บาลีวันละคำ

พาหุยุทธ์ (บาลีวันละคำ 2,999)

พาหุยุทธ์

ไม่ต้องมีอาวุธก็สู้กันได้

อ่านว่า พา-หุ-ยุด

ประกอบด้วยคำว่า พาหุ + ยุทธ์

(๑) “พาหุ

อ่านว่า พา-หุ รากศัพท์มาจาก วหฺ (ธาตุ = นำไป) + ณุ ปัจจัย, ลบ (ณุ > อุ), “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(หฺ) เป็น อา (วหฺ > วาห), แปลง เป็น

: วหฺ + ณุ = วหณุ (> วหอุ) > วหุ > วาหุ > พาหุ (ปุงลิงค์; อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำไป” หมายถึง แขน (the arm)

ข้อสังเกต:

คำแปลตามศัพท์ที่ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำไป” นั้น ขอให้สังเกตเวลาคนเดิน แขนจะแกว่งตามธรรมชาติของการเคลื่อนไหว การที่แขนแกว่งไปมานั่นเองเป็นอาการที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่ไปได้ (ถ้าสังเกตการว่ายน้ำจะยิ่งเห็นชัด)

(๒) ยุทธ์

เขียนแบบบาลีเป็น “ยุทฺธ” โปรดสังเกตว่ามีจุดใต้ ทฺ อ่านว่า ยุด-ทะ รากศัพท์มาจาก ยุธฺ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺต (คือ – ที่ ยุธฺ + ปัจจัย) เป็น ทฺธ

: ยุธฺ + = ยุธฺต (ธฺต > ทฺธ) = ยุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “การต่อสู้กัน” หมายถึง สงคราม, การรบ, การต่อสู้ (war, battle, fight)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยุทธ-, ยุทธ์ : (คำนาม) สงคราม, การรบพุ่ง. (ป., ส.).”

พาหุ + ยุทธ์ = พาหุยุทธ์ แปลตามศัพท์ว่า “รบด้วยแขน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พาหุยุทธ์ : (คำนาม) การต่อสู้ด้วยแขน, การชกมวย, การปลํ้า. (ป.).

อภิปราย :

ค้นดูในคัมภีร์ ยังไม่พบคำบาลี “พาหุยุทฺธ” (พา-หุ-ยุด-ทะ)

คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ “พาหุยุทฺธ” ที่พบในคัมภีร์คือ “มลฺลยุทฺธ” (มัน-ละ-ยุด-ทะ)

มลฺล” แปลว่า นักมวยปล้ำ (a wrestler)

มลฺลยุทฺธ” แปลว่า การสู้กันของนักมวยปล้ำ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “ยุทฺธ” แปล “มลฺลยุทฺธ” ว่า fist-fight (การตะลุมบอน) แต่ที่คำว่า “มลฺล” แปลว่า wrestling contest (การแข่งขันมวยปล้ำ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็ไม่มีคำว่า “พาหุยุทฺธ” แต่มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ “พาหุปฺรหรณ” บอกไว้ดังนี้ –

พาหุปฺรหรณ : (คำนาม) ‘พาหุประหรณ์,’ ผู้ตี, ผู้ชกต่อย; มวย, มวยปล้ำ; a striker, a boxer; boxing, wrestling.”

เมื่อเห็นคำว่า “พาหุยุทธ์” หลายคนน่าจะมีจิตประหวัดไปถึงคำว่า “พายุ” ทั้งๆ ที่ในคำนี้ไม่มีคำว่า “พายุ” และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “พายุ” เลย ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะคนส่วนมากไม่คุ้นกับคำว่า “พาหุ” แต่คุ้นกับคำว่า “พายุ” มากกว่า ประกอบกับพยางค์ต่อไปมีคำว่า “ยุ-” อยู่ใกล้กัน ตาจึงชวนจิตให้ประหวัดไปถึงคำว่า “พายุ” ได้ง่าย

ที่ว่ามานี้เป็นเพียงข้อสังเกตสนุกๆ เท่านั้น

พาหุยุทธ์ = รบด้วยแขน” หมายถึง การต่อสู้ที่ใช้แขนเป็นอาวุธกระทำเอากับคู่ต่อสู้โดยที่มือไม่ได้ถืออาวุธใดๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สู้กันด้วยมือเปล่า พจนานุกรมฯ จึงไขความต่อไปว่า “การชกมวย, การปลํ้า”

แรกเห็นคำว่า “พาหุยุทธ์” ในเพจของครูมวยท่านหนึ่งในราชบุรี ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจไปเองว่า คงมีคนในวงการมวยคิดประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเอง แต่เมื่อไปเปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็พบว่ามีคำว่า “พาหุยุทธ์” เก็บไว้ด้วย ย้อนดูต่อไปก็ปรากฏว่าคำนี้มีเก็บไว้แล้วตั้งแต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แต่จะมีเก็บไว้ตั้งแต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.ไหน ยังไม่ได้ตรวจสอบย้อนหลังขึ้นไปอีก

ญาติมิตรท่านใดมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.ก่อนๆ อยู่ในมือ ขอแรงช่วยกันตรวจสอบให้เป็นวิทยาทาน ก็จะเป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พันมือถืออาวุธที่โง่เขลา

: ไม่เท่าสองมือเปล่าที่มีปัญญา

—————

หมายเหตุ: บาลีวันละคำวันนี้จะมีคนตีความเตลิดไปอีกไหมว่า ผู้เขียนบาลีวันละคำคัดค้านการซื้อเรือดำน้ำ

#บาลีวันละคำ (2,999)

28-8-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *