วิญญุดา (บาลีวันละคำ 3,030)
วิญญุดา
รู้เดียงสา จำความได้
สูงขึ้นไป คือรู้จักผิดชอบชั่วดี
อ่านว่า วิน-ยุ-ดา
“วิญญุดา” เขียนแบบบาลีเป็น “วิญฺญุตา” อ่านว่า วิน-ยุ-ตา ประกอบด้วยคำว่า วิญฺญู + ตา ปัจจัย
(๑) “วิญฺญู”
อ่านว่า วิน-ยู รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ญา (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคและธาตุ (วิ + ญฺ + ญา), ลบ ร ที่ รู (รู > อู) และ “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ญา (ญา > ญ)
: วิ + ญฺ + ญา = วิญฺญา > วิญฺญ + รู > อู : วิญฺญ + อู = วิญฺญู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งวิเศษเป็นปกติ” หมายถึง ผู้รู้, ผู้คงแก่เรียน, ผู้ฉลาด (intelligent, learned, wise)
บาลี “วิญฺญู” สันสกฤตเป็น “วิชฺญู”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“วิชฺญู : (คำคุณศัพท์) ฉลาด, คงแก่เรียน; wise, learned.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“วิญญู : (คำนาม) ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์. (ป.; ส. วิชฺญู).”
(๒) “ตา”
เป็นศัพท์ประเภท “ปัจจัย” สำหรับลงท้ายคำนาม ตามหลักไวยากรณ์ ตา-ปัจจัยตัวนี้เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (พา-วะ-ตัด-ทิด) แปลว่า “ความเป็น-”
วิญฺญู + ตา รัสสะ อู ที่ –ญู เป็น อุ (วิญฺญู > วิญฺญุ)
: วิญฺญู + ตา = วิญฺญูตา > วิญฺญุตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้รู้สิ่งวิเศษเป็นปกติ” หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี คือความมีดุลยพินิจ (discretion)
ขยายความ :
มนุษย์เราเมื่อแรกเกิดยังไม่รู้เรื่องรู้ราว ที่เรียกว่าไม่รู้เดียงสา ไม่รู้เย็นร้อนหอมเหม็นดีชั่วผิดถูก อะไรกินได้อะไรกินไม่ได้ ท่านกำหนดอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 10 ขวบ เรียกว่า “มันททสกะ” (มัน-ทะ-ทะ-สะ-กะ) แปลว่า “สิบปีอ่อน”
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 3-4-5-6 ขวบ จะย่างเข้าสู่วัยที่คำเก่าเรียกว่า “จำความได้” หรือเริ่มจะรู้เดียงสา คำบาลีพูดว่า “วิญฺญุตํ ปาปุณาติ” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ลุถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา” (to reach the years of discretion or puberty ถึงวัยใคร่ครวญพิจารณา หรือวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว) พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูจะเริ่มบอกสอนให้หัดพูดหัดจำสิ่งต่างๆ
“วิญฺญุตํ” (วิน-ยุ-ตัง) รูปคำเดิมคือ “วิญฺญุตา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้
“วิญฺญุตา” แปลงรูปคำเป็นไทยได้ว่า “วิญญุดา” คือแปลง “-ตา” เป็น “-ดา”
คำเทียบที่เรารู้จักกันดีคือ “ธรรมดา” (ทำ-มะ-ดา) คำนี้บาลีเป็น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) ก็คือ ธมฺม + ตา ปัจจัย เช่นเดียวกับ “วิญฺญุตา” นี่เอง
คำว่า “วิญญุดา” นี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำแปลงรูปศัพท์เอาเอง (อาจจะมีท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งคิดคำนี้ขึ้นมาก่อนแล้วก็เป็นได้) คำนี้ยังไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “วิญญูภาพ” บอกไว้ว่า –
“วิญญูภาพ : (คำนาม) ความเป็นผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ.”
“วิญญุดา” มีความหมายอย่างเดียวกับ “วิญญูภาพ” นั่นเอง แต่รูปคำและเสียงฟังดูดี ความหมายดี เหมาะสำหรับตั้งชื่อสุภาพสตรี
ท่านผู้ใดชอบใจ จะเอาคำว่า “วิญญุดา” ไปตั้งชื่อลูกหลาน ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่สงวนลิขสิทธิ์ เชิญได้ตามสบาย
แถม :
ในประวัติพุทธศาสนา มีบุคคลเป็นอันมากที่ประลุถึงความเป็นผู้รู้ผิดชอบชั่วดีอย่างสูงสุด คือบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หรือเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณร เช่นท่านพระทัพพะ มัลลบุตร เป็นต้น
แต่ที่เจริญวัยจนถึงอายุ 70-80 เพิ่งจะหันมาสนใจพระศาสนาก็มีอยู่เป็นอันมาก เช่นท่านพระพากุลเถระเป็นต้น
นี่แสดงว่า “วิญฺญุตา” หรือ “วิญญุดา” ของมนุษย์แต่ละคนอาจใช้เวลาเริ่มต้นไม่เท่ากัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าหวังถึงขั้นเจ็ดขวบบรรลุธรรม
: บางคนเจ็ดสิบขวบยังคลำหาทางออกไม่เจอ
#บาลีวันละคำ (3,030)
28-9-63