).”
ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำยิง “กระสุนวิถีโค้ง” ไปที่พจนานุกรม สอ เสถบุตร แล้วโค้งไปที่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ก็เพื่อบอกว่า หากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่มีคำนี้ เราจะหาวิธีคลำทางไปได้อย่างไร
“วิธวา” อ่านว่า วิ-ทะ-วา รากศัพท์มาจาก วิ (ตัดมาจาก “วิคต” = ออกไปแล้ว, ไม่มี) + ธว + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
“ธว” (ทะ-วะ) รากศัพท์มาจาก ธู (ธาตุ = กำจัด, ทำลาย) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ธู > โธ > ธว)
: ธู + อ = ธู > โธ > ธว แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กำจัดความหวาดกลัวของภริยา” (คือผู้ทำให้เกิดความอุ่นใจ) หมายถึง สามี (a husband)
: วิ + ธว = วิธว + อา = วิธวา แปลตามศัพท์ว่า “หญิงผู้มีสามีไปปราศแล้ว” หมายถึง หญิงม่าย (a widow)
เป็นอันได้คำตอบว่า “วิธวา” เป็นภาษาบาลี หมายถึง หญิงม่าย
เรียนบาลีวันละคำ แถมพระธรรมจากคัมภีร์ :
ในพระไตรปิฎกมีหลักธรรมชุดหนึ่งพาดพิงถึง “วิธวา” คือกล่าวถึงความประพฤติของภิกษุที่น่ารังเกียจสงสัยว่าจะเป็น “ปาปภิกฺขุ” (ภิกษุเลว) แม้ว่าท่านผู้นั้นจะมีอกุปธรรม คือบรรลุโลกุตรธรรมหรือเป็นอริยบุคคลแล้วก็ตาม
เชิญสดับทั้งคำบาลีและคำแปล ดังนี้ –
…………………………………..
ปญฺจหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อุสฺสงฺกิตปริสงฺกิโต โหติ ปาปภิกฺขูติ อปิ อกุปฺปธมฺโม กตเมหิ ปญฺจหิ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เวสิยโคจโร วา โหติ วิธวาโคจโร วา โหติ ถุลฺลกุมารีโคจโร วา โหติ ปณฺฑกโคจโร วา โหติ ภิกฺขุนีโคจโร วา โหติ อิเมหิ โข ภิกฺขเว ปญฺจหิ ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อุสฺสงฺกิตปริสงฺกิโต โหติ ปาปภิกฺขูติ อปิ อกุปฺปธมฺโมติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการย่อมเป็นที่รังเกียจสงสัยว่าเป็นปาปภิกษุ แม้จะเป็นผู้มีอกุปธรรม
ธรรม 5 ประการเป็นไฉน?
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1) ย่อมเป็นผู้คบหาหญิงแพศยา (2) ย่อมเป็นผู้คบหาหญิงหม้าย (3) ย่อมเป็นผู้คบหาสาวเทื้อ (4) ย่อมเป็นผู้คบหาบัณเฑาะก์ (5) ย่อมเป็นผู้คบหาภิกษุณี
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 5 ประการนี้แลย่อมเป็นที่รังเกียจสงสัยว่าเป็นปาปภิกษุ แม้จะเป็นผู้มีอกุปธรรม
ที่มา: อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 102
…………………………………..
…………..
ดูก่อนภราดา!
ว่ากันว่าเรื่องบางเรื่อง “คนไม่เห็น ผีสางเทวดาก็เห็น” ก็จริงอยู่ แต่ –
: ผีสางเทวดาเป็นพยานให้คนไม่ได้
: ทำอะไรอย่าให้คนสงสัยเป็นดีที่สุด
#บาลีวันละคำ (2,961)
21-7-63