ส่งเสด็จไปไหน (บาลีวันละคำ 1,297)
ส่งเสด็จไปไหน ?
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 สื่อมวลชนได้รายงานข่าวโดยใช้ถ้อยคำแตกต่างกัน เท่าที่พบมีดังนี้ –
– ส่งเสด็จสู่นิพพาน
– ส่งเสด็จสู่สวรรค์
– ส่งพระศพสังฆราชสู่สวรรคาลัย
– สู่ธรรมาลัย
ทำให้เกิดคำถามว่า ควรใช้คำไหนจึงจะถูกต้อง
หาความรู้จากความหมายของคำ :
(๑) “นิพพาน”
๑) “นิพฺพาน” ในแง่ภาษา :
1- “สภาวธรรมที่ออกพ้นจากเครื่องร้อยรัด”
2- “สภาวธรรมเป็นเหตุดับไปแห่งไฟราคะเป็นต้น”
3- “สภาวธรรมเป็นที่ไม่มีตัณหา”
4- “สภาวธรรมที่เมื่อบุคคลได้บรรลุแล้วย่อมไม่มีตัณหา”
๒) “นิพฺพาน” ในแง่ความหมาย :
1- การดับของไฟหรือความร้อน
2- อนามัย, ความรู้สึกว่าร่างกายมีความผาสุกสวัสดี
3- การดับไฟทางใจ 3 กอง
4- ความรู้สึกมีสุขภาพในด้านดี, ความมั่นคง, ความถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ, ชัยชนะและความสงบ, ความพ้นจากอบายมุข, ความสุขสำราญ
๓) “นิพฺพาน” ในแง่ความเข้าใจ :
1- นิพพานไม่ใช่สถานที่ ซึ่งมีอยู่แล้ว ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึง แต่นิพพานเป็นสภาวะหรือคุณภาพของจิตใจ
2- นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็เป็นจริงอย่างที่นิพพานเป็น
3- นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือฟังคำบรรยาย เหมือนรสอาหาร ต่อให้พรรณนาหยดย้อยก็รู้ไม่ได้ แต่เมื่อได้ลิ้มรส แม้ไม่ต้องพรรณนาก็รู้ได้เอง
4- ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือนอกโลก พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ
(๒) “สวรรค์”
บาลีเป็น “สคฺค” (สัก-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ดำรงอยู่ยืนนานและสวยงาม” “แดนอันแสนดีเลิศล้ำด้วยกามคุณ” “แดนที่มีอารมณ์อันเลิศ” (คือได้พบเห็นสัมผัสแต่สิ่งที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจ) “แดนที่ติดข้อง”
สคฺค สันสกฤตเป็น “สฺวรฺค” ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สวรรค์” (สะ-หฺวัน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า “โลกของเทวดา, เมืองฟ้า”
ฝรั่งแปล “สคฺค–สวรรค์” ว่า heaven, the next world แล้วขยายความว่า popularly conceived as a place of happiness and long life (ตามมโนภาพทั่วๆ ไป เข้าใจกันว่าเป็นสถานที่มีควมสุขและมีอายุยืน)
ตามปกติคำว่า “สคฺค–สวรรค์” หมายถึง สวรรค์ที่ยังเกี่ยวข้องกับกาม 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี
(๓) “สวรรคาลัย”
อ่านว่า สะ-หฺวัน-คา-ไล เทียบเป็นบาลีว่า สคฺค + อาลย = สคฺคาลย > สฺวรฺคาลย > สวรรคาลัย ตามศัพท์แปลว่า “แดนสวรรค์”
พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า “ตาย (ใช้แก่เจ้านายชั้นสูง), (กลอน) ตาย”
ในคัมภีร์บาลียังไม่พบศัพท์ “สคฺคาลย” แต่มีคำว่า “สคฺคคต” (สัก-คะ-คะ-ตะ) ตรงกับคำว่า “สวรรคต” และ “ทิวงฺคต” (ทิ-วัง-คะ-ตะ) ตรงกับคำว่า “ทิวงคต” ทั้งสองศัพท์นี้แปลว่า “ไปสวรรค์” หมายถึง ตาย
สันนิษฐานว่า “สวรรคาลัย” คำเดิมในภาษาไทยคงจะเป็น “สวรรค์ครรไล” (สะ-หฺวัน-คัน-ไล) แปลว่า “ไปสวรรค์” (ครรไล = ไป) แต่พูดเพี้ยนเป็น สะ-หฺวัน-คา-ไล แล้วเลยเขียนเป็น “สวรรคาลัย” พจน.54 จึงให้ความหมายว่า “ตาย” (= “ไปสวรรค์”) แต่บางกรณีที่ใช้พูดหรือเขียนกัน “สวรรคาลัย” หมายถึง “แดนสวรรค์” อันเป็นความหมายที่ตรงตามรูปศัพท์
(๔) “ธรรมาลัย”
อ่านว่า ทำ-มา-ไล มาจากคำว่า ธรรม + อาลัย
๑) “ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม ปัจจัย ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม แปลว่า “สภาพที่ทรงไว้” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม” และแปลทับศัพท์ว่า ธรรม ความหมายรวบยอดของ “ธรรม” ก็คือ ข้อปฏิบัติที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี (ดูคำแปลอย่างละเอียดที่ บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)
๒) “อาลัย”
บาลีเป็น “อาลย” (อา-ละ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อา (= ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย)
: อา + ลิ + ณ = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”
“อาลย – อาลัย” ในทางรูปธรรม หมายถึง สถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, ในทางนามธรรม หมายถึง ความมีใจผูกพัน, ความเยื่อใย, ความติดใจปรารถนา, ความรักใคร่
ธมฺม + อาลย = ธมฺมาลย > ธรรมาลัย เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใช้ในความหมายว่า “แสดงความอาลัยรักโดยทางธรรม” คือแทนที่จะร้องไห้คร่ำครวญหรือจมอยู่กับความโศกเศร้า ก็หวนคิดถึงสภาพธรรมดาของชีวิตอันเป็นสัจธรรม เป็นเหตุให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว
อภิปราย :
เมื่อดูถึงเจตนาของผู้ใช้ถ้อยคำเหล่านั้น น่าจะเห็นว่าเป็นการแสดงความรู้สึกว่าการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการส่งสมเด็จพระสังฆราชไปสู่ภพภูมิอันใดอันหนึ่ง
ถ้าเป็นคนธรรมดาก็คงพูดว่า “ขอให้วิญญาณจงไปสู่สุคติ” แต่เมื่อพระองค์ท่านเป็นพระสงฆ์ การพูดเท่านั้นผู้พูดรู้สึกว่ายังต่ำเกินไปไม่สมสถานภาพ จึงนึกถึงภพภูมิอื่นๆ ที่เข้าใจว่าน่าจะสูงกว่า เช่นคิดว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาควรจะไปนิพพาน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ส่งเสด็จสู่นิพพาน”
ผู้คิดใช้ถ้อยคำเหล่านี้น่าจะใช้ไปตามจินตนาการของตนมากกว่าที่จะคำนึงถึงความเป็นจริงตามหลักวิชา เช่น เข้าใจว่านิพพานเป็นภพภูมิที่มีอยู่ ณ ดินแดนแห่งใดแห่งหนึ่งและสามารถตั้งความปรารถนาดีให้พระสงฆ์ไปอยู่ในนิพพานได้ ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ไม่ตรงกับคำสอนในพระพุทธศาสนา
คำอื่น เช่น สวรรคาลัย ธรรมาลัย ก็เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ตรงกับความหมาย
ถ้าถามว่า แล้วควรจะใช้ถ้อยคำว่าอย่างไรจึงจะถูกต้อง
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า ควรเว้นถ้อยคำที่แสดงความปรารถนาให้พระองค์ท่านไปถึงหรือไปอยู่ในภพภูมิใดๆ
คำกลางๆ ที่เราใช้กับบุคคลทั่วไปคือ “ไปสู่สุคติ” น่าจะมีความหมายที่เหมาะสม แต่จะประดิษฐ์ถ้อยคำอย่างไรให้มีความหมายว่า “ไปสู่สุคติ” เป็นเรื่องที่ควรให้ผู้รู้ช่วยกันพิจารณาอย่างทั่วถึง
แนวเทียบก็อย่างเช่น-เรามีหลักเกณฑ์การใช้ราชาศัพท์ที่คนทั่วไปกำหนดจดจำและเข้าใจได้ตรงกันโดยไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะใช้ถ้อยคำอย่างไรจึงจะถูกต้อง เช่น คำกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ใช้คำขึ้นต้นว่า “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” คำลงท้ายให้ใช้ว่า “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับภาษาของชาติสามารถจัดทำหลักเกณฑ์การใช้ถ้อยคำภาษาในพิธีการและกิจการต่างๆ ที่ควรใช้ภาษาให้เป็นแบบแผนขึ้นแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบว่า กรณีอย่างนี้ งานเช่นนี้ ให้ใช้ถ้อยคำอย่างนี้ๆ ความสับสนอลหม่านทางภาษาก็จะเบาบางลงไป หากจะมีเกิดขึ้นก็มีหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินได้แน่นอน ทั้งยังจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความจำเริญทางภาษาของชาติได้อีกโสดหนึ่ง
—–
สัจจะมี 2 คือ –
สมมติสัจจะ = ความจริงโดยสมมุติ (conventional truth)
ปรมัตถสัจจะ = ความจริงโดยปรมัตถ์ (ultimate truth)
: ภาษาเป็นสิ่งสมมุติก็จริง แต่ก็เป็นสัจจะ
———–
(ภาพประกอบจากเฟซของ Wiroj Pispeng และ ยุทธเศรษฐ วังกานนท์)
17-12-58