บาลีวันละคำ

รูปขันธ์ (บาลีวันละคำ 3,572)

รูปขันธ์

กองรูป – ขันธ์ที่หนึ่ง

อ่านว่า รูบ-ปะ-ขัน

(ไม่ใช่ รูบ-ขัน)

ประกอบด้วยคำว่า รูป + ขันธ์

(๑) “รูป”

บาลีอ่านว่า รู-ปะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รูปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อ (อะ) ปัจจัย

: รูปฺ + อ = รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน”

(2) รุปฺ (ธาตุ = เสื่อม, ทรุดโทรม) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ รุ-(ปฺ) เป็น อู (รุปฺ > รูป)

: รุปฺ + อ = รุป > รูป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”

“รูป” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง รูป, ทรวดทรง, รูปร่างหรือรูปพรรณสัณฐาน, หลักการเกี่ยวกับรูป ฯลฯ (form, figure, appearance, principle of form, etc.)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “รูป”ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) : (คำนาม) สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ร่าง เช่น โครงรูป, ร่างกาย เช่น รูปตัวคน รูปตัวสัตว์, เค้าโครง เช่น ขึ้นรูป, แบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปรี รูปไข่ (ป., ส.).

(2) : (คำนาม) ลักษณนามใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น พระรูปหนึ่ง สามเณร ๒ รูป.

(3) : (คำสรรพนาม) คำใช้แทนตัวผู้พูด สำหรับพระภิกษุสามเณรพูดกับคฤหัสถ์, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.

(๒) “ขันธ์”

เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺธ” อ่านว่า ขัน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ขํ (อวัยวะ; ความว่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น นฺ (ขํ > ขนฺ), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ธา ธาตุ (ธา > ธ)

: ขํ > ขนฺ + ธา = ขนฺธา > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ธำรงอวัยวะคืออินทรีย์ไว้” (2) “ส่วนที่ธำรงความว่างเปล่าไว้”

(2) ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขาทฺ เป็น ขนฺธ

: ขาทฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคี้ยวกินอวัยวะ”

(3) ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ขชฺชฺ เป็น ขนฺธ

: ขชฺชฺ > ขนฺธ + อ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันทุกข์มีความเกิดความแก่เป็นต้นกิน”

(4) ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + ธ ปัจจัย

: ขนฺ + ธ = ขนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ส่วนอันเขาขุดขึ้นได้ด้วยญาณ” (คือต้องใช้ปัญญาจึงจะรู้จักตัวจริงของขันธ์) (2) “ส่วนอันทุกข์ขุดขึ้น” (คือถูกทุกข์กัดกินตลอดเวลา)

“ขนฺธ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ก้อนใหญ่, ความใหญ่โตมโหฬาร (bulk, massiveness [gross] substance)

(2) ลำตัว, คือหลังของช้าง (the bulk of the body, i. e. elephant’s back)

(3) ไหล่หรือหลัง (the shoulder or back)

(4) ลำต้น (the trunk)

(5) หมวด, บท, เนื้อเรื่องที่รวบรวมเป็นหมวดหมู่ (section, chapter, material as collected into uniform bulk)

(6) ตัว, การรวมตัว, หรือส่วนต่าง ๆ ของ- (the body of, a collection of, mass, or parts of)

ในภาษาไทย “ขนฺธ” ใช้เป็น “ขันธ์” (ขัน) ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “ขันธ์” ในขันธ์ 5 ไว้ดังนี้ –

…………..

ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต — Pañca-khandha: the Five Groups of Existence; Five Aggregates)

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ขันธ์ : (คำนาม) ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด, ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕. (ป.; ส. สกนฺธ).”

รูป + ขนฺธ ซ้อน กฺ

: รูป + กฺ + ขนฺธ = รูปกฺขนฺธ บาลีอ่านว่า รู-ปัก-ขัน-ทะ ในภาษาไทยใช้เป็น “รูปขันธ์” อ่านว่า รูบ-ปะ-ขัน แปลตามแบบว่า “กองแห่งรูป”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [216] บอกความหมายของ “รูปขันธ์” ไว้ดังนี้ –

…………..

1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ — Rūpa-khandha: corporeality)

…………..

ขยายความ :

สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนคือ คำว่า “รูป” ในที่นี้ใช้ในความหมายของภาษาบาลี ไม่ใช่ picture หรือ photograph ในภาษาอังกฤษที่มักเรียกกันในภาษาไทยว่า “รูป” – ไม่ใช่รูปแบบนั้น

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “รูป” ขยายความไว้ว่า –

…………..

รูป : สิ่งที่ต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูต หรือ ธาตุ ๔ และ อุปาทายรูป ๒๔ ( = รูปขันธ์ในขันธ์ ๕)

…………..

ผู้ต้องการความรู้ความเข้าใจเรื่อง “รูป” ใน “รูปขันธ์” พึงศึกษาเพิ่มเติมที่คำว่า “รูป ๒๘” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูปขันธ์เหมือนรถ

: พาเจ้าของไปได้หมด-ทั้งนรกสวรรค์และนิพพาน

24-03-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *