ยาปรมัดไส้ (บาลีวันละคำ 2,979)
ยาปรมัดไส้
ฤๅจะเป็นที่มาของ “ยาไส้”
คำว่า “ยาปรมัดไส้” ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่พจนานุกรมฯ ใช้คำนี้ในข้อความที่เป็นบทนิยามหรือคำอธิบายความหมายของคำว่า “ยาปนมัต”
คำว่า “ยาปนมัต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยาปนมัต : (คำนาม) อาหารที่พอจะให้ร่างกายดำรงอยู่ได้. (คำวิเศษณ์) สักว่ายังชีวิตให้เป็นไป, พอเลี้ยงชีพ, พอเยียวยาชีวิต, ภาษาตลาดมักพูดว่า ยาปรมัดไส้. (ป. ยาปนมตฺต).”
คำว่า “ยาปนมัต” อ่านว่า ยา-ปะ-นะ-มัด ประกอบด้วย ยาปน + มัต
(๑) “ยาปน”
อ่านว่า ยา-ปะ-นะ รากศัพท์มาจาก ยปฺ (ธาตุ = ยัง-ให้เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), “ทีฆะต้นธาต” คือ อะ ที่ ย-(ปฺ) เป็น อา (ยปฺ > ยาปฺ)
: ยปฺ + ยุ > อน = ยปน > ยาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้เป็นไป” “สิ่งที่ยัง-ให้เป็นไป” (คือการใช้สิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยหรือเป็นอุปกรณ์ทำให้อีกสิ่งหนึ่งดำเนินไปได้) หมายถึง การดำเนินต่อไป, การบำรุงเลี้ยง, ความเป็นอยู่, การดำรงชีพ (keeping going, sustenance, feeding, nourishment, existence, living)
(๒) “มัต”
บาลีเป็น “มตฺต” (มัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ต ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือ มา + ต สระ อา ที่ “มา” อยู่หน้า ต จึงเรียกว่า “สระหน้า” : มา > ม), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + ต)
: มา + ตฺ + ต = มาตฺต > มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “จำนวนอันเขาประมาณเอา”
“มตฺต” ตามรากศัพท์นี้ใช้ในความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ :
(1) ประกอบด้วย, วัดได้, ประมาณ (consisting of, measuring)
(2) มากถึง, เท่านั้น, เพียง, น้อยเพียงเท่านั้นเท่านี้, ไม่แม้แต่ (หนึ่ง), ไม่เลย (as much as, only, a mere, even as little as, the mere fact [of], not even [one], not any)
(3) มากเท่านั้น, บ้าง, เพียงพอ (so much, some, enough)
(4) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)
(5) แม้, ทันทีที่, เนื่องจาก (even at, as soon as, because of)
“มตฺต” จะมีความหมายอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับบริบทเป็นสำคัญ แต่ความหมายสามัญที่ใช้บ่อยที่สุด คือ “เพียงแค่-” หรือ “สักแต่ว่า-”
ยาปน + มตฺต = ยาปนมตฺต (ยา-ปะ-นะ-มัด-ตะ) แปลว่า “เพียงแค่ยัง-ให้เป็นไป” เช่น –
ถ้าหมายถึงอาหาร ก็คืออาหารเพียงแค่พอยังชีวิตให้เป็นไปได้
ถ้าหมายถึงรายได้หรือเงินเดือน ก็คือรายได้เพียงแค่พอใช้ไปเดือนหนึ่งๆ
“มตฺต” ในภาษาไทยตัด ต ออกตัวหนึ่ง “ยาปนมตฺต” จึงเขียนเป็น “ยาปนมัต” อ่านว่า ยา-ปะ-นะ-มัด
“ยาปนมัต” นี่เองที่คนมักพูดเพี้ยนผิดเป็น “ยาปรมัด” (ยา-ปะ-ระ-มัด) แล้วก็ต่อเติมกลายเป็น “ยาปรมัดไส้”
ขยายความ :
คำว่า “ยาปนมัต” นี้เป็นคำที่ใช้พูดกันในหมู่พระสงฆ์และคนวัดเมื่อหมายถึงอาหารการขบฉัน ซึ่งบางวันอิ่ม บางวันอด วันไหนอดก็จะบอกกันว่า วันนี้ฉัน (กิน) พอเป็น “ยาปนมัต”
แต่โดยอุดมการณ์ของเพศสงฆ์แล้ว ท่านให้มองอาหารทุกมื้อเป็น “ยาปนมัต”
เคยได้ยินนักคิดบางสำนักคิดลึกไปไกลว่า –
“ยา” คือ อาหาร ในแง่ที่ว่าต้องกินเพื่อรักษาโรคหิว
“ปน” คือประสมกัน คละเคล้ากัน
“มัต” คือ มต (มะ-ตะ) หมายถึงความตาย
“ยาปนมัต” ตามแนวคิดที่ว่านี้อ่านว่า ยา-ปน-มัด แปลว่า “ยาที่ปนความตาย” หมายถึงอาหารที่กินเข้าไปทุกมื้อมีความตายประสมอยู่ด้วย เนื่องจากเมื่อกินไปจนถึงวันหนึ่งคนกินก็ตาย
เป็นการแปลหรือตีความแบบดำน้ำ เหมือนคำว่า “ตัณหา” แปลว่า หาไม่เจอ คือหาไปๆ ก็ถึงทางตัน ก็คือหาไม่เจอนั่นเอง
เป็นตัวอย่างของความคิดที่-ดี แต่ไม่ถูก
อภิปราย :
คำว่า “ยาปรมัดไส้” นี้ชอบกล มีคำว่า “ยา-” อยู่หัว “-ไส้” อยู่ท้าย ถ้ารวมเฉพาะคำหัวท้ายเข้าด้วยกันก็จะเป็น “ยาไส้” เป็นคำที่เราพูดกันอยู่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ยาไส้” ไว้ 2 คำ เป็นลูกคำของคำว่า “ยา ๑” คำหนึ่ง และเป็นคำตั้งหรือแม่คำคำหนึ่ง
คำที่เป็นลูกคำของคำว่า “ยา ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –
“ยาไส้ : (ภาษาปาก) (คำกริยา) ประทังความหิว.”
คำที่เป็นคำตั้งหรือแม่คำบอกไว้ดังนี้ –
“ยาไส้ : (ภาษาปาก) (คำกริยา) ประทังความหิว เช่น หากินไม่พอยาไส้.”
ดังนี้ ชวนให้เข้าใจไปได้ว่า คำว่า “ยาปรมัดไส้” นี่กระมังเป็นที่มาของคำว่า “ยาไส้”
หรือว่าคำว่า “ยาไส้” มีอยู่ก่อนแล้ว เราเอาคำว่า “ยาปนมัต” มาพูดล้อ แล้วขยายคำออกไปเป็น “ยาปนมัตไส้” แล้วก็เพี้ยนเป็น “ยาปรมัดไส้” ดังที่พจนานุกรมฯ ยกมาอ้างอิงในบทนิยามคำว่า “ยาปนมัต”
ถ้ารู้ว่าระหว่าง “ยาปรมัดไส้” กับ “ยาไส้” คำไหนเก่ากว่ากัน เราก็คงพอจะได้คำตอบที่แน่นอนขึ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กินคนเดียว อิ่มท้องไปพักเดียว
: แบ่งกันกิน อิ่มใจไปจนตาย
#บาลีวันละคำ (2,979)
8-8-63