บาลีวันละคำ

ชนมพรรษา (บาลีวันละคำ 2,968)

ชนมพรรษา

เขียนให้ถูก อ่านให้ถูก

อ่านว่า ชน-มะ-พัน-สา

ประกอบด้วยคำว่า ชนม + พรรษา

(๑) “ชนม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ชนม-” (อ่านว่า ชน-มะ-) และ “ชนม์” (อ่านว่า ชน) บอกไว้ว่า –

ชนม-, ชนม์ : (คำนาม) การเกิด. (ส. ชนฺมนฺ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชนม” มาจาก “ชนฺมนฺ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ชนฺมนฺ” บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ชนฺมนฺ : (คำนาม) ‘ชันมัน, บางทีก็เปน – ชนมาน;’ ดูที่ ชนฺม; which see.”

ตามไปดูที่ “ชนฺม” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ชนฺม : (คำนาม) ‘ชนม์,’ สมภพ, กำเนิด, อุตบัติ (ออกจาก-อุตฺปตฺติ); birth.”

บาลีไม่มีรูปคำ “ชนฺม” มีแต่ “ชนน” (ชะ-นะ-นะ) แปลว่า การเกิด; ผลิต, ทำให้เกิด (birth; producing, causing)

เป็นอันว่า “ชนม” เป็นคำสันสกฤต

(๒) “พรรษา

บาลีเป็น “วสฺส” รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + (อะ) ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (2)

บาลี “วสฺส” สันสกฤตเป็น “วรฺษ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรษา” อ่านว่า พัน-สา

วสฺส -วรฺษ” ไทยเราน่าจะใช้เป็น “พรรษ” (พัด) แต่ที่เป็น “พรรษา” อาจเป็นเพราะ –

1 ในบาลีมักใช้ในรูปพหูพจน์ คือเป็น “วสฺสา” (สัน.วรฺษา) เราจึงใช้ตามที่คุ้นเป็น “พรรษา

2 คำที่หมายถึงฤดูฝนมีอีกคำหนึ่ง คือ “วสฺสาน” (วัด-สา-นะ) คำนี้อาจกร่อนเป็น “วสฺสา-” เราก็เลยใช้เป็น “พรรษา

ความจริง ที่ใช้เป็น “พรรษ” ก็มี แต่มักเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรรษา : ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษา จําพรรษา; ปี เช่น บวช ๓ พรรษา, (ราชาศัพท์) มีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา. (ส. วรฺษ; ป. วสฺส, วสฺสาน).”

ชนม + พรรษา = ชนมพรรษา ตามรูปศัพท์แปลว่า “ปีที่เกิดมา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชนมพรรษา : (ราชาศัพท์) อายุที่นับเต็มปี, ใช้ว่า พระชนมพรรษา. (ส. ชนฺมวรฺษ ว่า ขวบปีที่เกิดมา).”

อภิปราย :

คำว่า “ชนมพรรษา” ที่เราคุ้นกันดีคือคำว่า “เฉลิมพระชนมพรรษา

“เฉลิมพระชนมพรรษา” คนมักพูดหรืออ่านว่า ฉะ-เหฺลิม-พฺระ-ชน-พัน-สา คือ “ชนมพรรษา” อ่านว่า ชน-พัน-สา ซึ่งเป็นการพูดผิดอ่านผิด

ชนมพรรษา” อ่านว่า ชน-มะ-พัน-สา ไม่ใช่ ชน-พัน-สา

“เฉลิมพระชนมพรรษา” อ่านว่า ฉะ-เหฺลิม-พฺระ-ชน-มะ-พัน-สา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เฉลิมพระชนมพรรษา : (คำนาม) เรียกวันบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี ว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษา.”

…………..

วันที่ 28 กรกฎาคม

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

…………..

เย็นพระทัยใสสะอาดสงบสว่าง

ใครระคางคืนคิดสนิทเสน่หา

สะพรั่งพร้อมพระราชวงศ์ทรงสุธา

นำประชาชัชวาลนานนิรันดร์ – เทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ผู้เขียนบาลีวันละคำ

#บาลีวันละคำ (2,968)

28-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *