บาลีวันละคำ

อิทธูปเทศวิธี (บาลีวันละคำ 3,052)

อิทธูปเทศวิธี

เลือกใช้คน: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ

อ่านว่า อิด-ทู-ปะ-เทด-สะ-วิ-ที

แยกศัพท์เป็น อิทธิ + อุปเทศ + วิธี

(๑) “อิทธิ

เขียนแบบบาลีเป็น “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ

: อิธ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ

ความหมายสามัญที่เข้าใจกัน “อิทฺธิ” หมายถึง ความสำเร็จ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงทัศนะต่อคำว่า “อิทฺธิ” ไว้ว่า –

There is no single word in English for Iddhi, as the idea is unknown in Europe. The main sense seems to be ʻ potency ʼ

ไม่มีคำในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำว่า “อิทฺธิ” ได้ชัดเจนแม้สักคำเดียว, ความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรป. ความหมายหลักดูเหมือนจะเป็น potency อานุภาพหรืออำนาจ

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “อิทฺธิ” ไว้คำหนึ่งว่า psychic powers (ฤทธิ์ทางใจ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อิทธิ” เป็นอังกฤษว่า –

Iddhi : success; supernormal power; psychic power; magical power.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ).”

(๒) “อุปเทศ

บาลีเป็น “อุปเทส” อ่านว่า อุ-ปะ-เท-สะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ทิสฺ (ธาตุ = แสดง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส)

: อุป + ทิสฺ = อุปทิสฺ + = อุปทิสณ > อุปทิส > อุปเทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เข้าไปหาอาจารย์แล้วแสดง” หมายถึง การชี้แจง, การบ่งชี้, การแนะนำ, การสั่งสอน (pointing out, indication, instruction, advice)

บาลี “อุปเทส” สันสกฤตเป็น “อุปเทศ” (-เทศ ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปเทศ : (คำนาม) คำแนะนำ, คำบอกหรือชี้แจง; คำสั่ง, คำสั่งสอน; มายา; การเริ่มแนะนำสั่งสอน; การบอกมนตร์หรือสูตร์เบื้องต้น; ภาคต้น; advice, information; instruction; pretext or plea; initiation; communication or initiatory mantra or formula; an elementary team.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อุปเทศ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปเทศ : (คำนาม) การชี้แจง, การสั่งสอน, การแนะนํา; คําสั่งสอน, คําชี้แจง, คําแนะนํา. (คำกริยา) สอน, ชี้แจง, แนะนํา. (ส., ป. อุปเทส).”

(๓) “วิธี

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ

วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);

(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);

(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

การประสมคำ :

อิทฺธิ + อุปเทสลบสระหลัง ทีฆะสระหลัง” คือลบ อิ– ที่ (อิทฺ)-ธิ (อิทฺธิ > อิทฺธ) ทีฆะ อุ ที่ อุ-(ปเทส) เป็น อู (อุปเทส > อูปเทส)

: อิทฺธิ > อิทฺธ + อุปเทส = อิทฺธุปเทส > อิทฺธูปเทส แปลว่า “การแนะนำวิธีบันดาลฤทธิ์” = แนะวิธีใช้ฤทธิ์

อิทฺธูปเทส + วิธิ = อิทฺธูปเทสวิธิ (อิด-ทู-ปะ-เท-สะ-วิ-ทิ) แปลว่า “วิธีคือการแนะนำการใช้ฤทธิ์

อิทฺธูปเทสวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “อิทธูปเทศวิธี” (อิด-ทู-ปะ-เทด-สะ-วิ-ที)

อธิบาย :

อิทฺธูปเทสวิธิ” หรือ “อิทธูปเทศวิธี” ถอดคำมาจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 7 ข้อความในบาทคาถาว่า “อิทฺธูปเทสวิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

นนฺโทปนนฺทภุชคํ วิพุธํ มหิทฺธึ

ปุตฺเตน เถรภุชเคน ทมาปยนฺโต

อิทฺธูปเทสวิธินา ชิตวา มุนินฺโท

ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง

ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.

คำแปล :

พญานาคชื่อนันโทนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก

พระจอมมุนีทรงมีพุทธบัญชาให้พระโมคคัลานะพุทธโอรส

ไปปราบด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ที่เหนือกว่า

ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)

ขยายความ :

ขยายความตามคาถาว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จกลับจากจาริกสู่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลอาราธนาให้เสด็จไปฉันภัตตาหารที่บ้านของท่านในวันรุ่งขึ้น ตอนใกล้รุ่งคืนนั้น ทรงตรวจดูบุคคลที่ควรจะเสด็จไปโปรด ก็ทรงเห็นพญานาคนันโทปนันทะซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์ ครั้นเวลาเช้าตรู่จึงทรงพาพระอรหันต์จำนวนหนึ่งเหาะไปทางถิ่นที่อยู่ของพญานาค

พญานาคนันโทปนันทะเห็นพระพุทธองค์กับพระอรหันตสาวกเหาะมาด้วยอำนาจฌานสมาบัติเช่นนั้นก็โกรธตามวิสัยพาล เห็นไปว่าสมณะโล้นพวกนี้เหาะมาทำให้ฝุ่นธุลีที่ติดเท้าร่วงหล่นลงมาใส่ศีรษะตนเป็นการกลั่นแกล้งรังแกกัน จึงบันดาลฤทธิ์เป็นหมอกควันบดบังดวงตะวันจนมืดมิดไม่เห็นหน

พระอรหันต์ทั้งหลายที่ตามเสด็จมีพระรัฏฐบาลเป็นต้นทูลขออนุญาตปราบพญานาคให้สิ้นฤทธิ์ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้องค์ไหนกระทำนอกจากพระมหาโมคคัลลานเถระ

เมื่อได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว พระมหาโมคคัลลานเถระก็สำแดงฤทธิ์แปลงกายเป็นพญานาคใหญ่กว่านันโทปนันทะอีกเท่าหนึ่ง เข้าบีบรัดตัวพญานาคเข้ากับภูเขาพระสุเมรุ จะดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด แม้พญานาคจะสำแดงฤทธิ์เป็นประการใดๆ พระเถระก็สำแดงฤทธิ์ประการนั้นๆ เหนือขึ้นไปอีกเท่าหนึ่งเสมอ จนในที่สุดพญานาคสิ้นฤทธิ์ ยอมแพ้ จำแลงกายเป็นมาณพเข้าไปกราบไหว้พระเถระยอมตัวเป็นศิษย์ พระเถระก็พาไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ประทานพระโอวาทสั่งสอนให้พญานาคนันโทปนันทะละพยศ ละความเป็นพาล ให้สมาทานมั่นอยู่ในเบญจศีล แล้วจึงพาพระอรหันตสาวกทั้งนั้นไปฉันภัตตาหารยังบ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตามที่ได้รับอาราธนาไว้

ชัยชนะครั้งนี้สำคัญอย่างไรท่านจึงจัดว่าเป็นชัยมงคล? เบื้องต้น หากเราไม่สนิทใจที่จะเชื่อว่า “พญานาค” ในเรื่องนี้คืองูใหญ่ที่มีพิษมากและมีฤทธิ์มากจริงๆ ก็มีทางที่จะพึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นชนเผ่าดุร้ายอะไรพวกหนึ่งที่ขึ้นชื่ออยู่ในเวลานั้น และคงจะได้เที่ยวรังควานสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนทั้งหลายอยู่ด้วย เมื่อพระพุทธองค์สามารถบำราบชนเผ่านี้ให้ยอมทิ้งความดุร้าย เปลี่ยนใจมานับถือเลื่อมใสพระพุทธศาสนาได้ จึงน่าจะเป็นที่อัศจรรย์และเป็นเรื่องที่เลื่องลือเป็นพิเศษ ท่านจึงถือว่าเป็นชัยมงคลประการสำคัญข้อหนึ่ง

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ชัยชนะครั้งนี้พระพุทธองค์มิได้เป็นผู้ลงมือกระทำด้วยพระองค์เอง แต่ทรงกำหนดให้พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้กระทำ เกียรติคุณทั้งหลายน่าจะเป็นของพระเถระองค์นั้น แต่ไฉนจึงยกว่าเป็นชัยชนะของพระพุทธองค์ ข้อนี้น่าจะเป็นเพราะท่านเล็งถึงพระปรีชาญาณในการคัดเลือกพระสาวกให้ปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม เพราะถ้าเลือกใช้คนไม่เหมาะแก่งานแล้ว อาจจะไม่เป็นผลดีอย่างที่เป็นก็ได้ ในแง่นี้จึงต้องนับว่าเป็นชัยชนะของพระพุทธองค์ได้โดยแท้ และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ถือว่าชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยมงคลด้วย

คำว่า “อิทธูปเทศ” หรือ “อิทธิอุปเทศ” ที่แปลว่า “แนะนำฤทธิ์” โดยสำนวนจึงน่าจะหมายถึงการเลือกใช้คนให้ถูกกับงานนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นายที่ยอดเก่ง คือนายที่เลือกใช้คน

: นายที่ยอดเลว คือนายที่หลอกใช้คน

#บาลีวันละคำ (3,052)

20-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย