บาลีวันละคำ

ผ้าไตร – ไตร (บาลีวันละคำ 3,036)

ผ้าไตรไตร

คือผ้าอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ผ้าไตร : (คำนาม) ผ้า ๓ ผืนของภิกษุ คือ อันตรวาสก (สบง) อุตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ (ผ้าทาบ), ไตร ก็เรียก เช่น ไตรครอง ดอกไม้คลุมไตร, เรียกเต็มว่า ผ้าไตรจีวร.”

ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า คำว่า “ผ้าไตร” คือผ้า 3 ผืน เรียกสั้นว่า “ไตร” เรียกเต็มว่า “ผ้าไตรจีวร

พจนานุกรมฯ บอกชื่อผ้า 3 ผืนไว้ด้วย คือ (1) อันตรวาสก (สบง) (2) อุตราสงค์ (จีวร) (3) สังฆาฏิ (ผ้าทาบ)

(1) อันตรวาสก (สบง)

อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-วา-สก เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรวาสก” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-วา-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก อนฺตร (ในระหว่าง) + วาส (ผ้า) + สกรรถ (อ่านว่า กะ-สะ-กัด) หมายถึง ลง ท้ายคำ แต่ยังมีความหมายเท่าเดิม

: อนฺตร + วาส = อนฺตรวาส + ก = อนฺตรวาสก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่มีอยู่ในระหว่างกลางลำตัว” หมายถึง ผ้านุ่ง มีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “สบง” (สะ-บง)

ถ้าไม่รู้จัก ก็ขอให้นึกถึงผ้าซิ่นที่สตรีไทยนุ่ง “อันตรวาสก” มีลักษณะแบบเดียวกัน

(2) อุตราสงค์ (จีวร)

อ่านว่า อุด-ตะ-รา-สง เขียนแบบบาลีเป็น “อุตฺตราสงฺค” อ่านว่า อุด-ตะ-รา-สัง-คะ รากศัพท์มาจาก อุตฺตร (เบื้องสูง, ด้านบน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + สญฺชฺ (ธาตุ = เกี่ยว, คล้อง) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (สญฺ)-ชฺ เป็น , แปลง ญฺ เป็น งฺ (สญฺช > สญฺค > สงฺค)

: อุตฺตร + อา = อุตฺตรา + สญฺชฺ = อุตฺตราสญฺชฺ + = อุตฺตราสญฺช > อุตฺตราสญฺค > อุตฺตราสงฺค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่คลุมร่างกายส่วนบน” หมายถึง ผ้าห่ม ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า “จีวร”

(3) สังฆาฏิ (ผ้าทาบ)

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆาฏิ” อ่านว่า สัง-คา-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค ในที่นี้ใช้แทนศัพท์ว่า “สมฺมา” = เรียบร้อย, พร้อมกัน) + ฆฏฺ (ธาตุ = รวบรวม) + ณิ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ฆฏฺ > ฆาฏ), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ + ฆฏฺ = สํฆฏฺ + ณิ = สํฆฏฺณิ > สํฆฏิ > สํฆาฏิ > สงฺฆาฏิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่รวบไว้เรียบร้อย” หมายถึง ผ้าที่ทาบซ้อนลงไปนอกผ้าห่มอีกชั้นหนึ่ง

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำทั้ง 3 เป็นอังกฤษดังนี้

(1) อันตรวาสก = inner garment; the undergarment of a Buddhist monk, nun or novice; the under robe.

(2) อุตราสงค์ = the upper robe.

(3) สังฆาฏิ = the outer robe of a Buddhist monk.

ขยายความ :

ผ้าทั้ง 3 ผืนนี้ เรียกรวมกันว่า “ผ้าไตรจีวร” คำบาลีว่า “ติจีวร” (ติ-จี-วะ-ระ) แปลว่า “จีวรสามผืน” หมายความว่า ผ้าทั้ง 3 ชนิดนั้นมีคำเรียกรวมกันว่า “จีวร” จะหมายถึงผืนไหนก็ระบุลงไปว่า จีวรคืออันตรวาสก จีวรคืออุตราสงค์ จีวรคือสังฆาฏิ แต่ทุกผืนคือ “จีวร”

แต่ในภาษาไทย ถ้าพูดว่า “จีวร” มักจะเข้าใจกันว่าคือผ้าห่ม คืออุตราสงค์ แต่ถ้าเรียก “อุตราสงค์” ก็จะไม่มีใครรู้จัก ผ้านุ่งคือ “อันตรวาสก” ก็ไม่รู้จักเช่นกัน ต้องเรียกว่า “สบง” จึงจะรู้ ส่วน “สังฆาฏิ” นั้นเรียกตรงกัน

คำว่า “ติจีวร” หรือ “ผ้าไตรจีวร” นี่มักเรียกรู้กันสั้นว่า “ผ้าไตร” แล้วเรียกสั้นลงไปอีกว่า “ไตร” ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าคือ “ผ้าไตรจีวร

เมื่อเป็นที่เข้าใจกันเช่นนี้แล้ว แม้จีวรผืนเดียว จะเป็นอันตรวาสก อุตราสงค์ หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งก็ตาม ก็อนุโลมเรียกว่า “ผ้าไตร” หรือ “ไตร” ไปด้วย แม้จะมีเพียงผืนเดียว ไม่ครบ “ไตร”

เทียบได้กับหนังสือพระไตรปิฎกมี 45 เล่ม รวม 3 ปิฎก คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก และเรียกรวมกันว่า “ไตรปิฎก” เวลาเราหยิบเล่มใดเล่มหนึ่งมาอ่านก็หยิบมาเพียงปิฎกเดียว ถ้ามีใครถามว่าอ่านอะไร เราก็จะตอบว่า “อ่านพระไตรปิฎก” ทั้งๆ ที่เราอ่านแค่ปิฎกเดียว ไม่ได้อ่านทั้ง 3 ปิฎก – ฉันใดก็ฉันนั้น

ผ้าไตรจีวร” นี้เป็นบริขารสำคัญของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถ้ามีไม่ครบ บวชไม่ได้ โบราณกบัณฑิตเรียกว่า “ธงชัยของพระอรหันต์” นับถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรดูหมิ่นข้ามกราย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผ้าไตรช่วยผู้ทรงศีลให้ไปนิพพานได้

: แต่ช่วยผู้ทุศีลไม่ให้ตกนรกไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,036)

4-10-63

 ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย