บาลีวันละคำ

วชิรปราการ (บาลีวันละคำ 3,121)

วชิรปราการ

เกรงว่าอีกไม่นานเขาก็จะลืม

อ่านว่า วะ-ชิ-ระ-ปฺรา-กาน

ประกอบด้วยคำว่า วชิร + ปราการ

(๑) “วชิร

บาลีอ่านว่า วะ-ชิ-ระ รากศัพท์มาจาก วชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย

: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) (2) “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง

ตามคำแปลตามศัพท์ “วชิร” หมายถึง สายฟ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บคำว่า “วชิร” (vajira) ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) vajira1 : a thunderbolt; usually with ref. to Sakka’s [=Indra’s] weapon (อสนีบาต, ตามปกติเกี่ยวถึงอาวุธของท้าวสักกะ [พระอินทร์])

(2) vajira2 : a diamond (เพชร)

สรุปว่า “วชิร” ในภาษาบาลีหมายถึง –

(1) อสนีบาต หรือสายฟ้า (a thunderbolt) ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์”

(2) แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่นๆ นั่นคือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เพชร” (diamond)

บาลี “วชิร” สันสกฤตเป็น “วชฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วชฺร : (คำวิเศษณ์) ‘วัชร,’ แข็ง, อันแทงไม่ทลุตลอด; อันมีง่าม; hard, impenetrable; forked; (คำนาม) – กุลิศ, อศนิ (หรือ อศนี), อศนิบาต; ศรพระอินทร์; เพ็ชร์; เด็กหรือศิษย์; ปรุษศัพท์, ปรุษวาจ; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; กุศฆาส, หญ้ากุศะ; a thunder-bolt; the thunder-bolt of Indra; diamond; a child or pupil; harsh language; one of the astronomical Yogas; Kuśa grass.”

จะเห็นว่า “วชฺร” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างว่า “วชิร” ในบาลี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วชิร-, วชิระ : (คำนาม) สายฟ้า; เพชร; อาวุธพระอินทร์. (ป.; ส. วชฺร).”

(๒) “ปราการ

บาลีเป็น “ปาการ” อ่านว่า ปา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก จาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ เป็น อา ( > ปา), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: + กรฺ = ปกรฺ + = ปกรณ > ปกร > ปากร > ปาการ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสร้างไว้โดยรอบ” หมายถึง ปราการ, กำแพง, รั้ว, เครื่องป้องกัน (an encircling wall, put up for obstruction and protection, a fence, rampart)

บาลี “ปาการ” สันสกฤตเป็น “ปฺราการ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ปฺราการ : (คำนาม) ‘ปราการ,’ รั้ว, กำแพง, เชิงเทินหรือมูลดินอันแวดล้อมที่มั่น; a fence, a rampart or mount surrounding a fortified place.”

บาลี “ปาการ” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ปราการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปราการ : (คำนาม) กําแพงสําหรับป้องกันการรุกราน. (ส. ปฺราการ; ป. ปาการ).”

วชิร + ปาการ = วชิรปาการ (วะ-ชิ-ระ-ปา-กา-ระ) > วชิรปราการ (วะ-ชิ-ระ-ปฺรา-กาน) แปลความว่า “กำแพงอันทำด้วยเพชร” หรือ “กำแพงอันแข็งแกร่งประดุจเพชร

ในที่นี้ “วชิร” คงไม่ได้หมายถึง “สายฟ้า” เพราะสายฟ้าน่าจะเอามาทำเป็นกำแพงไม่ได้! และคำไทยที่ว่า “กำแพงเพชร” ก็ยืนยันอยู่ คือไม่ใช่ “กำแพงสายฟ้า”

ขยายความ :

คำว่า “วชิรปราการ” ในที่นี้มุ่งหมายถึง “พระยาวชิรปราการ” ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นตำแหน่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เมื่อยังทรงรับราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2

ประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่งบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

ขณะที่พระยาตากได้ว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณ ณ เมืองตากนั้น คณะกรมการเมืองกำแพงเพชรได้มีใบบอกมายังกรุงศรีอยุธยาว่า พระยาวชิรปราการผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรได้ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงให้หาตัวพระยาตาก (สิน) ลงมาเฝ้ายังกรุงศรีอยุธยา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาตาก (สิน) ขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่หลังจากได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้วยังหาได้ทันขึ้นไปครองเมืองดังกล่าวไม่ พอดีมีข่าวศึกพม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ.๒๓๐๗ ครั้นเสร็จศึกพม่าครั้งนี้แล้ว พระยาวชิรปราการ (สิน) ยังคงอยู่ช่วยราชการในกรุง จนเวลาล่วงไปอีกหกเดือนพม่าก็ยกกองทัพเข้ามาอีก เมื่อเดือน ๑๒  พ.ศ.๒๓๐๘ อันเป็นสงครามครั้งที่สำคัญที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าข้าศึกไปเป็นครั้งที่ ๒

ที่มา: พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

แหล่งที่มาคือ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี หัวข้อเรื่อง “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เอกสารอ้างอิงหมายเลข 7 ไฟล์ PDF มีตั้งแต่หน้า 13 เป็นต้นไป ไม่มีปกหนังสือและต้นเล่ม และไม่ทราบนามผู้เขียน ข้อความที่ยกมานี้ปรากฏอยู่ในหน้า 19

…………..

28 ธันวาคม

วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม้คาน …

: เป็นของรกรุงรังสำหรับคนรุ่นเหลนหลาน

: แต่เป็นสิ่งมีบุญคุณมหาศาลสำหรับคนรุ่นที่มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ

#บาลีวันละคำ (3,121)

28-12-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย