บาลีวันละคำ

หรรษ์รมย์ ในเพลง “เงาไม้” (บาลีวันละคำ 3,023)

หรรษ์รมย์ ในเพลง “เงาไม้”

ถูกเปลี่ยนไปเป็น “ฉันชม

พลเรือตรี โอฬาร นาวานุรักษ์ ถามผู้เขียนบาลีวันละคำว่า เคยได้ยินคำที่ออกเสียงว่า หัน-รม หรือไม่

ผู้เขียนบาลีวันละคำถามว่าสะกดอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า ห ร หัน ษ การันต์ ร ม ย การันต์ = “หรรษ์รมย์

คำว่า “หรรษ์รมย์” อธิบายรูปศัพท์ได้ดังนี้ –

(๑) “หรรษ์

ภาษาไทยอ่านว่า หัน บาลีเป็น “หาส” (หา-สะ) รากศัพท์มาจาก หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง, ยินดี) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (หสฺ > หาส)

: หสฺ + = หสณ > หส > หาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะเป็นเหตุให้ร่าเริง” (2) “ความหัวเราะ” หมายถึง การหัวเราะ; ความขบขัน, ความเพลิดเพลิน (laughter; mirth, joy)

บาลี “หาส” สันสกฤตเป็น “หรฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

หรฺษ : (คำนาม) ปรีติ, ความยินดี, ความสุข; joy, pleasure, happiness.”

ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “หรรษ-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) และ “หรรษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หรรษ-, หรรษา : (คำนาม) ความรื่นเริง, ความยินดี. (ส. หรฺษ).”

ในที่นี้ “หรรษ” การันต์ที่ เป็น “หรรษ์

(๒) “รมย์

คำนี้บาลีเป็น “รมฺม” (รำ-มะ) รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), แปลง มย (คือ มฺ ที่สุดธาตุ และ ปัจจัยที่ลบ ณฺ ออกแล้ว) เป็น มฺม

: รมฺ + ณฺย = รมณฺย > รมฺย > รมฺม แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี” “อันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นรมย์” หมายถึง น่ายินดี, น่าพอใจ, น่ารื่นรมย์, น่าพึงใจ, สวยงาม (delightful, pleasing, charming, pleasant, beautiful)

บาลี “รมฺม” สันสกฤตเป็น “รมฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

รมฺย : (คำวิเศษณ์) ต้องอารมณ์, ประโมทิน, มีความประโมท; งาม; pleasing, delightful; handsome or beautiful.”

โปรดสังเกตลำดับการแปลงรูปของบาลี เป็น “รมฺย” ก่อน แล้วจึงแปลงเป็น “รมฺม” ถ้าไม่แปลงก็จะเป็น “รมฺย” เหมือนสันสกฤต

รมฺย” ในสันสกฤต ภาษาไทยใช้เป็น “รัมย์” และ “รมย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “รัมย์” บอกไว้ว่า “รัมย์” คือ “รมย์” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “รมย์” ไว้ แต่เก็บคำว่า “รื่นรมย์” และ “เริงรมย์” บอกไว้ว่า –

(1) รื่นรมย์ : (คำวิเศษณ์) สบายใจ, บันเทิง, เช่น สวนสาธารณะปลูกต้นไม้ไว้สวยงามน่ารื่นรมย์.

(2) เริงรมย์ : (คำวิเศษณ์) ที่ทำให้รื่นเริงหรือบันเทิงใจ เช่น หนังสือเริงรมย์ สถานเริงรมย์.

หรรษ์ + รมย์ = หรรษ์รมย์ เป็นคำที่ประสมกันขึ้นตามประสงค์ มีความหมายว่า ร่าเริงยินดีจิตใจรื่นรมย์

อภิปรายขยายความ :

หรรษ์รมย์” เป็นคำที่ปรากฏในบทเพลงที่ชื่อว่า “เงาไม้”

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 21 กันยายน 2563 เวลา 21:30) ที่คำว่า “เงาไม้” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

เพลงเงาไม้ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ลูกทุ่ง” ของบริษัทไทยฟิล์ม ประพันธ์คำร้องโดยพระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) ทำนองโดยหม่อมหลวงพวงร้อย สนิทวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2483 ร้องโดยนภา หวังในธรรม

ในปี พ.ศ.2503 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงนำเพลงเงาไม้มาใส่ในภาพยนตร์เรื่อง เรือนแพ ที่อัศวินภาพยนตร์กำลังสร้าง ร้องโดยสวลี ผกาพันธ์ เป็นเพลงประกอบคู่กับเพลงเรือนแพ ซึ่งชรินทร์ นันทนาคร ร้องไว้ด้วย

คำร้อง

แสงจันทร์วันนี้นวล ใคร่ชวนให้น้องเที่ยว

จะให้เหลียวไปแห่งไหน

ชลใสดูในน้ำ เงาดำนั้นเงาใด

อ๋อ ไม้ริมฝั่งชล

สวยแจ่ม…แสงเดือน…

หมู่ปลาเกลื่อนดูเป็นทิว

หรรษ์รมย์…ลมริ้ว…

จอดเรืออาศัยเงาไม้ฝั่งชล

(ซ้ำ)

…………..

เนื้อเพลง “เงาไม้” ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ในปัจจุบันนี้บางคำถูกเปลี่ยนแปลงให้ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ (ขณะนี้ถือว่าเนื้อเพลงตามวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่อ้างข้างต้นเป็นต้นฉบับที่ถูกต้อง จนกว่าจะมีหลักฐานเป็นอย่างอื่น) เช่น –

ใคร่ชวน” เปลี่ยนเป็น “ใครชวน” และ “คล้ายชวน

เหลียวไป” เปลี่ยนเป็น “เลี้ยวไป

และ “หรรษ์รมย์” ถูกเปลี่ยนเป็น “ฉันชม

เฉพาะคำว่า “หรรษ์รมย์” เป็นศัพท์สูง ไม่ใช่ภาษาปาก ไม่ใช่ภาษาเขียนธรรมดา แต่เป็นภาษาร้อยกรอง หรือคำกวี เมื่อคนทั่วไปฟังก็อาจไม่เข้าใจและนึกไม่เห็นว่าคำเช่นนี้จะมีใช้ได้อย่างไร

เพลง “เงาไม้” ที่เอามาร้องกันใหม่ๆ “หรรษ์รมย์” จึงถูกเปลี่ยนเป็น “ฉันชม” เพราะคนเปลี่ยนเข้าใจได้แค่นั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์

: เราก็มีสิทธิ์ที่จะช่วยกันเปลี่ยนให้ถูกต้องดีงาม

#บาลีวันละคำ (3,023)

21-9-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย