บาลีวันละคำ

วันมหาปวารณา (บาลีวันละคำ 3,034)

วันมหาปวารณา

เรียกกันว่า “วันออกพรรษา” จนเพลินไป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “มหาปวารณา” ไว้ แต่มีคำว่า“ปวารณา” (ปะ-วา-ระ-นา) บอกไว้ว่า –

ปวารณา : (คำกริยา) ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).”

แม้ไม่ได้เก็บคำว่า “มหาปวารณา” แต่พจนานุกรมฯ ก็ยังใช้คำว่า “วันมหาปวารณา” ในคำนิยาม

คนส่วนมากเรียกวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษาว่า “วันออกพรรษา”

พึงทราบว่า กรณีเกี่ยวกับการออกพรรษาที่เราเข้าใจกันนี้ ในคัมภีร์ไม่ได้ใช้คำที่จะแปลได้ว่า “วันออกพรรษา”

ต่างจากกรณีเกี่ยวกับการเข้าอยู่จำพรรษาซึ่งในคัมภีร์มีคำเรียกว่า “วสฺสูปนายิกา” (วัด-สู-ปะ-นิ-ยิ-กา) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” ก็คือที่เราเรียกกันว่า “วันเข้าพรรษา”

ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว คำบาลีเรียกว่า “วุตฺถวสฺส” (วุด-ถะ-วัด-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีกาลฝนอันตนอยู่แล้ว” ถ้าแปลงคำนี้เป็น “วัน” ก็ควรจะเป็น “วุตฺถวสฺสา ติถี” หรือ “วุตฺถวสฺสทิวส” แปลตรงๆ ว่า “วันออกพรรษา” แต่นี่เป็นการคิดเล่นๆ เพราะคำจริงๆ ไม่มี

วันที่จำพรรษาครบกำหนด 3 เดือน คือวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11

ตามปกติเมื่อถึงวัน 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ พระสงฆ์จะต้องทำอุโบสถสังฆกรรม คือประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ แต่เฉพาะวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 นี้ ทรงมีพุทธานุญาตให้ทำ “ปวารณากรรม” แทน และมีคำเรียกวันนี้ว่า “ปวารณาทิวส” (ปะ-วา-ระ-นา-ทิ-วะ-สะ) คือ “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา

จึงเป็นอันได้ความว่า ที่เราเรียกกันเพลินไปว่า “วันออกพรรษา” นั้น คำจริงๆ ท่านเรียก “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” และไม่มีคำว่า “วันออกพรรษา” อย่างที่เราเรียกกัน

ขยายความ :

วันมหาปวารณา” แปลว่า “วันปวารณาครั้งสำคัญ” คำหลักคือ “ปวารณา

ปวารณา” (ปะ-วา-ระ-นา) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น , ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา

ปวารณา” แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กิริยาเป็นเหตุให้ปรารถนาปัจจัย” = การยอมให้ขอ คือ รับปากว่าเมื่อต้องการสิ่งใดๆ ก็ให้บอก จะจัดหาให้ตามที่รับปากไว้

(2) “กิริยาเป็นเหตุให้ขอร้องสงฆ์เป็นต้น ด้วยเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องที่ได้เห็นเป็นต้น” = การยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน คือ เมื่อได้เห็นด้วยตนเองว่าทำไม่ถูกไม่ควร หรือไม่ได้เห็น แต่ได้ฟังมาจากคนอื่น หรือแม้ไม่ได้เห็นและไม่ได้ฟังมาจากใคร แต่นึกสงสัยขึ้นมาเอง ก็เปิดโอกาสให้เตือนหรือให้ทักท้วงได้

(3) “การห้ามที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ” = การปฏิเสธเมื่อมีเหตุอันควร เช่น รับประทานพอแก่ความต้องการแล้ว แม้เห็นอาหารที่อร่อยก็ไม่ตามใจปาก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปวารณา” ว่า

(1) the Pavāraṇā, a ceremony at the termination of the Vassa (ปวารณา, พิธีกรรมที่กระทำในวันสุดท้ายของการจำพรรษา)

(2) satisfaction (ความพอใจ)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายเรื่อง “ปวารณา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปวารณา :

1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ

2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ดังนี้

สงฺฆมฺภนฺเต ปวาเรมิ, ทิฏฺเฐน วา สุเตน วา ปริสงฺกายวา; วทนฺตุ มํ, อายสฺมนฺโต อนุกมฺปํ อุปาทาย; ปสฺสนฺโต ปฏิกฺกริสฺสามิ. ทุติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, … ตติยมฺปิ ภนฺเต สงฺฆํ ปวาเรมิ, …”

แปลว่า “ข้าพเจ้าขอปวารณากะสงฆ์ ด้วยได้เห็นก็ตาม ด้วยได้ยินก็ตาม ด้วยน่าระแวงสงสัยก็ตาม, ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้าด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู, เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข แม้ครั้งที่สอง … แม้ครั้งที่สาม …” (ภิกษุผู้มีพรรษาสูงสุดในที่ประชุมว่า อาวุโส แทน ภนฺเต)

ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภทญัตติกรรม คือ ทำโดยตั้งญัตติ (คำเผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ); เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือ มีภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป

ปวารณา ถ้าเรียกชื่อตามวันที่ทำแบ่งได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ปัณณรสิกา ปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือวันออกพรรษา)

๒. จาตุททสิกา ปวารณา (ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนี่งโดยประกาศให้สงฆ์ทราบ ถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม ๑๔ ค่ำ เป็นจาตุททสิกา แต่ถ้าเลื่อนไปเดือนหนึ่งก็เป็นปัณณรสิกาอย่างข้อแรก)

๓. สามัคคีปวารณา (ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี คือ ในวันที่สงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วกลับปรองดองเข้ากันได้ อันเป็นกรณีพิเศษ)

ถ้าแบ่งโดยการก คือ ผู้ทำปวารณาแบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. สังฆปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์คือ มีภิกษุ ๕ รูปขึ้นไป)

๒. คณปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยคณะคือมีภิกษุ ๒–๔ รูป)

๓. ปุคคลปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยบุคคลคือมีภิกษุรูปเดียว)

และโดยนัยนี้ อาการที่ทำปวารณาจึงมี ๓ อย่าง คือ

๑. ปวารณาต่อที่ชุมนุม (ได้แก่ สังฆปวารณา)

๒. ปวารณากันเอง (ได้แก่ คณปวารณา)

๓. อธิษฐานใจ (ได้แก่ ปุคคลปวารณา)

ฯลฯ

ฯลฯ

…………..

สาระสำคัญของ “ปวารณา” ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ร่วมสังคมกันว่ากล่าวทักท้วงตักเตือนกันได้ในเมื่อเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของกันและกัน อันเป็นความหมายของ “ปวารณา” ตามข้อ (2)

พึงสังเกตว่า เหตุผลที่อ้างได้ในการว่ากล่าวตักเตือนมี 3 กรณี คือ –

1 ทิฏฺฐะ: รู้เห็นเรื่องนั้นๆ มาด้วยตัวเอง = เห็นประจักษ์ซึ่งหน้า

2 สุตะ: ได้รับคำบอกเล่า เช่นมีผู้รายงานให้ทราบ = มีพยานหลักฐาน

3 ปริสังกา: นึกสงสัยขึ้นมาเอง = ไม่เห็น ไม่มีพยาน แต่สงสัย

เรามักกล่าวอ้างกันว่า จะว่ากล่าวใคร ต้องมีพยานหลักฐาน อย่าพูดลอยๆ

แต่จากคำปวารณาจะเห็นว่า แม้แต่สงสัย (ปริสงฺกาย วา) ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุให้ว่ากล่าวกันได้ แต่ทั้งนี้พึงกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังความถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้ง

คนส่วนมากไม่ได้คิดถึงเหตุผลข้อนี้ พอถูกทักเรื่องต้องมีพยานหลักฐานก็พากันนิ่งงันไม่กล้าว่ากล่าวอะไรกันอีกต่อไป เป็นช่องโหว่ให้คนทำผิดยังคงทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนทำผิดอาจอ้างได้ว่า “ไม่รู้”

: แต่ความไม่รู้ไม่เป็นเหตุให้อ้างได้ว่า “ไม่ผิด”

#บาลีวันละคำ (3,034)

2-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย