บาลีวันละคำ

ปราชญ์เปรื่อง (บาลีวันละคำ 1,926)

ปราชญ์เปรื่อง

กำลังจะผิดจนถูกไปอีกคำหนึ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “ปราชญ์” บอกไว้ว่า –

ปราชญ์ : (คำนาม) ผู้มีปัญญารอบรู้. (ส. ปฺราชฺญ).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็น –

ปราชญ์ : (คำนาม) ผู้มีปัญญารอบรู้. (ส.).”

โปรดสังเกตความต่างกันตรงที่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “(ส. ปฺราชฺญ)” ฉบับ 2554 ตัดคำว่า “ปฺราชฺญ” ออกไป บอกเพียง “(ส.)”

อ่านใจพจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “(ส. ปฺราชฺญ)” คือบอกว่า คำที่เราใช้ว่า “ปราชญ์” สันสกฤตสะกดว่า “ปฺราชฺญ” (มีจุดใต้ และ ) คือบอกรูปสันสกฤตให้ดูด้วย ส่วนพจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 บอกเพียง “(ส.)” คือบอกว่า คำที่เราใช้ว่า “ปราชญ์” เป็นคำสันสกฤต-แค่นี้ รูปคำสันสกฤตสะกดอย่างไรไม่จำเป็นต้องรู้ จึงไม่จำเป็นต้องบอกไว้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ปราชญ์เปรื่อง” ไว้ แต่มีคำว่า “ปราดเปรื่อง” บอกไว้ว่า –

ปราดเปรื่อง : (คำวิเศษณ์) มีความคิดแคล่วคล่องว่องไว, เปรื่องปราด ก็ว่า.”

เป็นอันว่าคำนี้ใช้ว่า “ปราดเปรื่อง” ไม่ใช่ “ปราชญ์เปรื่อง” อย่างที่มักมีผู้ชอบเขียน

ปราดเปรื่อง” คือ “ปราด-” ที่เป็นคำไทย ไม่ใช่ “ปราชญ์-” ที่มาจากสันสกฤต

เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ดูคำที่เกี่ยวข้อง พบคำดังต่อไปนี้ –

(1) ปราด, ปร๊าด : (ภาษาปาก) (คำกริยา) เดินหรือวิ่งตรงเข้าไปหรือออกมาอย่างรวดเร็ว เช่น ปราดเข้าไป ปร๊าดออกมา. (คำวิเศษณ์) อาการที่เดินหรือวิ่งตรงเข้าไปหรือออกมาอย่างรวดเร็ว เช่น เดินปราด วิ่งปร๊าด.

(2) ปราดเปรียว : (คำวิเศษณ์) ว่องไว, คล่องแคล่ว.

(3) ปรู๊ดปร๊าด : (คำวิเศษณ์) อาการที่เคลื่อนไหวอย่างว่องไว รวดเร็ว เช่น รถแล่นปรู๊ดปร๊าด.

(4) เปรื่อง : (คำกริยา) เชี่ยวชาญ, ปรุโปร่ง, แตกฉาน, เช่น ปัญญาเปรื่อง สมองเปรื่อง. (คำวิเศษณ์) เสียงดังอย่างเสียงถ้วยชามกระทบกันหรือตกแตก.

ย้ำยืนยันว่า “ปราดเปรื่อง” ไม่ใช่ “ปราชญ์เปรื่อง” อย่างที่มักเขียนผิด

ถึงจะเขียนผิดพลาด ก็ควรถือเป็นโอกาสหาความรู้ต่อไปว่า “ปราชญ์” บาลีสันสกฤตว่าอย่างไร

ปราชญ์” อ่านว่า ปฺราด (ปร ควบกล้ำ) เหมือนคำไทย “ปราด

ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺราชฺญ” ขอคัดมาทั้งหมดดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปราชญ์’ หมั่นค้น; ฉลาด; patient in investigation; wise;- (คำนาม) บัณฑิต, นรผู้คงแก่เรียนหรือฉลาด; นรผู้เฉลียวฉลาด; โพธ, พุทธิ, ความรู้; สตรีผู้ฉลาด; วธูของบัณฑิต; a Paṇḍit, a learned or wise man; a skilful man; knowledge, understanding; an intelligent woman; the wife of a Paṇḍit.”

คำว่า “ปฺราชฺญ” เทียบบาลีเป็น “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) คำเดียวกับ “ปญฺญา

ปญฺญา” รากศัพท์มาจาก + ญา ซ้อน ญฺ : + ญฺ + ญา = ปญฺญา

(ปะ) มีความหมายว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก

ญา แปลว่า “รู้

 “ปัญญา” จึงมีความหมายว่า :

– “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

– “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)

– “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

 – “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

หลักภาษา :

(1) ปญฺญา เป็นคำนาม แปลว่า “ความรู้” เรานิยมทับศัพท์ว่า ปัญญา

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง “ผู้มีปัญญา” แจกรูปตามคำเพศชาย เอกพจน์ รูปคำจะเป็น “ปญฺโญ” (ปัน-โย)

(3) ปญฺโญ รูปก่อนแจก คือ “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) ก็คือ “ปญฺญา” นั่นเอง แต่แปลงรูปจาก “ปญฺญา” (คำนาม) กลายเป็น “ปญฺญ” (คุณศัพท์) ซึ่งตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺราชฺญ

(4) ถ้ารูปเดิมยังเป็น “ปญฺญา” (คำนาม ไม่ใช่คุณศัพท์) สันสกฤตจะเป็น “ปฺราชฺญา” ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ปรัชญา

(5) ปญฺญา <> ปรัชญา : ปญฺญ <> ปราชญ์

คำว่า “ปราชญ์” มีความหมายเดียวกับ “บัณฑิต” ซึ่งแปลว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” ความหมายเดิมในบาลีมิได้หมายถึงผู้มีความรู้วิชาการเท่านั้น แต่มุ่งถึงผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี มีวิจารณญาณ เว้นทางผิด ดำเนินทางถูก มั่นคงในคุณธรรม สามารถยึดถือเป็นแบบแผนในการวางตัวและดำเนินชีวิตของคนทั้งหลายได้

……………

พระพุทธจน์ :

โย  พาโล  มญฺญตี  พาลฺยํ

ปณฺฑิโต  วาปิ  เตน  โส

พาโล  จ  ปณฺฑิตมานี

ส  เว  พาโลติ  วุจฺจติ.

ผู้ใดเป็นคนเขลา มาสำนึกตัวได้ว่ายังเขลาอยู่

เพราะเหตุนั้นเขาพอจะเป็นปราชญ์ได้บ้าง

แต่ผู้ใดเป็นคนเขลา มาสำคัญตนว่าเป็นปราชญ์

ผู้นั้นนับว่าเป็นคนเขลาแท้

ที่มา: พาลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๕

……………

ดูก่อนภราดา!

: เพียงแค่ยอมรับว่าตัวเองยังไม่ฉลาด

: ก็เป็นปราชญ์ทันที

17-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย