ภันเต – อาวุโส (บาลีวันละคำ 2,986)
ภันเต – อาวุโส
วัฒนธรรมทางภาษาของผู้เจริญแล้ว
อ่านว่า พัน-เต อา-วุ-โส
(๑) “ภันเต”
เขียนแบบบาลีเป็น “ภนฺเต” อ่านว่า พัน-เต เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ”
“ภนฺเต” คำนี้ถ้าจะให้แสดงรากศัพท์ อาจบอกได้ว่า รูปคำเดิมเป็น “ภวนฺต” (พะ-วัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก ภว (ผู้เจริญ, ความเจริญ) + วนฺต ปัจจัย, ลบ ว ที่สุดศัพท์ (ภว > ภ)
: ภว + วนฺต = ภววนฺต > ภวนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเจริญ” “ผู้เจริญ”
“ภวนฺต” เมื่อใช้เป็น “อาลปนะ” (คำทัก, คำเรียก addressing) แปลงรูปเป็น “ภนฺเต” และถือว่าเป็นศัพท์จำพวก “นิบาต”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “ภนฺเต” ไว้ว่า voc. of polite address: Sir, venerable Sir (อาลปนะสำหรับคำร้องเรียกที่สุภาพ: ท่าน, ท่านที่เคารพ)
“ภนฺเต” เป็นคำที่คู่กับ “อาวุโส”
(๒) “อาวุโส”
อ่านตรงตัวว่า อา-วุ-โส เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” เช่นเดียวกับ “ภนฺเต” สันนิษฐานตามทางไวยากรณ์ว่า มาจากคำว่า อายุ + โส ปัจจัยในวิภาคตัทธิต, แปลง ย เป็น ว
: อายุ + โส = อายุโส > อาวุโส แปลตามศัพท์ว่า “โดยอายุ”
“อาวุโส” ใช้เป็นคำทักทายคงรูปอยู่เช่นนี้ จึงถือว่าเป็น “นิบาต” ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย นักเรียนบาลีแปลกันว่า “แน่ะท่านผู้มีอายุ”
ตำราบาลีไวยากรณ์ขยายความไว้ว่า “อาวุโส เป็นคำสำหรับบรรพชิตที่มีพรรษามากกว่าเรียกบรรพชิตที่มีพรรษาน้อยกว่า และสำหรับบรรพชิตเรียกคฤหัสถ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและขยายความ “อาวุโส” ไว้ว่า friend, a form of polite address “friend, brother, Sir”, usually in conversation between bhikkhus. (ท่านผู้มีอายุ, การเรียกขานที่สุภาพ “ผู้มีอายุ, คุณ, ท่าน”, ตามปกติใช้ในการสนทนากัน ระหว่างภิกษุ)
หลักนิยม :
“ภนฺเต” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่
“อาวุโส” เป็นคำทักหรือคำลงท้ายเมื่อผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย
แถมชาดก :
มีชาดกเรื่องหนึ่งชื่อ “ติตติรชาดก” (แปลว่าชาดกว่าด้วยนกกระทา) เล่าว่า สัตว์ 3 ชนิด คือ ช้าง ลิง และนกกระทา เป็นสหายกัน อาศัยรวมกันอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง
อยู่มา สัตว์ทั้ง 3 ปรึกษากันว่า ธรรมดาการอยู่ร่วมกันควรจะต้องเคารพกันตามอายุ จึงซักถามกันว่า เราทั้ง 3 นี้ใครอายุมากกว่า ขอให้แสดงหลักฐาน
ช้างบอกว่า เมื่อตนยังเป็นลูกช้าง เดินผ่านถิ่นนี้ต้นไทรต้นนี้ระท้อง (คือต้นไทรอยู่ใต้ท้อง) = ช้างน่าจะอายุมากกว่าเพื่อน
ลิงบอกว่า เมื่อตนยังเป็นลูกลิง แม่พามาหากินแถวนี้ ตนนั่งกับพื้นดินสามารถเด็ดยอดไทรต้นนี้ได้ = ลิงอายุมากกว่าช้าง
นกกระทาบอกว่า เมื่อก่อนไทรต้นนี้ยังไม่มี ตนไปกินลูกไทรจากที่อื่นแล้วมาถ่ายมูลไว้ที่นี่ ต้นไทรนี้เกิดจากมูลที่ตนถ่ายไว้ = นกกระทาอายุมากกว่าเพื่อน
ตั้งแต่นั้นมา สัตว์ทั้ง 3 ก็แสดงความเคารพกันตามลำดับอายุ คือช้างเคารพลิง ช้างและลิงเคารพนกกระทา อยู่กันเป็นผาสุกตราบสิ้นอายุ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่จำเป็นต้องเคารพกัน
: ก็ไม่จำเป็นต้องด่ากัน
#บาลีวันละคำ (2,986)
15-8-63