จตุสดมภ์ (บาลีวันละคำ 2,987)
จตุสดมภ์
ไม่ใช่ “บ้านสี่เสา”
อ่านว่า จะ-ตุ-สะ-ดม
ประกอบด้วยคำว่า จตุ + สดมภ์
(๑) “จตุ”
อ่านว่า จะ-ตุ เป็นศัพท์จำพวก “สังขยา” (คำสำหรับนับจำนวน) แปลว่า สี่ (จำนวน 4)
(๒) “สดมภ์”
อ่านว่า สะ-ดม บาลีเป็น “ถมฺภ” (ถำ-พะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ถมฺภฺ (ธาตุ = ยึด, ผูกติด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ถมฺภฺ + อ = ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ยึดไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องผูก” (3) “สิ่งที่ผูกติดกัน” (คือเกาะเกี่ยวกันอยู่)
(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ค้ำ) + รมฺภ ปัจจัย, แปลง ธ เป็น ถ (ธรฺ > ถร), ลบ รฺร (คือ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ต้นปัจจัย)
: ธรฺ + รมฺภ = ธรฺรมฺภ > ถรฺรมฺภ > ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ค้ำไว้”
(3) ถกฺ (ธาตุ = ป้องกัน) + พ ปัจจัย, แปลง ก เป็น มฺ (ถกฺ > ถมฺ), แปลง พ เป็น ภ
: ถกฺ + พ = ถกฺพ > ถมฺพ > ถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ป้องกัน”
“ถมฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(ก) ความหมายตรงตัว:
(1) หลัก, เสา (a pillar, a post)
(2) กองหญ้า (a clump of grass)
(ข) ความหมายเชิงอุปมา:
(1) ความเห็นแก่ตัว, ความดื้อดึง, การหลอกลวงหรือหน้าไหว้หลังหลอก และการโกง (selfishness, obduracy, hypocrisy & deceit)
(2) ความคงที่ (เข็นไม่ไปไขไม่เดิน), ความแข็ง, ความมึนซึมหรือเกียจคร้าน, ความดื้อรั้น (immobility, hardness, stupor, obstinacy)
บาลี “ถมฺภ” สันสกฤตเป็น “สฺตมฺภ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺตมฺภ : (คำนาม) ‘สตัมภะ, สตัมภ์, สดมภ์,’ เสาทั่วไป, คำว่า ‘สถาณุ, สถูณา, ยูป’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ต้น, ลำหรือลำต้น (แห่งพฤกษ์หรือลดาทั่วไป); ความเขลา; ประโมหะ, ประลัย, หรือความไม่รู้สึกตัว; อินทริยโมหะเพราะความกลัว; ความปรีติ, ความเสียใจ, ฯลฯ; วิราค, สารทหรือความไม่รู้สึกตัว (ดุจองคภังค์); การระงับศักดิ์หรืออินทริยพฤติ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยมายามโยบาย; การห้ามหรือขัดขวาง; a post, a pillar, or a column in general; a stalk; a stem; stupidity; insensibility or loss of sensation; stupefaction from fear; joy, grief, &c.; coldness; paralysis or loss of sensation (as paralysis of limbs); the suppression of any faculty by magical means; hindrance or obstruction.”
สันสกฤต “สฺตมฺภ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สดมภ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“สดมภ์ : (คำนาม) เสา, หลัก; (คำที่ใช้ในคณิตศาสตร์) ช่องในแนวตั้งสําหรับกรอกรายการต่าง ๆ เช่น ตัวเลข สัญลักษณ์ สูตร. (ส. สฺตมฺภ; ป. ถมฺภ).”
จตุ + สดมภ์ = จตุสดมภ์ แปลตามศัพท์ว่า “สี่เสา” หรือ “เสาสี่ต้น”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“จตุสดมภ์ : (คำนาม) วิธีจัดระเบียบราชการบริหารส่วนกลางในสมัยโบราณโดยตั้งกรมหรือกระทรวงใหญ่ขึ้น ๔ กรม คือ กรมเมือง กรมวัง กรมคลัง กรมนา มีเสนาบดีเจ้ากระทรวงว่าการในแต่ละกรมนั้น รวมเรียกว่า จตุสดมภ์ ซึ่งแปลว่า หลัก ๔. (ป. จตุ = สี่ + ส. สฺตมฺภ = หลัก หมายความว่า หลัก ๔).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“จตุสดมภ์ : (คำโบราณ; คำที่เลิกใช้) (คำนาม) การจัดระเบียบราชการฝ่ายพลเรือนส่วนกลาง ประกอบด้วยกรมใหญ่ ๔ กรม คือ กรมเมือง กรมวัง กรมคลัง กรมนามีจตุสดมภ์เสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชาแต่ละกรม. (ป. จตุ = สี่ + ส. สฺตมฺภ = หลัก หมายความว่า หลัก ๔).”
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่จะสันนิษฐานว่า คำว่า “จตุสดมภ์” น่าจะมาที่มาจากสมัยก่อนโน้น เวลา “เสนาบดีเจ้ากระทรวง” เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน คงจะแบ่งกลุ่มกันนั่งตามเสาในท้องพระโรง เสาใครเสามัน จึงเรียกกลุ่มการบริหารบ้านเมืองว่า “พวกสี่เสา” แล้วเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “จตุสดมภ์”
ที่ว่านี้เป็นการสันนิษฐานตามตัวหนังสือเท่านั้น ผิดถูกประการใดไม่รับรอง ต้องขอแรงนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นนักเรียนชั้นประถม ครูสอนว่า “จตุสดมภ์” คือ “เวียง วัง คลัง นา”
นักเรียนชั้นประถมสมัยใหม่คงไม่รู้จักแล้ว และน่าจะไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้อะไรในพิภพจบสากล
: ไม่รู้จักรากเหง้าตนก็โง่ตาย
#บาลีวันละคำ (2,987)
16-8-63