เชตวัน (บาลีวันละคำ 1,785)
เชตวัน
ผันมาเป็น “เชตุพน”
อ่านว่า เช-ตะ-วัน ก็ได้
อ่านว่า เชด-ตะ-วัน ก็ได้
แยกศัพท์เป็น เชต + วัน
(๑) “เชต”
บาลีอ่านว่า เช-ตะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ (ชิ > เช)
: ชิ + ต = ชิต > เชต แปลตามศัพท์ว่า “ชนะแล้ว” หมายถึง พิชิต, มีชัย (conquering, victorious)
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
เชต + วน = เชตวน (เช-ตะ-วะ-นะ) แปลว่า “สวนของเจ้าเชต”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เล่าเรื่อง “เชตวัน” ไว้ดังนี้ –
“เชตวัน : ‘สวนเจ้าเชต’ ชื่อวัดสำคัญซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้า อุทิศสงฆ์จากจาตุรทิศ ที่เมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล (คงจะสร้างในพรรษาที่ ๓ แห่งพุทธกิจ) โดยซื้อที่ดินอุทยานของเจ้าเชต (เชตราชกุมาร) ด้วยวิธีเอาเกวียนขนเงินเหรียญมาปูให้เต็มพื้นที่ (เรื่องมาใน วินย.๗/๒๕๖/๑๐๙) ตามเรื่องว่า เมื่อหมู่เกวียนขนเงินมาเที่ยวแรก เงินเหรียญปูยังไม่เต็มพื้นที่ ขาดอยู่ตรงที่ใกล้ซุ้มประตูหน่อยเดียว ขณะที่อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งคนให้ไปขนเงินมาอีก เจ้าเชตเกิดความซาบซึ้งในศรัทธาของท่านอนาถบิณฑิก จึงขอมีส่วนร่วมในการสร้างวัดด้วย โดยขอให้ที่ตรงนั้นเป็นส่วนที่ตนถวาย ซึ่งอนาถ-บิณฑิกคหบดีก็ยินยอม เจ้าเชตจึงสร้างซุ้มประตูวัดขึ้นตรงที่นั้น, เชตวัน อนาถบิณฑิการามนี้ เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา คือ (อาจจะครั้งแรกในพรรษาที่ ๓) พรรษาที่ ๑๔ และในช่วงพรรษาที่ ๒๑–๔๔ ซึ่งประทับสลับไปมาระหว่างวัดพระเชตวัน กับวัดบุพพารามของวิสาขามหาอุบาสิกา, ด้วยเหตุนี้ การทรงแสดงธรรม และทรงบัญญัติวินัย จึงเกิดขึ้นที่วัดพระเชตวันนี้มาก โดยเฉพาะสิกขาบทของภิกษุณี ทรงบัญญัติที่วัดพระเชตวันแทบทั้งนั้น.”
————
ข้อสังเกต:
อารามแห่งนี้มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “เชตวัน” หรือ “เชตวนาราม” ทำให้รู้สึกไปว่า เจ้าของอารามคือเจ้าเชต ความจริงเจ้าเชตเป็นเพียงเจ้าของสวนเดิมและไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในการสร้าง ผู้ที่สร้างอารามแห่งนี้คืออนาถบิณฑิกเศรษฐี
ในคัมภีร์ เมื่อเอ่ยชื่ออารามแห่งนี้จะระบุเต็มๆ ทุกครั้งว่า “เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม = เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกะ”
…………..
ในเมืองไทยมีวัดสำคัญวัดหนึ่ง คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดโพธิ์ คำว่า “เชตุพน” แผลงมาจาก “เชตวัน” นี่เอง คือ –
เชต > เชตุ
วัน > วน > พน
เชตวัน > เชตวน > เชตุพน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางคนฝากชื่อให้โลกชม
: บางคนฝากความโสมมให้โลกชัง
: จะอยู่กันไปคนละไม่กี่ปี
: คิดจะฝากความดีกันไว้บ้างหรือยัง?
27-4-60