วัตถุ – วัสดุ – พัสดุ (บาลีวันละคำ 2,989)
วัตถุ – วัสดุ – พัสดุ
แปลงรูป แต่ไม่อาจเปลี่ยนราก
“วัตถุ” อ่านว่า วัด-ถุ
“วัสดุ” อ่านว่า วัด-สะ-ดุ
“พัสดุ” อ่านว่า พัด-สะ-ดุ
ทั้ง 3 คำ ในบาลีเป็นคำเดียวกัน คือ “วตฺถุ”
“วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ว) และ ร ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)
: วสฺ > ว + รตฺถุ > ตฺถุ : ว + ตฺถุ = วตฺถุ
หรือ : วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วตฺถุ
“วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)
(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)
(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)
(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)
(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)
(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)
บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤติ, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”
“วตฺถุ” และ “วสฺตุ” ในบาลีสันสกฤต ไทยเราเอามาใช้เป็น 3 รูป คือ “วัตถุ” (วัด-ถุ) “วัสดุ” (วัด-สะ-ดุ) และ “พัสดุ” (พัด-สะ-ดุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 3 ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) วัตถุ : (คำนาม) สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).
(2) วัสดุ : (คำนาม) วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
(3) พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
คำว่า “วัตถุ” ในพจนานุกรมฯ มีลูกคำอีก 4 คำ ดังนี้ –
(1) วัตถุดิบ : (คำนาม) สิ่งที่เตรียมไว้เพื่อผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าสําเร็จรูป; โดยปริยายหมายถึงเรื่องราว ประสบการณ์ เป็นต้น ที่นักเขียนเสาะหาหรือตระเตรียมสะสมไว้เพื่อแต่งหนังสือ.
(2) วัตถุนิยม : (คำนาม) ทฤษฎีหรือความเชื่อที่ว่าวัตถุเท่านั้นมีอยู่จริง; การให้คุณค่าแก่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม, สสารนิยม ก็ว่า.
(3) วัตถุประสงค์ : (คำนาม) ผลที่ประสงค์ให้บรรลุ เช่น วัตถุประสงค์ของมัธยมศึกษาก็เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ คิดเป็น ทำเป็น และมีคุณธรรม, จุดประสงค์ ก็ว่า.
(4) วัตถุวิสัย : (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ โดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึก; เรียกการสอบแบบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว ว่าการสอบแบบวัตถุวิสัย, ปรนัย ก็ว่า. (อ. objective)
คำว่า “วัสดุ” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บลูกคำไว้ แต่เคยได้ยินมีผู้พูดแบบขยายความว่า “วัสดุสิ้นเปลือง” หมายถึงสิ่งของที่ใช้ไปก็หมดไป เช่น กระดาษ ดินสอ ดังที่พจนานุกรมฯ ยกตัวอย่างไว้ ตรงกันข้ามกับ “ครุภัณฑ์” หมายถึงสิ่งของที่แม้จะใช้สอยไปก็คงรูปอยู่เสมอ แต่อาจผุพังหรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
คำว่า “พัสดุ” ในพจนานุกรมฯ มีลูกคำอีก 2 คำ ดังนี้ –
(1) พัสดุไปรษณีย์ : (คำนาม) หีบห่อบรรจุสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ มีขนาดใหญ่และมีนํ้าหนักมากกว่าไปรษณียภัณฑ์อื่น ๆ หุ้มห่อแน่นหนามั่นคง เหมาะแก่สภาพของสิ่งของและระยะทางที่จะส่งไป.
(2) พัสดุภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของที่บรรจุหีบห่อสําหรับส่งจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง.
อภิปราย :
จะเห็นได้ว่า คำเดียวกันรากศัพท์เดียวกันในบาลีสันสกฤต เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยและแปลงรูปเสียใหม่ ความหมายของแต่ละคำที่แปลงใหม่ก็แตกต่างกันชนิดที่ใช้แทนกันไม่ได้
เช่นคำว่า “วัตถุดิบ” ถ้าเปลี่ยนเป็น “วัสดุดิบ” หรือ “พัสดุดิบ” ก็จะไม่มีใครเข้าใจว่าคืออะไร ทั้งๆ ที่ “วัสดุ” และ “พัสดุ” ก็มาจาก “วัตถุ” คำเดียวกันนั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำบางคำเปลี่ยนรูปได้ เปลี่ยนความหมายได้
: คนบางคนเปลี่ยนรูปได้ แต่เปลี่ยนสันดานไม่ได้
#บาลีวันละคำ (2,989)
18-8-63