บาลีวันละคำ

นักกวี (บาลีวันละคำ 2,981)

นักกวี

กำลังจะผิดจนถูกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า นัก-กะ-วี

นัก” เป็นคำไทย “กวี” เป็นคำบาลี

(๑) “นัก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นัก ๑ : (คำนาม) ใช้ประกอบหน้าคำอื่นหมายความว่า ผู้กระทำเป็นปรกติ เช่น นักเรียน นักดื่ม นักท่องเที่ยว, ผู้ชำนาญ เช่น นักเทศน์ นักดนตรี นักคำนวณ นักสืบ, ผู้มีอาชีพในทางนั้น ๆ เช่น นักกฎหมาย นักแสดง นักเขียน. (ข. อฺนก).”

(๒) “กวี

บาลีมีทั้งที่เป็น “กวิ” (-วิ สระ อิ) และ “กวี” (-วี สระ อี) รากศัพท์มาจาก กุ (ธาตุ = สรรเสริญ; ผูกถ้อยคำ, ประพันธ์; กล่าว, ส่งเสียง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (กุ > โก > กว)

: กุ > โก > กว + อิ = กวิ

บางทีลง อี ปัจจัย หรือ ณี ปัจจัย ลบ = กวี

กวิ” หรือ “กวี” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สรรเสริญ” (คือแต่งบทสรรเสริญเทพเจ้า) (2) “ผู้ผูกทั่ว” (คือเอาถ้อยคำมาผูกเข้าเป็นบทกลอน) (3) “ผู้กล่าวถ้อยคำที่น่ารักเป็นปกติ” “ผู้กล่าวถ้อยคำดื่มด่ำ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลคำว่า “กวิ” หรือ “กวี” ว่า กวี, นักปราชญ์, ผู้มีปัญญา, ผู้เชี่ยวชาญในการประพันธ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กวิ” ว่า a poet อันเป็นคำที่เราคุ้นกันว่าหมายถึง “กวี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กวี : (คำนาม) ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ ๑. จินตกวี แต่งโดยความนึกคิด ๒. สุตกวี แต่งโดยได้ฟังมา ๓. อรรถกวี แต่งตามความเป็นจริง ๔. ปฏิภาณกวี แต่งโดยฉับพลันทันที. (ป.).”

ขยายความ :

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 จำแนก “กวี” ออกเป็น 4 ประเภท คือ

(1) จินฺตากวี = แต่งโดยความคิด (an original poet กวีที่ไม่เลียนแบบใคร)

(2) สุตกวี = แต่งโดยได้ฟังมา (one who puts into verse what he has heard ผู้แต่งร้อยกรองจากเรื่องที่ได้ฟังมา)

(3) อตฺถกวี = แต่งตามความจริง (a didactic poet กวีที่แต่งสั่งสอนคน)

(4) ปฏิภาณกวี = แต่งกลอนสด (an improvisor กวีผู้แต่งร้อยกรองขึ้นโดยปัจจุบันทันที)

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยกมาเทียบเพื่อศึกษาว่า ฝรั่งกับเราเข้าใจตรงกันหรือไม่)

อภิปราย :

ภาษาไทยในระยะหลังๆ มีผู้ใช้คำว่า “นักกวี” ซึ่งไม่ถูกต้อง

นัก” ใช้ประกอบหน้าคํานามธรรมดาหรือคำกริยาให้เป็นคำนามที่หมายถึง “บุคคล” และมีความหมายว่า:-

– “ผู้กระทำเป็นปรกติ” เช่น นักเรียน = ผู้ศึกษาเล่าเรียน, ผู้รับการศึกษาจากโรงเรียน

– “ผู้ชอบ” เช่น นักดื่ม นักท่องเที่ยว

– “ผู้ชํานาญ” เช่น นักเทศน์ นักดนตรี นักคํานวณ นักสืบ

– “ผู้มีอาชีพในทางนั้น ๆ” เช่น นักกฎหมาย นักแสดง นักเขียน

– “ผู้ฝักใฝ่ในทางนั้นๆ” เช่น นักการเมือง, นักเลง- (เช่น นักเลงหนังสือ)

คำเหล่านี้ ถ้าไม่มี “นัก-” นำหน้า ก็จะไม่หมายถึง “บุคคล

กวี” เป็นคำนามที่หมายถึงบุคคลอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี “นัก” นำหน้า เป็น “นักกวี” แต่ประการใด

นักกวี” จึงเป็นคำที่งามเกินพอดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: งามของคำอยู่ที่ความแยบยล

: งามของคนอยู่ที่ความพอดี

#บาลีวันละคำ (2,981)

10-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *