อย่าเครียดสิครับ
อย่าเครียดสิครับ
—————–
ผมมีกลุ่มไลน์ที่ชื่อกลุ่มบอกให้รู้ว่าเป็นชาวพุทธแน่ๆ มักจะมีสมาชิกเอาเรื่องสองแง่สองง่าม เรื่องกระเดียดไปในทางเพศมาเผยแพร่บ่อยๆ ผมเข้าใจว่าต้องการจะให้ครึกครื้นกัน
ผมเห็นว่าชักจะครึกครื้นมากไป ผมก็ทักท้วงไป
พรรคพวกก็บอกว่า “อย่าเครียดสิครับอาจารย์”
……………….
แบบไหนที่เรียกว่า “เครียด”
มองกันตรงไหนจึงตัดสินว่าใครเครียดหรือไม่เครียด
ต้องเอาเรื่องใต้สะดือมาคุยกัน จึงจะแสดงถึงความไม่เครียดอย่างนั้นหรือ?
ผมว่ามุมมองของคนเดี๋ยวนี้ชักจะประหลาด
แม้แต่ “เครียด” ก็หาคำจำกัดความไม่เจอ
อย่างผมนั่งหน้าจอคอม. ค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ จากคัมภีร์ ก็มีพรรคพวกบอกว่า โอ ดูเคร่งเครียดจังเลย พักผ่อนมั่งก็ได้ อายุมากแล้วควรพักผ่อนมากๆ
วัดกันอย่างไรว่า การอ่านเขียนค้นคว้าหาความรู้จากคัมภีร์เป็นเรื่องเครียด
ดูกันตรงไหนว่าเครียด
เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าการทำอย่างนี้คือเครียด
ถ้าผมจะบอกว่า ผมศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์อย่างบันเทิงใจ พบเรื่องที่ต้องการรู้ก็มีความสุข อิ่มใจ ยังไม่พบก็มีความรู้สึกเหมือนถูกยั่วให้อยากรู้อยากตาม กระหยิ่มใจว่าเดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวต้องเจอแน่ๆ รู้สึกกระปรี้กระเปร่าตลอดเวลา
แบบนี้หรือคือเครียด?
ต้องดูหนัง ฟังเรื่องตลก หัวเราะเอิ้กอ้ากทั้งวัน แบบนั้นจึงจะเรียกว่าไม่เครียด อย่างนั้นหรือ
ในคัมภีร์มีคำชุดหนึ่ง ภาษาบาลีว่า
……………………
สา ปริสา ภควตา ธมฺมิยา กถาย สนฺทสฺสิตา สมาทปิตา สมุตฺเตชิตา สมฺปหํสิตา. (ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๐)
……………………
แปลเป็นไทยว่า – หมู่ชนนั้นอันพระผู้มีพระภาคทรงทำให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
……………………
สนฺทสฺสิตา = ให้เห็นแจ้ง คือเข้าใจธรรมชัดเจน
สมาทปิตา = ให้สมาทาน คือตั้งมั่นอยู่ในธรรม
สมุตฺเตชิตา = ให้อาจหาญในอันที่จะประพฤติธรรม
สมฺปหํสิตา = ให้ร่าเริงอยู่ในธรรม
ล้วนเป็นคำที่บ่งบอกถึงความบันเทิงเริงร่าคึกคักอาจหาญด้วยธรรม
แบบนี้เครียดตรงไหนหรือ?
ชาวพุทธควรจะบันเทิงด้วยลักษณาการเช่นนี้มิใช่หรือ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ ตุลาคม ๒๕๖๓
๑๗:๑๗
———
อถโข สา ปริสา ภควตา ธมฺมิยา กถาย สนฺทสฺสิตา สมาทปิตา สมุตฺเตชิตา สมฺปหํสิตา อุฏฺฐายาสนา ภควนฺตํ อภิวาเทตฺวา ปทกฺขิณํ กตฺวา ปกฺกามิ ฯ
ปฐมปาราชิกกณฺฑํ วินย. มหาวิภงฺโค (๑) ข้อ 10 หน้า 19
…………………………….
…………………………….