สังคามวิชัย – ธรรมวิชัย (บาลีวันละคำ 3,022)
สังคามวิชัย – ธรรมวิชัย
ชนะแบบไหนประเสริฐกว่ากัน
อ่านว่า สัง-คา-มะ-วิ-ไช / ทำ-มะ-วิ-ไช
ปะกอบด้วยคำว่า “สังคาม” “ธรรม” “วิชัย”
(๑) “สังคาม”
บาลีเป็น “สงฺคาม” อ่านว่า สัง-คา-มะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (คมฺ > คาม)
: สํ + คมฺ = สํคมฺ + ณ = สํคมณ > สํคม > สํคาม > สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “ไปพร้อมกัน” “รวบรวมกันไป”
(2) สงฺคาม (ธาตุ = ต่อสู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: สงฺคาม + อ = สงฺคาม แปลตามศัพท์ว่า “ต่อสู้กัน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺคาม” (ปุงลิงค์) ตามศัพท์ว่า “collection” (การรวบรวม)
บาลี “สงฺคาม” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺราม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สงฺคฺราม : (คำนาม) ‘สังครามะ, สงคราม,’ ยุทธ์, การรบ; war, battle.”
บาลี “สงฺคาม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สงคราม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สงคราม : (คำนาม) การรบใหญ่ที่มีคนจำนวนมากต่อสู้ฆ่าฟันกัน, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สงครามชีวิต สงครามปาก. (ส. สํคฺราม; ป. สงฺคาม).”
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)
(๓) “วิชัย”
บาลีเป็น “วิชย”อ่านว่า วิ-ชะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ชิ > เช > ชย)
: วิ + ชิ = วิชิ > วิเช > วิชย + อ = วิชย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การชนะอย่างวิเศษ” หมายถึง ชัยชนะ; ความมีชัย, การปราบหรือพิชิต (victory; conquering, mastering; triumph over)
ในภาษาไทยใช้เป็น “วิชย-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) และ “วิชัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชย-, วิชัย : (คำนาม) ความชนะ, ชัยชนะ. (ป., ส.).”
การประสมคำ :
(๑) สงฺคาม + วิชย = สงฺคามวิชย (สัง-คา-มะ-วิ-ชะ-ยะ) > สังคามวิชัย แปลว่า “ชัยชนะที่ได้มาด้วยวิธีแห่งสงคราม”
(๒) ธมฺม + วิชย = ธมฺมวิชย (ทำ-มะ-วิ-ชะ-ยะ) > ธรรมวิชัย แปลว่า “ชัยชนะที่ได้มาด้วยวิธีแห่งธรรม”
อภิปรายขยายความ :
“สังคามวิชัย” และ “ธรรมวิชัย” เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับประวัติพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป
เมื่อขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงใช้นโยบาย “สังคามวิชัย” คือทำสงครามอย่างโหดเหี้ยม จนได้รับสมัญญานามว่า “จัณฑาโศก” แปลว่า “อโศกจอมเถื่อน”
ภายหลังทรงกลับพระทัยหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงเปลี่ยนนโยบายการปกครองประเทศเป็น “ธรรมวิชัย” คือเอาชนะใจด้วยธรรม และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง จนได้รับสมัญญานามว่า “ธรรมาโศก” แปลว่า “อโศกจอมธรรม”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เล่าเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชไว้ดังนี้ –
…………..
อโศกมหาราช : มหาราชแห่งชมพูทวีปซึ่งเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ใน พ.ศ.๒๑๘-๒๖๐
เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะ (ปัจจุบันคือดินแดนแถบแคว้น Orissa) ที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย
แต่ในการสงครามนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์สลดพระทัย พอดีได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใส ได้ทรงเลิกการสงคราม หันมาถือหลัก “ธรรมวิชัย” คือชนะใจด้วยธรรม มุ่งทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างสรรค์ประโยชน์สุขของประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทางสันติ
โปรดให้เขียนสลักศิลาจารึก (เรียกว่า “ธรรมลิปิ” คือ ลายสือธรรม หรือธรรมโองการ) ไว้ในที่ต่างๆ ทั่วมหาอาณาจักร เพื่อสื่อพระราชกรณียกิจ พระบรมราโชบาย และสอนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน
ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓และการส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ เช่น พระมหินทเถระไปยังลังกาทวีป และพระโสณะพระอุตตระมายังสุวรรณภูมิ เป็นต้น,
ก่อนทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงปรากฏพระนามว่า จัณฑาโศก คือ อโศกผู้โหดร้าย ครั้นหันมาทรงนับถือพระพุทธศาสนาและดำเนินนโยบายธรรมวิชัยแล้ว ได้รับขนานพระนามใหม่ว่าธรรมาโศก คือ อโศกผู้ทรงธรรม ชาวพุทธไทยแต่เดิมมามักเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช;
เมื่ออินเดียเป็นเอกราชพ้นจากการปกครองของอังกฤษใน พ.ศ.๒๔๙๐ แล้ว ก็ได้นำเอารูปพระธรรมจักร ซึ่งทูนอยู่บนหัวสิงห์ยอดเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่สารนาถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา) มาเป็นตราสัญลักษณ์ที่กลางผืนธงชาติ และใช้รูปสิงห์ทั้งสี่ที่ทูนพระธรรมจักรนั้น เป็นตราแผ่นดินสืบมา
…………..
สรุปว่า –
“สังคามวิชัย” คือเอาชนะกันด้วยกำลัง คนที่ใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าปราบปรามข่มเหงคนที่อ่อนแอ = “ชนะตัวโดยใช้ภัย”
“ธรรมวิชัย” คือเอาชนะกันด้วยคุณธรรมความดีงาม เคารพนับถือยกย่องกันด้วยคุณธรรม = “ชนะใจโดยใช้ธรรม”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าหวังว่าจะชนะใคร
: ถ้ายังแพ้ใจตัวเอง
#บาลีวันละคำ (3,022)
20-9-63