กฐินทุสสะ (บาลีวันละคำ 3,035)
กฐินทุสสะ
ได้ยินกันทุกปี แต่ไม่มีใครสนใจ
อ่านว่า กะ-ถิ-นะ-ทุด-สะ
หรือจะอ่านแบบไทยว่า กะ-ถิน-นะ-ทุด-สะ ก็ได้
ประกอบด้วยคำว่า กฐิน + ทุสสะ
(๑) “กฐิน”
บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย
: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก”
คำว่า “กฐิน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :-
(1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –
the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)
(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)
ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึง ไม้สะดึง คือกรอบไม้ที่ขึงออกเพื่อเย็บผ้า (a wooden frame)
คำว่า “สะดึง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สะดึง : (คำนาม) กรอบไม้สําหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร, กรอบไม้หรือไม้แบบสําหรับขึงผ้าในเวลาปักดิ้นหรือไหมเป็นต้น, ขอบไม้สําหรับขึงเปล มี ๔ ด้าน.”
(๒) “ทุสสะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทุสฺส” (มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า ทุด-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ทุ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ทุ + สฺ + ส)
: ทุ + สฺ + ส = ทุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปตามปกติ”
(2) ทุ (คำอุปสรรค = ชั่ว, ยาก) + อสฺ (ธาตุ = ซัด, ทิ้ง, ขว้าง; รุ่งเรือง, สว่าง) + ส ปัจจัย, ลบ อ ต้นธาตุ (อสฺ > ส)
: ทุ + อสฺ = ทุอสฺ > ทุสฺ + ส = ทุสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำจัดทิ้งซึ่งสิ่งที่น่าเกลียด” (2) “สิ่งที่ทำสิ่งอันน่าเกลียดให้รุ่งเรือง” (คือทำให้สวยขึ้น)
“ทุสฺส” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งทอ, ผ้า, ผ้าสําหรับทําผ้าโพก; เครื่องนุ่งห่มท่อนบน, เสื้อผ้า, เครื่องแต่งตัว (woven material, cloth, turban cloth; [upper] garment, clothes)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ทุส-” และ “ทุสสะ” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“ทุส-, ทุสสะ : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) ผ้า เช่น กฐินทุสทาน ว่า ถวายผ้ากฐิน. (ป. ทุสฺส).”
กฐิน + ทุสฺส = กฐินทุสฺส (กะ-ถิ-นะ-ทุด-สะ) > กฐินทุสสะ แปลว่า “ผ้าเพื่อกฐิน” หรือแปลเท่าตัวว่า “ผ้ากฐิน” (the Kaṭhina cloth)
ขยายความ :
เมื่อถึงเทศกาลกฐิน ชาวไทยเรานิยมถวายผ้ากฐินหรือเรียกกันว่า “ทอดกฐิน” กันเป็นงานใหญ่ ในพิธีทอดกฐินก็จะได้ยินคำถวายผ้ากฐินเป็นภาษาบาลีทุกครั้งไป
คำถวายผ้ากฐินแบบสั้นว่า:
“อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ.” (ว่า 3 จบ)
แปลว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์”
คำถวายผ้ากฐินแบบยาวว่า:
“อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, สังโฆ, อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหต๎วา จะ, อิมินา ทุสเสนะ, กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ.”
แปลว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้นรับแล้ว จงกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ”
ที่มาคำถวายผ้ากฐิน: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต (ในที่นี้เขียนคำบาลีแบบคำอ่าน)
“กฐินทุสสะ” มาจากคำบาลีว่า “กะฐินะจีวะระทุสสัง” หรือ “กะฐินะทุสสัง” นั่นเอง
สรุปได้ว่า ในการทอดกฐินนั้นเจ้าภาพถวาย 2 อย่าง คือ –
(1) “กฐินทุสสะ” คือผ้ากฐิน หรือที่เรียกกันว่า “องค์กฐิน” ซึ่งอาจเป็นผ้าขาว เมื่อพระสงฆ์รับแล้วต้องนำไปเย็บย้อมทำเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง หรือเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้วก็ได้
(2) บริวารกฐิน (สะปะริวารัง) หมายถึง ของที่ถวายรวมไปกับผ้ากฐิน
ข้อสังเกต :
(1) ความสำคัญของกฐินอยู่ที่ “กฐินทุสสะ” ดังที่เรียกผ้ากฐินว่า “องค์กฐิน” คือเป็นตัวกฐินที่ผ้าเป็นสำคัญ ของอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบจึงเรียกว่า “บริวารกฐิน”
(2) บริวารกฐินไม่มีก็ได้ แต่ “กฐินทุสสะ” ผ้ากฐินหรือองค์กฐินไม่มีไม่ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นกฐิน
(3) ปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม บริวารโดยเฉพาะ “เงิน” กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผ้าแทบไม่มีความหมาย
(4) ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยไปร่วมพิธีทอดกฐิน ได้ยินผู้ประกาศเรียกพุ่มที่ปักไม้เสียบเงิน (พุ่มเงิน) ว่า “องค์กฐิน” อย่างเต็มปากเต็มคำอยู่ทั่วไป
(5) จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าอีกไม่เกินครึ่งศตวรรษหรืออีก 50 ปีข้างหน้านี้ ผู้คนในประเทศไทยจะเข้าใจว่าพุ่มเงินเป็น “องค์กฐิน” ส่วน “กฐินทุสสะ” ผ้ากฐิน ก็จะเข้าใจกันว่าเป็น “บริวารกฐิน” โดยทั่วกันอย่างแน่นอน
(6) เมื่อถึงตอนนั้นก็จะเป็นอย่างที่ผู้เขียนบาลีวันละคำแกล้งกระแหนะกระแหนมาตลอดว่า-ถึงตอนนั้นก็จะต้องให้ฝรั่งมาสอนว่า “องค์กฐินคือผ้า บริวารกฐินคือเงิน” คนไทยจึงจะยอมเชื่อ ไทยด้วยกันเองบอกไม่มีใครเชื่อ
(7) พึงตระหนักว่า กฐินเป็นบุญอันเนื่องด้วยพุทธบัญญัติ ดังนั้นการศึกษาพุทธบัญญัติว่าด้วยกฐินให้เข้าใจถูกต้องชัดแจ้งแล้วปฏิบัติให้ตรงตามพุทธบัญญัติจึงเป็นการสมควรยิ่ง
(8) และพร้อมกันนั้นก็พึงตระหนักให้มากขึ้นเป็นสองเท่าสามเท่าว่า การแก้ไขความไม่รู้ของคนหมู่มากนั้นยากยิ่งกว่าเข็นภูเขาขึ้นครก (ซึ่งเข็นครกขึ้นภูเขายังง่ายกว่า!) ดังนั้น ถึงจะรู้ทุกเรื่องก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดทุกเรื่อง พึงใช้ความรู้เป็นเครื่องรักษาตนไม่ให้ตกนรกเป็นสำคัญ ส่วนจะช่วยผู้อื่นให้ขึ้นสวรรค์ได้หรือไม่ ต้องว่ากันเป็นกรณีๆ ไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
ทอดกฐินถามว่าได้เท่าไรครับ
ไม่มีทรัพย์หมดสิทธิ์คิดทอดกฐิน
ผ้าผืนเดียวด้อยค่าน้ำตาริน
โอ้ดอกดินหรือจะงอกสู้ดอกเงิน
#บาลีวันละคำ (3,035)
3-10-63