บาลีวันละคำ

อุปัชฌาย์ (บาลีวันละคำ 3,020)

อุปัชฌาย์

จุดคัดกรองสมาชิกในคณะสงฆ์

อ่านว่า อุ-ปัด-ชา

อุปัชฌาย์” บาลีเป็น “อุปชฺฌาย” อ่านว่า อุ-ปัด-ชา-ยะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + เฌ (ธาตุ = เพ่งพินิจ) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน ชฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (อุป + ชฺ + เฌ), แปลง เอ ที่ เฌ เป็น อาย (เฌ > ฌาย)

: อุป + ชฺ + เฌ = อุปชฺเฌ + = อุปชฺเฌณ > อุปชฺเฌ >อุปชฺฌาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ใส่ใจเข้าไปแสวงหาประโยชน์แก่ศิษย์แล้วเพ่งดู” “ผู้เข้าไปเพ่งโทษน้อยใหญ่” (หมายถึงคอยดูแลความถูกผิดของเหล่าศิษย์เพื่อแนะนำสั่งสอน)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปชฺฌาย” ว่า a spiritual teacher or preceptor, master (ผู้สอนธรรม, อุปัชฌาย์, ครู, พระเถระ)

บาลี “อุปชฺฌาย” สันสกฤตเป็น “อุปาธฺยาย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อุปาธฺยาย : (คำนาม) ครูผู้สั่งสอนธรรม; a spiritual preceptor.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “อุปัชฌาย-” (มีคำอื่นมาสามาข้างท้าย) “อุปัชฌาย์” และ “อุปัชฌายะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปัชฌาย-, อุปัชฌาย์, อุปัชฌายะ : (คำนาม) พระเถระผู้เป็นประธานการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. อุปาธฺยาย).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

อุปัชฌาย์, อุปัชฌายะ : “ผู้เพ่งโทษน้อยใหญ่” หมายถึงผู้รับรองกุลบุตรเข้ารับการอุปสมบทในท่ามกลางภิกษุสงฆ์, เป็นทั้งผู้นำเข้าหมู่ และเป็นผู้ปกครองคอยดูแลผิดและชอบ ทำหน้าที่ฝึกสอนอบรมให้การศึกษาต่อไป; อุปัชฌาย์ในฝ่ายภิกษุณี เรียกว่า ปวัตตินี

ขยายความ :

โปรดสังเกตว่า ความหมายของ “อุปัชฌาย์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้เพียงอย่างเดียว คือ “พระเถระผู้เป็นประธานการบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนา

ความจริงแล้ว “อุปัชฌาย์” มีความหมายมากกว่านั้น ดังที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ขยายความไว้ย่อๆ

คุณสมบัติและหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ยังมีมากกว่าที่เรารู้กัน ขอยกส่วนหนึ่งที่ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎกมาเสนอ ดังนี้ –

…………..

อุปชฺฌาเยน  ภิกฺขเว  สทฺธิวิหาริโก  สงฺคเหตพฺโพ  อนุคฺคเหตพฺโพ  อุทฺเทเสน  ปริปุจฺฉาย  โอวาเทน  อนุสาสนิยา  ฯ

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 82

ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงสงเคราะห์ พึงอนุเคราะห์สัทธิวิหาริก ด้วยอุเทศ (สอนพุทธพจน์-หลักธรรมวินัย) ด้วยปริปุจฉา (ซักถามสอบค้นให้รู้เข้าใจพุทธพจน์-หลักธรรมวินัยอย่างชัดเจน ท่านเน้นอรรถกถา) ด้วยให้โอวาท (สั่งสอนว่ากล่าวตักเตือน) และด้วยอนุสาสนี (แนะนำพร่ำสอน)

ที่มาคำแปล: ตอบเรื่อง พ.ร.บ. คณะสงฆ์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

…………..

ส่วนที่เป็นคุณสมบัติของพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเก็บความจากบาลีพระไตรปิฎกประมวลไว้ดังนี้ –

…………..

ภิกษุผู้มีพรรษาครบ 10 แล้ว ได้ชื่อว่าเถระ แปลว่า ผู้หลักผู้ใหญ่, มีองคสมบัติอาจปกครองผู้อื่นได้ ทรงพระอนุญาตให้เป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบท เป็นอาจารย์ให้นิสัย มีสามเณรไว้อุปัฏฐากที่แปลว่าให้บรรพชาเป็นสามเณรได้ เรียกปริสุปัฏฐาปกะ แปลว่าผู้ให้บริษัทอุปัฏฐากหรือผู้ใช้บริษัท ถือเอาความว่าผู้ปกครองบริษัท

ฝ่ายภิกษุผู้ขาดองคสมบัติ แม้มีพรรษาครบกำหนดแล้วก็ไม่ทรงพระอนุญาต

องคสมบัติที่กำหนดไว้ในบาลีที่เพิ่มจากองค์ของภิกษุมัชฌิมะผู้นิสัยมุตกะดังนี้:-

อาจจะพยาบาลเองหรือสั่งผู้อื่นให้พยาบาลสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกผู้อาพาธ

อาจจะระงับเองหรือหาผู้อื่นให้ช่วยระงับความกระสันคือไม่ยินดีในพรหมจรรย์ของสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก

อาจจะบรรเทาเองหรือหาผู้อื่นให้ช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายอันเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริกอันเตวาสิกโดยทางธรรม

รู้จักอาบัติ รู้จักวิธีออกจากอาบัติ

อาจจะฝึกปรือสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกในสิกขาเป็นส่วนอภิสมาจารคือมารยาท

อาจจะแนะนำสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกในสิกขาเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือพระบัญญัติอันเป็นหลักแห่งการประพฤติพรหมจรรย์

อาจจะแนะนำในธรรมในวินัยอันยิ่งขึ้นไป

อาจจะเปลื้องทิฐิผิดอันเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริกอันเตวาสิกโดยทางธรรม

ที่มา: วินัยมุข เล่ม 2 หน้า 50-51

…………..

ถ้าพระอุปัชฌาย์มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตามที่กำหนด และทำหน้าที่อบรมสั่งสอนภิกษุที่ตนรับเข้ามาในพระศาสนาอย่างเข้มแข็ง ไม่ปล่อยปละละเลย พระศาสนาก็จะมีสมาชิกที่งดงาม เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนตลอดไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เวลาเห็นพระสงฆ์ประพฤติผิด

: อย่าลืมส่งกระแสจิตไปเตือนพระอุปัชฌาย์

#บาลีวันละคำ (3,020)

18-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย