บาลีวันละคำ

ค้อน – บาลีว่าอย่างไร (บาลีวันละคำ 2,967)

ค้อนบาลีว่าอย่างไร

มีผู้สนใจภาษาบาลีถามว่า ระยะนี้ได้ยินคนพูดถึง “ค้อน” กันมาก จึงอยากทราบว่า คำว่า “ค้อน” ที่พูดถึงกันนั้นภาษาบาลีว่าอย่างไร

อันดับแรก ควรหาความรู้ในภาษาไทยกันก่อน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ค้อน” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ค้อน ๑ : (คำนาม) ชื่อเครื่องมือที่มีหัวและด้าม สำหรับเคาะ ตอก ตี ทุบ, ลักษณนามว่า เต้า หรือ อัน; เครื่องมือชนิดหนึ่งใช้ในการจับปลา.

(2) ค้อน ๒ : (คำกริยา) แสดงความไม่พอใจด้วยการตวัดสายตา.

ค้อน” ที่ถามนี้หมายถึง “ค้อน” ในข้อ (1) คือชื่อเครื่องมือชนิดหนึ่ง

โปรดสังเกตด้วยว่า “ค้อน” คำนี้ใช้ ควาย ไม่ใช่ “ฆ้อน ระฆัง อย่างที่มักมีผู้เขียนผิด

คำถามที่ว่า ภาษาไทยว่าอย่างนี้ ภาษาบาลีว่าอย่างไร ถ้าเป็นคำนามพื้นๆ นักเรียนบาลีย่อมจะตอบได้ไม่ยาก เช่น –

ผู้ชาย = ปุริส

ผู้หญิง = อิตฺถี

เด็กชาย = ทารก

เด็กหญิง = ทาริกา เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นคำศัพท์แปลกๆ ที่ไม่คุ้นหูคุ้นตา อาจจะนึกไม่ออก เช่นคำว่า “ค้อน” ในคำถามนี้ก็นับว่าเป็นศัพท์แปลกตาคำหนึ่ง

เนื่องจากวงการบาลีในเมืองไทยยังไม่มีพจนานุกรมไทย-บาลี สำหรับจะใช้ค้นคว้าได้สะดวก วิธีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่ก็คือ –

1 อาศัยพจนานุกรมไทย-อังกฤษ แปลคำนั้นๆ เป็นอังกฤษก่อน

2 แล้วค้นดูในพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ซึ่งมีผู้ทำขึ้นสำเร็จแล้วและใช้ค้นคว้าได้ดีพอสมควร (ข้อนี้ควรเป็นแรงบันดาลใจให้ไทยเราซึ่งเรียนบาลีมานานนักหนามีอุตสาหะทำพจนานุกรมไทย-บาลี ขึ้นมาบ้าง)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “ค้อน” ที่เป็นคำนามเป็นอังกฤษว่า a hammer

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล hammer เป็นบาลีดังนี้:

(1) ayomuṭṭhi อโยมุฏฺฐิ (อะ-โย-มุด-ถิ) = กำปั้นเหล็ก

(2) ayokūṭa อโยกูฏ (อะ-โย-กู-ตะ) = ค้อนเหล็ก

อโย” แปลว่า เหล็ก

มุฏฺฐิ” แปลว่า กำมือ

กูฏ” แปลว่า “ค้อน” ตรงตัว

เพื่อความแน่ใจ ก็ดูพจนานุกรมบาลี-อังกฤษด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กูฏ” ว่า a hammer

เป็นอันได้คำตอบว่า “ค้อน” บาลีว่า “กูฏ

กูฏ” ( – ฏ ปฏัก) บาลีอ่านว่า กู-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุฏฺ (ธาตุ = ตัด; เบียดเบียน; ร้อน; ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ กุ-(ฏฺ) เป็น อู (กุฏฺ > กูฏฺ)

: กุฏฺ + = กุฏ > กูฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาตัดแต่ง” (2) “ก้อนเหล็กเป็นเครื่องเบียดเบียน” (3) “ส่วนที่ร้อน” (4) “ส่วนที่ยื่นขึ้นไป

(2) กุ (น่ารังกียจ) + อฏฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ กุ เป็น อู (กุ > กู)

: กุ + อฏฺ = กุฏ > กูฏ แปลตามศัพท์ว่า “กิจที่เป็นไปโดยอาการที่น่ารังเกียจ

กูฏ” (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สิ่งที่เด่น, ยอด (prominence, top)

(2) ส่วนยอดของบ้าน, หลังคา, ยอดแหลมของอาคาร (the top of a house, roof, pinnacle)

(3) จุดสูงสุด (the topmost point)

(4) กอง, สิ่งที่รวม ๆ กันขึ้นมา (a heap, an accumulation)

(5) ค้อน (a hammer)

(6) แร้ว, หลุมพรางหรือกับดัก (a trap, a snare)

(7) ความเท็จ, ความหลอกลวง (falsehood, deceit)

(8) เท็จ, โกง, หลอกลวง (false, deceitful, cheating)

จะเห็นได้ว่า “กูฏ” ในบาลีไม่ได้หมายถึง “ค้อน” อย่างเดียว แต่ยังใช้ในความหมายอื่นๆ อีกด้วย

ความหมายเด่นที่สุดของ “กูฏ” ในบาลีคือ –

(1) ยอด (prominence, top) เช่น “กูฏาคาร” (กู-ตา-คา-ระ) = เรือนยอดหรืออาคารมีหลังคาแหลมหรือยอดสูง, อาจเป็นหน้าจั่ว; หรือมีชั้นบนสูงอีกชั้นหนึ่ง (a building with a peaked roof or pinnacles, possibly gabled; or with an upper storey)

(2) คดโกง (false, deceitful, cheating) เช่น “กูฏฏฺฏ” (กู-ตัด-ตะ) = คดีโกง, การฟ้องที่เป็นเท็จ (a false suit)

(3) ค้อน (a hammer)

อภิปราย :

ที่ว่า-ระยะนี้ได้ยินคนพูดถึง “ค้อน” กันมากนั้น ก็คือพูดกันว่า “กระดาษห่อค้อน” หรือค้อนแพ้กระดาษ อันมีที่มาจากการเล่นทายชนิดหนึ่งของเด็ก กล่าวคือถามว่า ค้อน กระดาษ กรรไกร อะไรใหญ่กว่ากัน หมายถึงอะไรปราบอะไรได้

คำเฉลยคือคำอธิบายมีว่า –

กระดาษห่อค้อน (ค้อนแพ้กระดาษ)

ค้อนทุบกรรไกร (กรรไกรแพ้ค้อน)

กรรไกรตัดกระดาษ (กระดาษแพ้กรรไกร)

แล้วก็วนไปที่-กระดาษห่อค้อน

จะเห็นได้ว่าการเล่นทายข้อนี้เป็นปริศนาธรรมอยู่ในตัว คือสอนให้รู้ว่า ไม่มีอะไรหรือใครที่จะชนะไปเสียทุกเรื่อง ทุกอย่าง-ทุกคนมีจุดอ่อนอยู่ในตัวเอง คือชนะสิ่งหนึ่งก็อาจไปแพ้อีกสิ่งหนึ่ง ผู้ชนะจึงไม่ควรทะนงตัว

แต่คำที่พูดกันมากระยะนี้ก็เป็นปริศนาหรือ “สำนวน” อยู่ในที กล่าวคือ

ค้อน” เป็นสัญลักษณ์แทนกระบวนการยุติธรรม

กระดาษ” เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน

“ค้อนแพ้กระดาษ” หมายความว่า เงินอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม คือเงินอาจทำให้กระบวนการยุติธรรมวิปริตไปได้

แล้วก็ชอบกลมาก “กูฏ” นอกจากหมายถึง “ค้อน” แล้ว ยังหมายถึง “คดโกง” อีกด้วย!!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เงินอาจอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม

: แต่ “กรรม” อยู่เหนือเงิน-และเหนือทุกสิ่ง

#บาลีวันละคำ (2,967)

27-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *