มัธยัสถ์ – มัจฉริยะ (บาลีวันละคำ 2,998)
มัธยัสถ์ – มัจฉริยะ
หน้าตาคล้ายกัน แต่คนละคำ
(๑) “มัธยัสถ์”
อ่านว่า มัด-ทะ-ยัด เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “มชฺฌฏฺฐ” อ่านว่า มัด-ชัด-ถะ ประกอบขึ้นจาก มชฺฌ + ฐา ธาตุ
(ก) “มชฺฌ” (มัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก มชฺ (ธาตุ = บริสุทธิ์, สะอาด) + ฌ ปัจจัย
: มชฺ + ฌ = มชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่หมดจด”
“มชฺฌ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (นปุงสกลิงค์) ตรงกลาง, กลาง ๆ, สามัญ, มัธยม, สายกลาง (middle, medium, mediocre, secondary, moderate)
(2) (ปุงลิงค์) สะเอว (the waist)
(ข) มชฺฌ + + ฐา (ธาตุ = ดำรงอยู่) ซ้อน ฏ + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, รัสสะ อา ที่ ฐา เป็น อะ (ฐา > ฐ)
: มชฺฌ + ฏ + ฐา = มชฺฌฏฺฐา + กฺวิ = มชฺฌฏฺฐากฺวิ > มชฺฌฏฺฐา > มชฺฌฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ดำรงอยู่ในท่ามกลาง” หมายถึง ตรงกลาง, กลาง ๆ, สามัญ, มัธยม, สายกลาง (middle, medium, mediocre, secondary, moderate)
บาลี “มชฺฌฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “มธฺยสฺถ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“มธฺยสฺถ : (คำวิเศษณ์) ‘มัธยัสถ์,’ อันตั้งอยู่กลาง, กลาง; centrical, middle; – น. คนกลาง; an umpire, a mediator.”
ในภาษาไทย ใช้ตามสันสกฤตเป็น “มัธยัสถ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัธยัสถ์ : (คำกริยา) ใช้จ่ายอย่างประหยัด. (ส. มธฺยสฺถ ว่า ปานกลาง, ตั้งอยู่ในท่ามกลาง).”
(๒) “มัจฉริยะ”
อ่านว่า มัด-ฉะ-ริ-ยะ เขียนแบบบาลีเป็น “มจฺฉริย” ประกอบขึ้นจาก มจฺฉร + อิย ปัจจัย
(ก) “มจฺฉร” อ่านว่า มัด-ฉะ-ระ รากศัพท์มาจาก มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + จฺฉร ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (มสฺ > ม)
: มสฺ + จฺฉร = มสจฺฉร > มจฺฉร
“มจฺฉร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การจับต้องด้วยตัณหา” หมายถึง ความโลภ, ความอิจฉาริษยา, ความตระหนี่ (avarice, envy)
(2) (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตระหนี่” หมายถึง ขี้เหนียว, อิจฉาริษยา, ตระหนี่, เห็นแก่ตัว (niggardly, envious, selfish)
(ข) มจฺฉร + อิย ปัจจัย
: มจฺฉร + อิย = มจฺฉริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การจับต้องด้วยตัณหา” (2) “ภาวะของคนตระหนี่” หมายถึง ความโลภอยากได้, ความขี้ตืด, ความเห็นแก่ตัว, ความริษยา (avarice, stinginess, selfishness, envy)
ในภาษาไทย ใช้ตามบาลีเป็น “มัจฉริยะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัจฉริยะ : (คำนาม) ความตระหนี่. (ป.; ส. มาตฺสรฺย).”
อภิปราย :
“มัธยัสถ์” กับ “มัจฉริยะ” รูปและเสียงใกล้เคียงกัน แต่ความหมายต่างกัน
“มัธยัสถ์” คือประหยัด
“มัจฉริยะ” คือตระหนี่
บางคนเข้าใจไปว่า 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน คือ “ตระหนี่” นั่นแหละคือ “ประหยัด” หรือ “ประหยัด” นั่นแหละคือ “ตระหนี่”
อันที่จริง 2 คำนี้มีความหมายต่างกันจนอาจกล่าวได้ว่าอยู่คนละขั้ว
ประหยัด หมายถึง ใช้จ่ายตามความจำเป็น คือถ้าเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว เท่าไรก็ยอมจ่าย ไม่กลัวว่าจะหมดเปลือง
ส่วนตระหนี่ หมายถึง แม้จำเป็นก็ไม่ยอมจ่าย คือขี้เหนียวหรือห่วงแหนอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร อาจมีเหตุผล แต่พิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ไม่สมควร
หลักสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จำเป็นหรือไม่จำเป็น จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนบางคนก็เหมือนคำบางคำ
: ดูหน้าเป็นยองใย แต่ดูใจ-ระยำ
—————–
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sunant Ruchiwet Phramaha ผู้ที่ใจกับวาจาตรงกัน)
#บาลีวันละคำ (2,998)
27-8-63