บาลีวันละคำ

องค์ปาฐก (บาลีวันละคำ 892)

องค์ปาฐก

(บาลีไทย)

อ่านว่า อง-ปา-ถก

ประกอบด้วย องค์ + ปาฐก

องค์” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่เดินได้” หมายถึง ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of the body, a limb, member; part, a constituent part of a whole or system or collection)

ในที่นี้ “องฺคองค์” หมายถึง ตัว, ตัวบุคคล, เป็นคำราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกเจ้านาย เช่น หม่อมเจ้าองค์นี้ไม่ทรงถือองค์ และเป็นลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณรอย่างเป็นภาษาปาก เช่น พระภิกษุ 2 องค์ สามเณร 1 องค์ (ภาษาที่ถูกต้องเรียกภิกษุสามเณรว่า “รูป”)

ปาฐก” (บาลีอ่านว่า ปา-ถะ-กะ) มาจาก ปาฐ + ปัจจัย (แปลงรูปมาจาก ณฺวุ ปัจจัย)

ปาฐ” แปลว่า การอ่าน, การสวด, บทสวด, ข้อความในตัวบท, ถ้อยคำในคัมภีร์ (reading, text-reading; passage of a text, text)

ปาฐ + = ปาฐก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว” หมายถึง ผู้สวด; ผู้รู้, ผู้ชำนาญ (ในเรื่องที่ตนกล่าว) (reciter; one who knows, expert)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล reciter เป็นบาลีว่า –

(1) pāṭhaka ปาฐก (ปา-ถะ-กะ) = ผู้กล่าว

(2) bhāṇaka ภาณก (พา-นะ-กะ) = ผู้สวด

องค์ปาฐก” เป็นการเอาคำว่า “องค์” กับ “ปาฐก” มาประสมกันแบบไทย หมายถึง ตัวบุคคลผู้กล่าวแสดงเรื่องราวอันใดอันหนึ่ง หรือ “ผู้แสดงปาฐกถา” (ปาฐกถา : ถ้อยคําหรือเรื่องราวที่บรรยายในที่ชุมนุมชนเป็นต้น)

คำว่า “องค์ปาฐก” เป็นคำเรียกผู้แสดงปาฐกถาที่เป็นเจ้านายหรือเป็นพระภิกษุเท่านั้น ไม่ใช้เรียกผู้แสดงปาฐกถาที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป

ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะในยุคเริ่มแรกที่นำเอาวิธีแสดงปาฐกถามาเผยแพร่ ผู้แสดงมักเป็นเจ้านายซึ่งได้ไปเรียนรู้วิชาการต่างๆ มาจากต่างประเทศ ผู้เรียกจึงถวายพระเกียรติด้วยคำว่า “องค์ปาฐก” แต่เมื่อเรียกกันติดปากนานเข้า ระยะต่อมาแม้ผู้แสดงปาฐกถาจะไม่ใช่เจ้านายก็ยังมีผู้เผลอเรียกเป็น “องค์ปาฐก” เข้าไปด้วย

หากจะเรียกผู้แสดงปาฐกถาที่เป็นบุคคลธรรมดา ใช้คำว่า “ปาฐก” เท่านั้น เช่น “ในการแสดงปาฐกถาครั้งนี้ผู้เป็นปาฐกคือ ..” (ไม่ใช่ “ผู้เป็นองค์ปาฐกคือ…”)

ระยะต้นๆ ที่มีผู้ใช้คำนี้เพลินไป มักมีเสียงทักท้วงกันมาก แสดงว่าคนทั่วไปเข้าใจความแตกต่างได้ดี แต่ตอนนี้เริ่มมีผู้พยายามอธิบายว่า คำว่า “องค์ปาฐก” ใช้เรียกผู้แสดงปาฐกถาที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ได้เหมือนกัน

คาดว่าถ้ายังพูดกันเพลินไปเรื่อยๆ ในไม่ช้าคำว่า “องค์ปาฐก” จะกลายเป็นคำที่ผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

: สังคมวิปริต ถ้ายอมให้ผิดกลายเป็นถูก

#บาลีวันละคำ (892)

27-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *