บาลีวันละคำ

สันตโสมวิธี (บาลีวันละคำ 3,050)

สันตโสมวิธี

สันติ: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ

อ่านว่า สัน-ตะ-โส-มะ-วิ-ที

แยกศัพท์เป็น สันต + โสม + วิธี

(๑) “สันต

เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺต” อ่านว่า สัน-ตะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ปัจจัย, แปลง กับ มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺต

: สมฺ + = สมฺต > สนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สงบแล้ว” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เงียบ, ราบรื่น, สงบ, บริสุทธิ์ (calmed, tranquil, peaceful, pure)

(๒) “โสม

อ่านว่า โส-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สห (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + อุมา (ความถูกใจ, ความงาม) + ปัจจัย, ลบ , แปลง สห เป็น , แผลง อุ ที่ อุ-(มา) เป็น โอ และลบ อา (อุมา >โอมา > โอม)

: สห + อุมา = สหุมา + = สหุมาณ > สหุมา > สุมา > โสมา > โสม แปลตามศัพท์ว่า “ดาวที่มีพร้อมกับความงดงาม

(2) สุข (ความสุข) + ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ-(ข) เป็น โอ และลบ (สุข > โสข > โส)

: สุข + = สุขม > โสขม > โสม แปลตามศัพท์ว่า “ดาวที่หลั่งความสุขให้

โสม” (ปุงลิงค์) หมายถึง ดวงจันทร์ (the moon)

บาลี “โสม” สันกฤตก็เป็น “โสม” แต่ “โสม” ในสันสกฤตมีความหมายหลายหลาก สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โสม : (คำนาม) จันทร์; ท้าวกุเวร; พญาวานร; อากาศ, ลม; พระยม; นรเทพองค์หนึ่งอันชื่อว่าวสุส; พระศิวะ; โสมลดา; อัมลรสแห่งสารฺโคเสฺตม; โอสธอันคาดกันว่ามีมายามยคุณ; น้ำ; อมฤต, สุราหรือสุธารสของเทพดา; กรบูร, การบูร; เทวิภูตประชาบดี; บรรพต; ภูเขาแห่งดวงจันทร์; น้ำข้าว; สวรรค์, ฟ้า, อากาศ; the moon; Kuvera; a monkey; chief; air, wind; Yama; one of the demigods called Vasus; Śiva; the moon-plant; the acid juice of Sarcostema; a drug of supposed magical properties; water; nectar, the liquor or immortals; camphor; a deified progenitor; a mountain; the mountains of the moon; gruel or rice-water; heaven; sky; ether.”

(๓) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

การประสมคำ :

สนฺต + โสม = สนฺตโสม (สัน-ตะ-โส-มะ) แปลว่า “ดวงจันทร์อันสงบเย็น” หรือ “สงบเย็นยิ่งกว่าดวงจันทร์

สนฺตโสม + วิธิ = สนฺตโสมวิธิ (สัน-ตะ-โส-มะ-วิ-ทิ) แปลว่า “วิธีเพียงดังดวงจันทร์อันสงบเย็น” หรือ “วิธีคือความสงบเย็นยิ่งกว่าดวงจันทร์

สนฺตโสมวิธิ” เขียนตามแบบไทยเป็น “สันตโสมวิธี” มีความหมายว่า วิธีที่สงบงามเยือกเย็น

อธิบาย :

สนฺตโสมวิธิ” หรือ “สันตโสมวิธี” ปรุงรูปคำมาจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 5 ข้อความในบาทคาถาว่า “สนฺเตน โสมวิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

กตฺวาน กฏฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา

จิญฺจาย ทุฏฺฐวจนํ ชนกายมชฺเฌ

สนฺเตน โสมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

กัต๎วานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา

จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

คำแปล :

นางจิญจมาณวิกาเอาไม้กลมๆ มาผูกท้อง

ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ ใส่ร้ายพระพุทธเจ้าท่ามกลางฝูงชน

พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยวิธีสงบระงับพระหฤทัยอันงดงาม

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)

ขยายความ :

ขยายความตามคาถาว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงประกาศสัจธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังมหาชนให้ดำรงอยู่ในมรรคผล ทำให้คนทั้งหลายหันมาเลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พวกอัญเดียรถีย์คือลัทธิศาสนาที่มีอยู่มาแต่เดิมในเวลานั้นถูกกระทบกระเทือนหวั่นไหวไปตามๆ กัน เพราะผู้คนพากันละทิ้งลัทธิเดิมหันไปอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

พวกเดียรถีย์เห็นว่า วิธีเดียวที่จะยับยั้งมิให้ประชาชนหันเหออกไปจากพวกตนได้ก็คือ ต้องหาทางทำลายชื่อเสียงของพระพุทธองค์เสีย จึงได้วางแผนโดยใช้หญิงสาวชื่อ จิญจา (หรือ จิญจมาณวิกา) ซึ่งเป็นสาวกของพวกตนเป็นเครื่องมือดำเนินการ

แผนการดำเนินไปดังนี้: คือเวลานั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร วิธีการก็คือ ยามเย็นเมื่อประชาชนพากันกลับจากฟังเทศน์ที่วัดพระเชตวัน นางจิญจาก็จะออกจากเมืองมุ่งหน้าไปวัด แสดงอาการให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางเข้าไปทำอะไรอยู่ในวัดทั้งคืน ครั้นยามเช้า ประชาชนพากันออกจากเมืองไปไหว้พระไปถวายทานที่วัดพระเชตวัน นางก็จะออกจากวัดกลับเข้าเมืองให้คนทั้งหลายเห็น เมื่อมีคนรู้จักทักถามว่าไปไหนมา ก็จะบอกว่าไปค้างที่วัดพระเชตวันมา

เมื่อทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 3 เดือน นางก็เอาผ้ามาพันท้องให้มีสัณฐานนูนขึ้นประดุจว่าตั้งครรภ์อ่อนๆ ปรากฎแก่ตาคนทั้งหลาย และแสดงกลลวงว่าครรภ์แก่ขึ้นๆ โดยทำนองนี้ จนล่วงไปประมาณ 8 – 9 เดือน ก็เอาไม้มาทำให้มีสัณฐานนูนขึ้นประดุจว่ามีครรภ์แก่จวนจะคลอดแล้วใช้ผ้าพันทับผูกไว้ที่หน้าท้อง

ครั้นได้โอกาสวันหนึ่ง ขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาท่ามกลางพุทธบริษัท ณ พระเชตวัน นางก็เข้าไปยืนร้องประกาศแก่พระพุทธองค์ว่า ดีแต่แสดงธรรมสอนคนอื่นอยู่นั่นแหละ หลอกร่วมอภิรมย์กับนางแล้วไฉนจึงไม่เตรียมการสำหรับการคลอดของนางเยี่ยงสามีที่ดีเล่า หากแม้ไม่ทำด้วยตัวเอง ก็ควรจะบอกให้ศิษย์หาสาวกเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือนางวิสาขาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแทนให้

เหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนตะลึงงัน บางพวกสงสัย เพราะกรณีแวดล้อมชวนให้เชื่อ แต่บางพวกก็ไม่เชื่อเพราะเชื่อมั่นในพระบริสุทธิคุณ

พระพุทธองค์ทรงหยุดการแสดงธรรมไว้ชั่วขณะหนึ่ง ทรงดำรงอยู่ในอาการสงบ แล้วตรัสแก่นางจิญจาให้ได้ยินทั่วกันว่า “ดูก่อนน้องหญิง เรื่องที่เธอพูดจะจริงหรือเท็จ เราสองคนเท่านั้นที่รู้ความจริง” จากนั้นก็ทรงสงบนิ่งมิได้ตรัสโต้ตอบใดๆ อีก

นางจิญจาเจอไม้นิ่งเข้าก็เดือดดาล ชี้นิ้วกระทืบเท้าออกท่านางยักษ์ด้วยความลืมตัว ท่อนไม้ที่ผูกท้องลวงเอาไว้ก็หลุดลงมากระแทกเข้าที่ปลายเท้า (ตำนานเล่าในเชิงอภินิหารว่า พระอินทร์สั่งให้เทพบุตรแปลงเป็นหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผู้ไม้นั้นขาดลง) พอรู้สึกเจ็บที่ปลายเท้า นางจิญจาก็ได้สติ รู้ว่ากลแตกเสียแล้ว จึงถลันแล่นหนีออกนอกวัด มหาชนที่เห็นเหตุการณ์ เมื่อรู้ความจริงก็โกรธแค้นพากันไล่ทุบตีนาง พอพ้นประตูวัดพระเชตวัน นางก็ถูกแผ่นดินสูบลงไปเกิดในอเวจีมหานรก (คำว่า “ธรณีสูบ” หรือแผ่นดินสูบนี้คงจะเป็นสำนวนชนิดหนึ่ง อาจหมายถึงประชาชนรุมรังเกียจ ตัดขาดจากสังคม ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วยอีกต่อไป หรืออาจหมายถึงถูกประชาชนรุมใช้ประชาทัณฑ์จนตายก็ได้)

การถูกใส่ร้ายต่อหน้าสาธารณชนนั้นเป็นเรื่องเสี่ยงต่อความเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างยิ่ง หากใช้วิธีโต้ตอบที่ผิดพลาด แทนที่จะแก้ข้อสงสัยของมหาชนได้อย่างหมดจด ยิ่งกลับจะทำให้น่าสงสัยหนักขึ้น การเอาชนะคนใส่ไคล้ด้วยวิธีสงบปากสงบคำ พูดเท่าที่จำเป็นจริงๆ โดยมีความบริสุทธิ์จริงเป็นพื้นฐานดังที่พระพุทธองค์ทรงใช้กับนางจิญจานี้จึงเป็นชัยชนะที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และเป็นชัยมงคลโดยแท้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นบาป

: ปกปิดความไม่บริสุทธิ์ไว้เป็นยอดบาป

#บาลีวันละคำ (3,050)

18-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย