บาลีวันละคำ

อิทธีภิสังขตมนวิธี (บาลีวันละคำ 3,049)

อิทธีภิสังขตมนวิธี

ฤทธิ์: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ

อ่านว่า อิด-ที-พิ-สัง-ขะ-ตะ-มะ-นะ-วิ-ที

แยกศัพท์เป็น อิทธิ + อภิสังขต + มน + วิธี

(๑) “อิทธิ

เขียนแบบบาลีเป็น “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ

: อิธ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ

ความหมายสามัญที่เข้าใจกัน “อิทฺธิ” หมายถึง ความสำเร็จ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงทัศนะต่อคำว่า “อิทฺธิ” ไว้ว่า –

There is no single word in English for Iddhi, as the idea is unknown in Europe. The main sense seems to be ʻ potency ʼ

ไม่มีคำในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำว่า “อิทฺธิ” ได้ชัดเจนแม้สักคำเดียว, ความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรป. ความหมายหลักดูเหมือนจะเป็น potency อานุภาพหรืออำนาจ

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “อิทฺธิ” ไว้คำหนึ่งว่า psychic powers (ฤทธิ์ทางใจ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อิทธิ” เป็นอังกฤษว่า –

Iddhi : success; supernormal power; psychic power; magical power.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ).”

(๒) “อภิสังขต

เขียนแบบบาลีเป็น “อภิสงฺขต” อ่านว่า อะ-พิ-สัง-ขะ-ตะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน) + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ด้วยกัน, ดี) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง กรฺ เป็น ขร, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กรฺ > ขรฺ > )

: อภิ + สํ + กรฺ = อภิสํกรฺ + = อภิสํกรต > อภิสงฺกรต > อภิสงฺขรต > อภิสงฺขต แปลตามศัพท์ว่า “-อันทำพร้อมกันอย่างยิ่ง” = อันปรุงขึ้นแล้วอย่างยิ่ง หมายถึง ตระเตรียม, กำหนด, ประกอบ, จัดแจง, ปรุงแต่ง (prepared, fixed, made up, arranged, done)

(๓) “มน

บาลีอ่านว่า มะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + (อะ) ปัจจัย

: มน + = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้

(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ลบสระที่สุดธาตุ

: มา > + ยุ > อน : + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์

มน” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)

(๔) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

การประสมคำ :

อิทฺธิ + อภิสงฺขต ลบสระหลัง คือ – ที่ -(ภิสงฺขต) ทีฆะสระหน้า คือ อิ ที่ (อิทฺ)-ธิ (อิทฺธิ > อิทฺธี)

: อิทฺธิ + อภิสงฺขต = อิทฺธีภิสงฺขต แปลว่า “ฤทธิ์อันปรุงแต่งแล้วอย่างยิ่ง” = บันดาลฤทธิ์

อิทฺธีภิสงฺขต + มน = อิทฺธีภิสงฺขตมน แปลว่า “ใจอันมีฤทธิ์ที่บันดาลแล้ว” = บันดาลฤทธิ์ทางใจ

อิทฺธีภิสงฺขตมน + วิธิ = อิทฺธีภิสงฺขตมนวิธิ แปลว่า “วิธีคือการบันดาลฤทธิ์ทางใจ

อิทฺธีภิสงฺขตมนวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “อิทธีภิสังขตมนวิธี” (อิด-ที-พิ-สัง-ขะ-ตะ-มะ-นะ-วิ-ที)

หมายเหตุ: การประสมคำและแปลในที่นี้เป็นเพียงนัยหนึ่งเท่านั้น บางนัยแปลว่า “(พระจอมมุนี) มีพระทัยน้อมไปในอันที่จะแสดงฤทธิ์

อธิบาย :

อิทฺธีภิสงฺขตมนวิธิ” หรือ “อิทธีภิสังขตมนวิธี” ปรุงรูปคำมาจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 4 ข้อความในบาทคาถาว่า “อิทฺธีภิสงฺขตมโน” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

อุกฺขิตฺตขคฺคมติหตฺถสุทารุณนฺตํ

ธาวนฺติโยชนปถงฺคุลิมาลวนฺตํ

อิทฺธีภิสงฺขตมโน ชิตวา มุนินฺโท

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง

ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง

อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

คำแปล :

โจรองคุลิมาล (โจรฆ่าคนเอานิ้วทำพวงมาลัย) แสนดุร้าย

ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ฆ่าพระพุทธองค์สิ้นระยะทาง ๓ โยชน์

พระจอมมุนีทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจเอาชนะได้ราบคาบ

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)

ขยายความ :

ขยายความตามคาถาว่า ภรรยาพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ากรุงสาวัตถีคลอดลูกเป็นชาย บรรดาศัสตราวุธในคลังแสงเกิดมีแสงสว่างเป็นประกาย ปุโรหิตตรวจดูฤกษ์ยามแล้วรู้ว่าเด็กจะเป็นโจร จึงกราบทูลพระเจ้ากรุงสาวัตถีให้ฆ่าเด็กเสีย แต่พระราชาทรงมีพระเมตตาโปรดให้เลี้ยงไว้

ปุโรหิตตั้งชื่อเด็กว่า “อหิงสกะ” แปลว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน” ครั้นจำเริญวัยควรจะศึกษาศิลปวิทยาก็ส่งไปยังสำนักทิศาปาโมกข์เมืองตักศิลา อหิงสกะเป็นเด็กฉลาด เรียนเก่ง ความประพฤติเรียบร้อย จึงเป็นที่รักของอาจารย์ แต่เป็นที่อิจฉาริษยาของศิษย์ร่วมสำนัก พวกศิษย์จึงยุยงอาจารย์ให้ระแวงในตัวอหิงสกะ จนที่สุดถึงขั้นคิดกำจัด โดยอาจารย์บอกแก่อหิงสกะว่า จะประสิทธิ์ประสาทวิษณุมนตร์อันเป็นขั้นสุดท้ายของการศึกษา แต่จะต้องใช้นิ้วมือมนุษย์พันนิ้วพันคนเป็นเครื่องประกอบมนตร์ ทั้งนี้ก็โดยหวังว่าเมื่ออหิงสกะเที่ยวฆ่าคนเพื่อเอานิ้วมือ ก็จะต้องมีใครสักคนสามารถฆ่าอหิงสกะลงได้

ด้วยความอยากได้วิชา อหิงสกะก็เริ่มออกไปดักซุ่มฆ่าคนตัดเอานิ้วมือ ตอนแรกก็รวบรวมซุกซ่อนไว้ในที่แห่งหนึ่ง ตอนหลังเมื่อนิ้วมือเหล่านั้นเน่าโทรมลงไปบ้าง ตนเองต้องย้ายที่ซุ่มซ่อนไปเรื่อยๆ บ้าง ไม่สะดวกแก่การกำหนดนับ จึงเอาเชือกมาร้อยนิ้วมือที่ตัดได้เข้าเป็นอย่างพวงมาลัยสวมไว้กับตัว แต่นั้นมาจึงได้รับนามขนานว่า “องคุลิมาล” (ผู้มีนิ้วเป็นพวงมาลัย)

อหิงสกะเที่ยวฆ่าคนจนเป็นโจรลือชื่อ เข้าที่ไหนแหลกที่นั่น เป็นที่หวาดหวั่นของผู้คนทั้งหลาย เมื่อประชาราษฎรเดือดร้อนจึงพากันร้องเรียนขึ้นไปถึงพระเจ้ากรุงสาวัตถี พระราชาจึงตรัสบัญชาให้เตรียมกองทัพจะยกไปปราบโจร นางมันตานีพราหมณีผู้เป็นแม่ทราบข่าวจึงรีบรุดออกไปเพื่อจะบอกลูกชายให้รีบหลบหนี พระพุทธองค์ทราบว่า องคุลิมาลมีจิตใจฟั่นเฟือนไปเสียแล้ว เห็นแม่ก็คงจะฆ่าแม่เอานิ้วมือ เป็นการทำมาตุฆาตอันเป็นอนันตริยกรรมตัดโอกาสแห่งมรรคผลนิพพาน จึงเสด็จล่วงหน้าไปก่อนนางมันตานี

องคุลิมาลเห็นพระพุทธองค์ก็ดีใจ เพราะได้นิ้วมือมาไว้ ๙๙๙ นิ้วแล้ว อีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน จึงซุ่มรอทีอยู่ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จคล้อยหลังก็โดดออกวิ่งไล่ตาม พระพุทธองค์ทรงบันดาลฤทธิ์ให้วิ่งไล่ไม่ทัน องคุลิมาลวิ่งตามจนเหนื่อย เมื่อเห็นไม่ทันแน่จึงหยุด แล้วตะโกนบอกให้พระพุทธองค์หยุด พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด ท่านจงหยุดเถิด” องคุลิมาลฉงนใจ ร้องถามว่า “ท่านกำลังเดินอยู่แท้ๆ แต่บอกว่าเราหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้าหยุดอยู่กับที่แล้ว แต่ท่านกลับบอกว่ายังไม่หยุด ไฉนท่านจึงกล่าวคำไม่จริงเช่นนี้” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เราหยุดทำชั่วแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุดทำชั่ว”

ด้วยพระพุทธดำรัสเพียงเท่านี้ องคุลิมาลก็ได้สติ วางอาวุธ เข้าไปถวายอภิวาทแทบพระบาทยุคลทูลขอบวช ภายหลังได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์และเป็นหนึ่งในจำนวนพระมหาสาวกองค์สำคัญ

พระพุทธองค์ทรงชนะองคุลิมาลได้โดยมิต้องใช้ทวยโยธาหาญแม้แต่คนเดียว เป็นชัยชนะที่บริสุทธิ์แท้ จึงนับเป็นชัยมงคลอย่างประเสริฐ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าพูดดีดีไม่ได้ก็ต้องใช้ฤทธิ์

: ถูกหรือผิดถ้าคิดเป็นก็เห็นผล

: ทำเพื่อชาติปราชญ์ชี้เป็นวีรชน

: ทำเพื่อตนใจก็ต่ำกว่าน้ำตม

#บาลีวันละคำ (3,049)

17-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย