อินทรธนู (บาลีวันละคำ 2,990)
อินทรธนู
ไม่ยักใช่ธนูของพระอินทร์
อ่านว่า อิน-ทะ-นู
ประกอบด้วยคำว่า อินทร + ธนู
(๒) “อินทร”
“อินทร” เป็นรูปสันสกฤต บาลีเป็น “อินฺท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
(2) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
“อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”
“อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“อินทร์ : ผู้เป็นใหญ่, จอมเทพ, ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเทพชั้นจาตุมหาราชิกา; เรียกตามนิยมในบาลีว่า ท้าวสักกะ.”
(๒) “ธนู”
บาลีเป็น “ธนุ” (ทะ-นุ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ธนฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย
: ธนฺ + อุ = ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่ทำเสียงได้”
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อุ ปัจจัย, แปลง ห เป็น ธ
: หนฺ + อุ = หนุ > ธนุ แปลตามศัพท์ว่า “อาวุธที่เบียดเบียนสัตว์”
“ธนุ” (นปุงสกลิงค์) เป็นคำที่เราใช้ทับศัพท์ว่า ธนู (a bow)
โปรดสังเกต บาลีเป็น “ธนุ” สระ อุ แต่ไทยเราใช้เป็น “ธนู” สระ อู
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธนู : (คำนาม) ชื่ออาวุธชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคันธนูซึ่งมีสายขึงอยู่ระหว่างปลายคันธนูทั้ง ๒ ข้าง สำหรับน้าวยิง และลูกธนูที่มีปลายแหลม; ชื่อกลุ่มดาวรูปธนู เรียกว่า ราศีธนู เป็นราศีที่ ๘ ในจักรราศี; ชื่อดาวฤกษ์อนุราธา. (ป. ธนุ).”
อินฺท + ธนุ = อินฺทธนุ (อิน-ทะ-ทะ-นุ) แปลตามศัพท์ว่า “ธนูของพระอินทร์” ในบาลีหมายถึง สายรุ้ง หรือรุ้งกินน้ำ (the rainbow)
บาลี “อินฺทธนุ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อินทรธนู”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินทรธนู รุ้ง (แถบสีโค้งบนท้องฟ้า); เครื่องประดับบ่าอย่างหนึ่งเพื่อแสดงยศเป็นต้น; ชื่อลายขอบที่เป็นกระหนก.”
ข้อสังเกต :
๑ คำว่า “อินทรธนู” ถ้าอ่านเรียงพยางค์ควรจะอ่านว่า อิน-ทฺระ-ทะ-นู แต่เรามักออกเสียงกันว่า อิน-ทะ-นู ไม่ทราบว่า -ทะ- คำนั้นเป็น “อิน-ทะ” (พระอินทร์) หรือว่าเป็น “ทะ-นู” (ธนู) กันแน่ นับว่าเป็นการออกเสียงแบบตีขลุมหรือตีกินได้ชนิดหนึ่ง
๒ ตามศัพท์ “อินทรธนู” แปลว่า “ธนูของพระอินทร์” แต่หมายถึง รุ้งกินน้ำ
๓ ในภาษาไทย “อินทรธนู” ใช้ในความหมายว่ารุ้งกินน้ำด้วย และยังขยายความหมายเป็น (1) เครื่องประดับบ่าอย่างหนึ่งเพื่อแสดงยศเป็นต้น (2) ชื่อลายขอบที่เป็นกระหนก
๔ ในภาษาไทย ถ้าพูดว่า “อินทรธนู” จะเข้าใจกันว่าหมายถึง “เครื่องประดับบ่า” เป็นส่วนมาก คงไม่มีใครนึกว่า “อินทรธนู” หมายถึง สายรุ้งหรือรุ้งกินน้ำ
๕ ความหมายที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชื่อลายขอบที่เป็นกระหนก” น่าจะมีภาพประกอบด้วยว่าคือลายแบบไหน เพราะคนส่วนมากน่าจะไม่รู้จัก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แต่คำเดียวเจียวยังกลายเป็นหลายกล
: นี่หรือคนจะมิกลายเป็นหลายใจ
#บาลีวันละคำ (2,990)
19-8-63