ปัญญาปทีปชลิตวิธี (บาลีวันละคำ 3,051)
ปัญญาปทีปชลิตวิธี
ปัญญา: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ
อ่านว่า ปัน-ยา-ปะ-ที-ปะ-ชะ-ลิ-ตะ-วิ-ที
แยกศัพท์เป็น ปัญญา + ปทีป + ชลิต + วิธี
(๑) “ปัญญา”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺญา” (มีจุดใต้ ญ ตัวหน้า) อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + ญฺ + ญา)
: ป + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง”
นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –
(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง”
(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)
(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด”
(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –
(1) ความหมายตามตัวอักษร :
“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)
(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)
(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)
“ปญฺญา” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”
(๒) “ประทีป”
บาลีเป็น “ปทีป” อ่านว่า ปะ-ที-ปะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทิปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งโรจน์) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อิ ที่ ทิ-(ปฺ) เป็น อี (ทิปฺ > ทีป)
: ป + ทิปฺ = ปทิปฺ + ณ = ปทิปณ > ปทิป > ปทีป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่างไปทั่ว”
“ปทีป” (ปุงลิงค์) หมายถึง –
(1) แสงสว่าง (a light)
(2) ตะเกียง, โคมไฟ (a lamp)
บาลี “ปทีป” สันสกฤตเป็น “ปฺรทีป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺรทีป : (คำนาม) ‘ประทีป,’ โคมไฟ, ตะเกียง; a lamp.”
“ปทีป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประทีป”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประทีป : (คำนาม) ไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง ไฟเทียน เป็นต้น), ตะเกียง, โคม. (ส. ปฺรทีป; ป. ปทีป).”
(๓) “ชลิต”
บาลีอ่านว่า ชะ-ลิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, คม) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ชลฺ + อิ + ต)
: ชลฺ + อิ + ต = ชลิต แปลตามศัพท์ว่า “รุ่งเรืองแล้ว” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง จุดไฟ, ลุกโพลง, รุ่งโรจน์, ส่องสว่าง, โชติช่วง, งดงาม (set on fire, burning, shining, bright, splendid)
(๔) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
การประสมคำ :
๑ ปญฺญา + ปทีป = ปญฺญาปทีป แปลว่า –
(1) “ประทีปคือปัญญา” หมายความว่า ประทีปมีหลายชนิด เช่น โคมไฟก็เป็นประทีป ดวงเทียนก็เป็นประทีป แต่ในที่นี้ “ปัญญา” เป็นประทีป
(2) “ปัญญาเพียงดังดวงประทีป” หมายความว่า ปัญญาอาจเปรียบได้กับสิ่งต่างๆ เช่น ปัญญาเหมือนอาวุธ ปัญญาเหมือนทรัพย์ แต่ในที่นี้ “ปัญญา” เหมือนดวงประทีป
๒ ปญฺญาปทีป + ชลิต = ปญฺญาปทีปชลิต (ปัน-ยา-ปะ-ที-ปะ-ชะ-ลิ-ตะ) แปลว่า “รุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา” “รุ่งเรืองด้วยปัญญาเพียงดังดวงประทีป”
๓ ปญฺญาปทีปชลิต + วิธิ = ปญฺญาปทีปชลิตวิธิ (ปัน-ยา-ปะ-ที-ปะ-ชะ-ลิ-ตะ-วิ-ทิ) แปลว่า “วิธีคือเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา” หรือ “วิธีแห่งผู้รุ่งเรืองด้วยประทีปคือปัญญา”
“ปญฺญาปทีปชลิตวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญาปทีปชลิตวิธี”
อธิบาย :
“ปญฺญาปทีปชลิตวิธิ” หรือ “ปัญญาปทีปชลิตวิธี” ปรุงรูปคำมาจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 6 ข้อความในบาทคาถาว่า “ปญฺญาปทีปชลิโต” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
สจฺจํ วิหาย มติสจฺจกวาทเกตุํ
วาทาภิโรปิตมนํ อติอนฺธภูตํ
ปญฺญาปทีปชลิโต ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
สัจจกนิครนถ์ผู้ถือตัวว่าฉลาด เป็นนักโต้วาทะชั้นยอด สละเสียซึ่งสัจจะ
ตั้งใจมาโต้วาทะหลักล้างพระพุทธองค์ เป็นคนมืดบอดยิ่งนัก
พระจอมมุนีผู้สว่างจ้าด้วยแสงปัญญาทรงเอาชนะได้
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)
ขยายความ :
ขยายความตามคาถาว่า ในเมืองไพศาลี มีนิครนถ์ผู้หนึ่งชื่อ สัจจกะ เรียนจบไตรเพท รู้หลักปรัชญาวิชาการมาก มีวาทะเฉียบแหลมคมคาย มีปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศ หากแถลงแสดงความคิดเห็นในปัญหาใดๆ ออกมา ถ้าเป็นไปในทางสนับสนุน ก็มักไม่มีใครกล้าค้าน ถ้าเป็นไปในทางคัดค้าน เรื่องที่ถูกค้านนั้นก็มักจะตกไป ไม่มีใครกล้าสนับสนุนต่อไปอีก ได้รับความยกย่องจากมหาชนว่าเป็นหลักเสาเอกในทางภูมิปัญญาของบ้านเมือง มีผู้คนเคารพนับถือมาก นับตั้งแต่เจ้านายในราชวงศ์ลิจฉวีลงมาถึงไพร่บ้านพลเมืองนิยมส่งบุตรหลานไปเข้ารับการฝึกศึกษาอยู่กับสัจจกนิครนถ์ จึงทำให้ท่านผู้นี้มีบริษัทบริวารมากมาย
เนื่องจากมีความรู้มาก มีคนนับถือมาก จึงทำให้สัจจกะเป็นคนหลงตัวเอง เชื่อว่าความรู้ความคิดของตนถูกต้องตลอดกาล ยกตนข่มท่าน ชอบใช้ความรู้และวาทะของตนระรานข่มขี่ผู้อื่น และยังไม่มีใครสามารถเอาชนะท่านผู้นี่ได้ ท่านจึงมีอหังการจัด ถึงกับประกาศว่าอย่าแต่คนเลย แม้แต่เสาหากมาโต้วาทะกับท่านก็จะต้องสั่นสะท้านเพราะความกลัวท่าน
อยู่มาคราวหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จเมืองไพศาลี ประทับ ณ ป่ามหาวัน สัจจกะได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธองค์ก็เกิดริษยา ทะยานใจใคร่จะเอาความรู้ของตนเข้าปะทะด้วย จึงประกาศขอท้าโต้วาทะกับพระพุทธองค์ และคุยโอ่ว่าตนจะทำให้พระพุทธองค์พ่ายแพ้อย่างไม่มีประตูสู้ให้ได้ดูกัน
เมื่อถึงกำหนดวันเวลานัด สัจจกะก็พาบริษัทบริวารของตนแห่กันไปที่ป่ามหาวัน มหาชนไปชุมนุมกันอย่างล้นหลาม มีทั้งพวกที่อยากเห็นสัจจกะปราบพระพุทธองค์ และพวกที่อยากเห็นสัจจกะถูกพระพุทธองค์ปราบ
ก่อนจะลงสนามครั้งนี้ สัจจกะได้เตรียมตัว “ทำการบ้าน” มาแล้วเป็นอย่างดี คือได้ซุ่มศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์เพื่อหาจุดอ่อน และได้พบว่าคำสอนเกี่ยวกับเรื่องเบญจขันธ์มีช่องโหว่ที่ตนสามารถจะยกขึ้นมาหักล้างได้โดยไม่ยาก จึงได้ยกประเด็นนี้ขึ้นโต้วาทะกับพระพุทธองค์
สาระสำคัญของการโต้วาทะก็คือ พระพุทธองค์ตรัสว่าเบญจขันธ์ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สัจจกะโต้ว่า ถ้าเบญจขันธ์ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ผู้เสวยบุญบาปก็ต้องไม่มี แต่เพราะยังมีผู้เสวยบุญบาป เบญจขันธ์จึงเป็นตัวตนของเรา พระพุทธองค์ตรัสให้สัจจกะยืนยันว่า เบญจขันธ์เป็นตัวตนของเรา สัจจกะก็ยืนยันตามนั้น พระองค์จึงตรัสว่า ถ้าเบญจขันธ์เป็นตัวตนของเราจริงแล้ว สัจจกะสามารถจะสั่งร่างกายของตนได้หรือไม่ว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลย (เช่นจงเป็นหนุ่มตลอดไปเถิด อย่าแก่ชราเลย) ถูกย้อนเช่นนี้สัจจกะก็จนปัญญา สิ้นท่า มิรู้จะตอบอย่างไรได้ ต้องยอมรับว่าความเห็นของตนผิด และยอมแพ้ (รายละเอียดของการโต้วาทะครั้งนี้โปรดศึกษาได้จากจูฬสัจจกสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่มที่ 12)
การโต้วาทะครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งสำคัญ เพราะได้กระทำกันต่อหน้ามหาชนอันประกอบด้วยชนทุกชั้น ทั้งผู้ท้าโต้วาทะก็เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนยกย่องนับถือทั้งเมือง ซ้ำยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะเอาปราบคู่ต่อสู้ให้ได้อย่างราบคาบ ถ้าพระพุทธองค์ไม่สามารถเอาชนะได้แล้วไซร้ กิตติคุณของพระองค์ก็จะลดลง ปรัปวาทะ (การคัดค้านโต้แย้งหลักพระพุทธศาสนาโดยบุคคลฝ่ายอื่นที่ไม่เลื่อมใส) ก็จะมีกำลังรุนแรงขึ้น พระพุทธศาสนาก็จะไม่รุ่งเรืองไพโรจน์ออกไปได้อย่างกว้างขวาง การที่พระพุทธองค์ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ได้ด้วยพระปัญญาคุณ จึงเป็นชัยมงคลอย่างยอดยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
คนที่สรุปอะไรได้ง่ายๆ
: ถ้าไม่ใช่เพราะฉลาดสุดๆ
: ก็เพราะโง่สุดๆ
#บาลีวันละคำ (3,051)
19-10-63