ญาณาคทวิธี (บาลีวันละคำ 3,053)
ญาณาคทวิธี
ให้เจอของจริง: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ
อ่านว่า ยา-นา-คะ-ทะ-วิ-ที
แยกศัพท์เป็น ญาณ + อคท + วิธี
(๑) “ญาณ”
บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: ญา + ยุ > อน = ญาน > ญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยรู้” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้” “รู้สิ่งที่พึงรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญา, การหยั่งเห็น, ความเข้าใจ, การหยั่งรู้, การรับรู้, ความคงแก่เรียน, ทักษะ, ความฉลาด (knowledge, intelligence, insight, conviction, recognition, learning, skill)
“ญาณ” ในความหมายพิเศษ หมายถึงปัญญาหยั่งรู้หรือกําหนดรู้ความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างแจ่มชัดจนเกิดความสว่างไสวในดวงจิต หรือความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษถึงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
“ญาณ” ในภาษาไทย :
– ถ้ามีคำอื่นมาสมาสท้าย อ่านว่า ยา-นะ- หรือ ยาน-นะ- เช่น ญาณสังวร (ยา-นะ-สัง-วอน, ญาน-นะ-สัง-วอน)
– ถ้าอยู่เดี่ยวหรือเป็นส่วนท้ายของสมาส อ่านว่า ยาน เช่น วชิรญาณ (วะ-ชิ-ระ-ยาน)
(๒) “อคท”
อ่านว่า อะ-คะ-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อค (โรค) + ทา (ธาตุ = ตัด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ ทา (ทา > ท)
: อค + ทา = อคทา > อคท + อ = อคท แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตัดโรค”
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + คท (โรค), แปลง น เป็น อ
: น + คท = นคท > อคท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ไม่มีโรค” (2) “สิ่งเป็นเหตุให้ไม่มีโรค”
“อคท” (ปุงลิงค์) หมายถึง ยา, ยาแก้โรค, ยาที่แก้ยาพิษ (medicine, drug, counter-poison)
(๓) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
การประสมคำ :
๑ ญาณ + อคท = ญาณาคท (ยา-นา-คะ-ทะ) แปลว่า “ยาคือญาณ” (ในที่นี่คือ ญาณของพระพุทธเจ้า)
๒ ญาณาคท + วิธิ = ญาณาคทวิธิ (ยา-นา-คะ-ทะ-วิ-ทิ) แปลว่า “วิธีคือวางยาคือญาณ”
“ญาณาคทวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “ญาณาคทวิธี”
อธิบาย :
“ญาณาคทวิธิ” หรือ “ญาณาคทวิธี” ปรุงรูปคำมาจากจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 8 ข้อความในบาทคาถาว่า “ญาณาคเทน วิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ
พฺรหฺมํ วิสุทฺธิชุติมิทฺธิพกาภิธานํ
ญาณาคเทน วิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พ๎รัห๎มัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
พรหมชื่อพกะ (ถือตัวว่า) มีความบริสุทธิ์ รุ่งเรือง และมีฤทธิ์
ยึดมั่นในความเห็นผิด ดุจมีมือถูกอสรพิษขบเอา
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยใช้ยาวิเศษคือญาณรักษา
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)
ขยายความ :
ขยายความตามคาถาว่า คนเห็นผิดที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดให้กลับเห็นถูกต้องได้นั้นมีอยู่มากหลาย แต่เฉพาะรายนี้เป็นรายพิเศษ เนื่องจากเป็นพรหม ชื่อพกะ พกพรหม (อ่านว่า พะ-กะ-พรม) เกิดอยู่ในพรหมโลกซึ่งมีอายุขัยยืนยาวนับกัปกัลป์ เพราะมีอายุยืนยาวเช่นนี้จึงไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงแปรปรวน ทำให้เกิดความเห็นผิดไปว่าสรรพสิ่งย่อมยั่งยืน อะไรเป็นอยู่อย่างไร ก็จะเป็นอย่างนั้นเป็นนิรันดร ความเห็นเช่นนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่า “สัสสตทิฏฐิ” เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่ง
นอกจากจะมีความเห็นเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว พกพรหมยังถือตัวว่าเป็นผู้รู้แจ้งเจนจบ มิมีสิ่งใดเลยที่ตนจะไม่รู้ไม่เห็น แม้จะลี้ลับซ่อนเร้นเช่นไรก็สามารถหยั่งทราบได้สิ้น
พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาจะทรงเปลื้องพกพรหมเสียจากมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จขึ้นไปยังพรหมโลก ตรัสเตือนพกพรหมว่ากำลังหลงผิด แต่พกพรหมกลับแสดงอหังการท้าประลองวิชาซ่อนตัว พระพุทธองค์ทรงรับคำท้า พกพรหมจะสำแดงฤทธิ์หายตัวไปซ่อน ณ ที่ใดๆ พระพุทธองค์ก็ทรงทราบและชี้ตัวได้ทุกแห่ง แต่เมื่อถึงวาระพระพุทธองค์ทรงซ่อนพระองค์บ้าง พกพรหมเล็งแลจนทั่วจักรวาลก็มิได้เห็น เป็นอันสิ้นปัญญาที่จะค้นหา พระพุทธองค์จึงตรัสร้องเรียกพกพรหมว่า ดูก่อนพกพรหม ตถาคตกำลังจงกรมอยู่บนศีรษะของท่าน ตรัสแล้วก็สำแดงพระองค์ออกมาจากมวยผมของพกพรหม ปรากฏแก่ตาแห่งหมู่มหาพรหมและทวยเทพทั้งปวง
เมื่อเห็นพกพรหมจำนนแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าบุพกรรมในชาติก่อนๆ ให้พกพรหมได้ทราบว่าเธอเคยเกิดเป็นอะไรมาแล้วบ้าง ทำให้พกพรหมยอมละมิจฉาทิฏฐิ กลับตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิและได้ดวงตาเห็นธรรม
พกพรหมในที่นี้อาจเป็นสัญลักษณ์แทนเจ้าลัทธิพราหมณ์ผู้ยิ่งใหญ่คนใดคนหนึ่งที่ประกาศคัดค้านหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา และยกตัวเองเป็นศาสดาผู้ทรงฤทธานุภาพเหนือผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงบำราบได้ด้วยพระปรีชาญาณกลับความเห็นผิดของเจ้าลัทธินั้นได้ จึงนับเป็นชัยมงคลสำคัญประการหนึ่ง
มีข้อควรสังเกตว่า วิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการพิชิตชัยครั้งนี้ท่านใช้คำว่า “ญาณ” ซึ่งดูเหมือนจะซ้ำกับวิธีที่ทรงใช้กับสัจจกนิครนถ์ซึ่งใช้คำว่า “ปัญญา” (“ปญฺญาปทีปชลิโต” คาถาพาหุงบทที่ 6) ทั้งนี้เพราะ “ญาณ” กับ “ปัญญา” น่าจะเหมือนกัน
ผู้เขียนบาลีวันละคำลองขบดูแล้ว ขอเสนอแนวคิดว่า ในคาถาพาหุงนี้ “ญาณ” กับ “ปัญญา” น่าจะมีความหมายยิ่งหย่อนกว่ากัน “ปัญญา” ที่ทรงเอาชนะสัจจกนิครนถ์อุปมาเหมือนคนป่วยเล็กน้อย แค่ทายาให้ก็หาย แต่ “ญาณ” ที่ใช้กับพกพรหมอุปมาเหมือนคนป่วยหนักถึงขั้นต้อง “วางยา” หรือผ่าตัด
อีกนัยหนึ่ง อุปมาเหมือนคนแนะนำผลไม้ชนิดหนึ่ง กับสัจจกนิครนถ์แค่อธิบายรูปร่างลักษณะของผลไม้ชนิดนั้นให้ฟังหรือเขียนรูปให้ดูก็รู้ได้ นี่คือ “ปัญญา”
แต่กับพกพรหม เหมือนการอธิบายถึงรสของผลไม้ชนิดนั้น แค่พูดให้ฟังไม่อาจทำให้รู้ได้ ต้องหาผลไม้ชนิดนั้นมาให้ลองชิมรสดูด้วยจึงจะรู้ นี่คือ “ญาณ”
“ญาณ” กับ “ปัญญา” ในวิธีแห่งชัยชนะตามนัยแห่งคาถาพาหุงน่าจะมีนัยต่างกันตามอุปมาดังแสดงมานี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เหนื่อยกับการพยายามบอกให้รู้
: ยังไม่หดหู่เท่ากับความไม่ใส่ใจ
#บาลีวันละคำ (3,053)
21-10-63