ชนกันต์ (บาลีวันละคำ 3,045)
ชนกันต์
เรียนรู้คำจากชื่อคน
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นชื่อของท่านผู้หนึ่งสะกดว่า “ชนกันต์” คือคำที่ยกขึ้นมาเป็นบาลีวันละคำวันนี้ เห็นว่าน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ชื่อนี้เจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งมีเจตนาจะให้อ่านว่าอย่างไร และมีความหมายอย่างไร
ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงว่าเป็นชื่อใคร และเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งมีเจตนาจะให้อ่านอย่างไร ขอตัดประเด็นมุ่งไปที่คำและความหมายเท่านั้น
“ชนกันต์” ถ้าเป็นคำบาลี ก็แยกศัพท์เป็น ชน + กันต์
(๑) “ชน”
บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชนฺ + อ = ชน แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้
(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก
“ชน” (ปุงลิงค์) หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)
(๒) “กันต์”
บาลีเป็น “กนฺต” นะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา, รัก, ติดใจ) + ต ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺต
: กมฺ + ต = กมฺต > กนฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันบุคคลปรารถนาแล้ว”
“กนฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (เป็นคำวิเศษณ์) พึงใจ, น่ารัก, น่าเพลิดเพลิน (pleasant, lovely, enjoyable)
(2) (เป็นคำวิเศษณ์) เป็นที่รัก, เป็นคนโปรด, น่ารักหรือมีเสน่ห์ (beloved by, favourite of, charming)
(3) (เป็นคำนาม) คนที่เป็นที่รัก, สามี (the beloved one, the husband) ถ้าเป็นอิตถีลิงค์ เป็น “กนฺตา” (กัน-ตา) หมายถึง สตรีที่เป็นที่รัก, ภรรยา (the beloved one, the wife)
บาลี “กนฺต” สันสกฤตเป็น “กานฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กานฺต : (คำวิเศษณ์) อันเปนที่พอใจ, อันต้องอารมณ์, น่ารัก, งาม; อันเป็นที่รัก; pleasing, agreeable; lovely, beautiful; dear, beloved; – (คำนาม) นามของฤษณ; จันทร์; สามี; ฤดูวสันต์; พลอยอันมีค่า; กานดา หรือ ชายา, สตรีอันเป็นที่รักหรือน่ารัก; เหล็ก; หญ้าฝรั่น; name of Krishṇa; the moon; a husband; spring; a precious stone; a wife; any belovedor lovely woman; iron; saffron.”
ในภาษาไทย ใช้ทั้ง “กันต์” แบบบาลี และ “กานต์” แบบสันสกฤต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กันต์ ๑ : (คำกริยา) ตัด, โกน, เช่น เกศากันต์ (ตัดผม, โกนผม). (ป. กนฺต).
(2) กันต์ ๒ : (คำกริยา) ยินดี, พอใจ, เช่น สุนทรกันต์. (คำวิเศษณ์) น่าใคร่, น่าพอใจ, งดงาม. (ป. กนฺต, ส. กานฺต).
(3) กานต์ : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เป็นที่รัก, โดยมากใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น จันทรกานต์ เป็นที่รักของพระจันทร์ ได้แก่แก้วผลึกที่ถูกแสงจันทร์แล้วมีเหงื่อ, คู่กับ สูรยกานต์ เป็นที่รักของพระอาทิตย์ ได้แก่แก้วที่รวมแสงอาทิตย์ให้เกิดไฟได้. (ส.).
ชน + กนฺต = ชนกนฺต (ชะ-นะ-กัน-ตะ) แปลว่า “เป็นที่รักแห่งชน” หมายถึง เป็นที่รักของใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ หรือเป็นที่รักของปวงชนก็ได้
“ชนกนฺต” เขียนแบบไทยเป็น “ชนกันต์” อ่านตามหลักการอ่านคำสมาสสนธิว่า ชะ-นะ-กัน หรือ ชน-นะ-กัน
แถม :
“ชนกันต์” คงมีหลายคนที่อ่าน-หรืออยากอ่าน-ว่า ชน-กัน คือ “ชน” หมายถึง “ชน” ในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชน ๑ : (คำกริยา) โดนแรง ๆ เช่น รถยนต์ชนต้นไม้, ชิดจนติด เช่น ตั้งตู้ชนฝา; บรรจบ เช่น ชนขวบ; ให้ต่อสู้กัน เช่น ชนโค ชนไก่. (คำนาม) เรียกไก่อูชนิดหนึ่งที่เลี้ยงไว้ชนกันว่า ไก่ชน.”
พึงทราบว่า ถ้าเป็นคำบาลี อ่านว่า ชน-กัน ไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นชื่อคนก็ยิ่งไม่ควรอ่านเช่นนั้น ต้องอ่านว่า ชะ-นะ-กัน หรือ ชน-นะ-กัน เท่านั้นจึงจะเหมาะ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราเกณฑ์ให้คนทั้งโลกรักเราไม่ได้
: แต่เรารักคนทั้งโลกได้
#บาลีวันละคำ (3,045)
13-10-63