บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สมรู้ร่วมคิด

สมรู้ร่วมคิด

———–

เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ ชาวชมรมทหารเรือราชบุรีไปทำบุญถวายเสด็จเตี่ยที่วัดเขางู เนื่องในวันประสูติ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ สิ้นพระชนม์วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖)

ที่ไปวัดเขางูไม่ใช่เพราะชาวชมรมทหารเรือราชบุรีขึ้นกับวัดเขางูหรือเลื่อมใสวัดเขางูเป็นพิเศษ แต่เพราะที่วัดเขางูมีศาลเสด็จเตี่ยอยู่ในวัด

ทำไมศาลเสด็จเตี่ยจึงไปอยู่ที่วัดเขางู เป็นเรื่องยาว ใครอยากรู้กรุณาไปสืบประวัติกันดูเอง ถ้ามีโอกาสค่อยเล่าสู่กันฟังทีหลัง

———————-

เมื่อเจอกันก็พูดคุยกัน เรื่องที่คุยกันมากก็คือ ทหารเรือรุ่นนั้นรุ่นนี้ไปทำอะไรกันอยู่ที่ไหนบ้าง-โดยเฉพาะที่ลาออกหรือโอนไปอยู่นอกกองทัพเรือ 

ที่บอกเล่าสู่กันฟังมากหน่อยก็คือพวกที่ไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นไปเป็นปลัด อบต. ปลัดเทศบาล 

ที่ไปเป็นนายอำเภอก็มี 

ใครคนหนึ่งเอ่ยถึงคนที่เรียนในกองทัพเรือแล้วไปเป็นตำรวจ-ที่รู้กันดีคือตำรวจน้ำ 

พอเอ่ยถึงตำรวจ ก็ต้องเอ่ยถึงตำแหน่งสารวัตร 

ใครหนึ่งก็เอ่ยถึงเส้นทางการไปสู่ตำแหน่ง-ว่าต้องใช้เงินมาก 

ชักจะไม่ค่อยดีแล้ว 

แต่หยุดไม่ได้ ก็คุยกันต่อไป

ผมนึกขึ้นมาได้ว่ามีญาติเป็นตำรวจ ยศพันตำรวจโท เป็นพันตำรวจโทอยู่นานมาก ผมถามว่าเมื่อไรจะได้เลื่อนยศ 

ญาติบอกว่า จะเลื่อนก็ได้ แต่ต้องเอามาสองล้าน แต่กูไม่มีตังค์ว่ะ

ญาติก็เลยเกษียณแค่พันตำรวจโท 

แล้วก็มีคนเอ่ยขึ้นว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนี่ก็เถอะ ต้องใช้เงินทั้งนั้น 

เอ เรื่องทำท่าจะไปกันใหญ่ 

ผมก็เลยบอกว่าคุยเรื่องอื่นดีกว่า 

———————-

สมัยผมเป็นเด็ก-คือเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา-ข้าราชการที่ทุจริตโกงกินก็มีเหมือนสมัยนี้นี่แหละ แต่สมัยโน้นจะแอบทำ คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ รู้กันเฉพาะวงใน 

สมัยโน้น รถหลวงติดข้อความว่า “ใช้ในราชการเท่านั้น” ใครเอาไปใช้นอกราชการ จะถูกตำหนิติเตียนมาก ตัวข้าราชการผู้นั้นเองก็จะรู้สึกอับอายมากด้วย 

รัฐมนตรีคนหนึ่งถูกเปิดโปงว่าทำทุจริต เป็นเรื่องอื้อฉาวมาก 

ท่านลาออกจากตำแหน่งทันที แล้วหายหน้าไปจากสังคม 

สมัยนี้ทำทุจริตกันซึ่งหน้า ไม่ต้องแอบทำ 

ทำแล้ว รู้กันทั่วเมืองแล้ว ไม่ต้องลาออกให้โง่ ยังสามารถเชิดหน้าอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติ

———————-

แต่พร้อมกันนั้นเอง การอ้างกฎหมายหมิ่นประมาทก็เป็นที่นิยมกันมากขึ้น 

คือถ้าใครไปพูดว่าใครทำทุจริต ให้ระวังไว้เถอะ จะถูกฟ้องหมิ่นประมาทเอาง่ายๆ 

ทำจริง ทุจริตจริง เป็นที่รู้กันทั้งนั้นนี่แหละ ใครเอามาพูดขึ้น โดนฟ้องทันที 

แปลกไหม 

ตัวไปทำชั่วมาจริงๆ แท้ๆ 

แต่พอใครเอามาพูด

กลับไปฟ้องเขาว่าหมิ่นประมาท

สมัยก่อน คนทำชั่ว ทำจริง ใครพูดขึ้น เขาก็ยอมรับแต่โดยดี แล้วหายหน้าไป

สมัยนี้ คนทำชั่ว ทำจริงเหมือนกัน แต่ถ้าใครเอามาพูด ไอ้คนพูดนั่นแหละจะถูกฟ้อง ดีไม่ดีอาจจะต้องหายหน้าไปจากสังคม

แปลกไหม

ถ้าใครจะบอกว่าใครทุจริต ต้องไปหาหลักฐานมาแสดง

ใครมันจะโง่ทุจริตแบบมีหลักฐานละขอรับ

ร้อยทั้งร้อย ไม่มีหลักฐาน

เป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “ไม่มีใบเสร็จ” 

ยิ่งเป็นคนมีตำแหน่ง มีอำนาจ มีพลังทางเศรษฐกิจสูง ก็เป็นที่คาดหวังได้ทุกรายว่า-ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่าไม่มีความผิด 

ฮ่า ฮ่า ฮ่า

———————-

พูดเรื่องทุจริต ก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า โอย เรื่องแบบนี้ที่ไหนๆ (อ่านว่า-ที่ไหนที่ไหน ไม่ใช่-ที่ไหนไหน) เขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ เรื่องทุจริตมันมีมาตั้งสมัยพุทธกาลโน่นแล้ว เขารู้กันมาตั้งนานแล้วแหละลุง 

คำพูดนี้มีนัยว่า ที่ทำทุจริตกันนั้นเป็นเรื่องปกติของชาวโลก 

ไม่ทำก็ดี แต่จะทำต่อไปก็ได้

เฉพาะคำว่า “มีมาตั้งสมัยพุทธกาลโน่นแล้ว” นี้ ผมคันปากเป็นอันมาก 

อ้างสมัยพุทธกาลเป็นเหมือนคำรับรองว่า อะไรที่ทำกันได้ในสมัยพุทธกาล ก็ควรเอามาทำในสมัยนี้ได้-ผมตีความนัยแห่งคำพูดนี้แบบนี้

เมื่อตีความแบบนี้ ก็จึงคันปากอยากจะตอบกลับไปว่า การดำรงตนอยู่ในศีลธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุมรรคผล นี่ก็ “มีมาตั้งสมัยพุทธกาลโน่นแล้ว” เหมือนกัน 

เอามาอ้างด้วยสิ 

เอามาอ้างด้วย เพื่อจะได้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมและประพฤติปฏิบัติธรรมให้หนักแน่นเข้มข้นกันทั่วหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ทีอย่างนี้ไม่เอามาอ้าง

ไม่เอามาอ้างก็เพราะตัวทำไม่ได้

ทำชั่วทำได้ง่าย ก็เอามาอ้างว่าเขาทำกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กูจะได้พลอยประสมทำด้วย

ทำดี เขาก็ทำกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่เพราะตัวไม่คิดจะทำ ก็เลยไม่พูดถึง ไม่เอามาอ้าง 

ถ้าไม่คิดจะทำความดี อย่าเอา “สมัยพุทธกาล” มาอ้าง

———————-

ทีนี้หันไปดู “ค่านิยม” ของท่านจำพวกหนึ่งที่นิยมแสดงออกกันทั่วไป นั่นคือ อย่าไปใส่ใจกับความไม่ดีของคนอื่น 

หมายความว่า ใครจะทำผิด ทำชั่ว ทำเลวอย่างไร ปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา เราไม่ควรเข้าไปยุ่ง 

ใครเข้าไปยุ่ง จะถูกประทับตราว่าเป็นพวกแส่หาเรื่อง ชอบ “จับผิด” 

อ้างพุทธภาษิตขึ้นมาสนับสนุนก็มี 

ที่นิยมอ้างกันมากคือ –

น ปเรสํ วิโลมานิ 

น ปเรสํ กตากตํ

อตฺตโนว อเวกฺเขยฺย

กตานิ อกตานิ จ.

ไม่ควรเก็บเอาคำด่าว่าของคนอื่นมาใส่ใจ

ไม่ควรสนใจกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคนอื่น

พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนเท่านั้น

ที่มา: 

ปุปผวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๔

ปาฏิกาชีวกวัตถุ ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๓

มีผู้นิยมอ้างพุทธภาษิตบทนี้แล้วตั้งเป็นหลักการว่า “อย่าจับผิดคนอื่น” 

ผมเคยทักท้วงมาหลายทีแล้วว่า ต้องแยกให้ถูกว่า อย่างไรคือ “จับผิด” และอย่างไรคือ “ชี้โทษ” 

เพราะมีพุทธภาษิตที่ยกย่องคนชี้โทษไว้ด้วย-ก็อยู่ในคัมภีร์เดียวกันกับเรื่องที่เอามาเรียกว่า “จับผิด” นี่แหละ

นิธีนํว  ปวตฺตารํ

ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ

ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส

เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ 

หามีโทษที่เลวทรามไม่

ที่มา: 

บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

ราธเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๔

พุทธภาษิตนี้ยกย่องคน “ชี้โทษ” ว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ 

———————-

ผมเข้าใจว่า พวกเราส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจว่า “จับผิด” กับ “ชี้โทษ” ต่างกันอย่างไร

“จับผิด” หมายถึง จ้องจับความผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นด้วยเจตนาที่จะยกขึ้นประจานให้เขาเสียหาย หรือเพื่อจะกดให้เขาต่ำทรามลง

“ชี้โทษ” หมายถึง มองเห็นข้อผิดพลาดบกพร่องของคนอื่นแล้วหยิบขึ้นมาชี้ให้ดูด้วยเจตนาจะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผิดอย่างไร ที่ถูกเป็นอย่างไร เพื่อเป็นทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก

จับผิด มีเจตนาจะดูถูกคนอื่น

ชี้โทษ มีเจตนาที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ

เราส่วนมากเอา “จับผิด” กับ “ชี้โทษ” ไปปนกัน หรือเข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกัน

ที่ว่า-เข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกัน-หมายถึงเห็นการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมด

เห็นใครทำทุจริต ควรจะช่วยกัน “ชี้โทษ” ก็ไม่ชี้ อ้างว่าทำอย่างนั้นเป็นการ “จับผิด” และเราไม่ควรจับผิดคนอื่น 

หลักการแบบนี้ก็เลยไปเข้าทางคนทำทุจริตเต็มประตู 

ทำทุจริตแล้ว 

ใครเอามาพูด ท้าให้เอาหลักฐานมายัน

ไม่มีหลักฐาน ฟ้องหมิ่นประมาท 

ฝ่ายผู้คนในสังคมก็เฉยกันหมด ถือคติ-เราไม่ควรจับผิดคนอื่น 

คนทำทุจริตก็เลยสบายแฮ 

เพราะเราสมรู้ร่วมคิด ทุจริตจึงเบ่งบาน

ใช่หรือไม่

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๓:๕๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *