บาลีวันละคำ

นิติกร (บาลีวันละคำ 1,769)

นิติกร

ความยุติธรรมอยู่ในกำมือของใคร

อ่านว่า นิ-ติ-กอน

ประกอบด้วย นิติ + กร

(๑) “นิติ

บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย

: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)

โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติ : นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี”

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)

นีติ + กร = นีติกร > นิติกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำแบบแผน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิติกร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ชื่อตําแหน่งผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกฎหมาย.”

…………..

นิติกร” เป็นคำที่ไม่เก่า แต่ก็ไม่ใหม่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำนี้ไว้แล้ว นั่นคือคำว่า “นิติกร” มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี

คนรุ่นเก่าหน่อยอาจไม่คุ้นกับคำนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้สืบค้นว่าผู้ทำหน้าที่นิติกรในระบบราชการสมัยก่อนเรียกชื่ออย่างไร ถ้าเทียบกับตำแหน่งทางทหาร เข้าใจว่า “นิติกร” น่าจะทำหน้าที่คล้ายกับ “นายทหารพระธรรมนูญ

คำว่า “นิติกร” พบว่าภาษาอังกฤษใช้คำว่า Legal Officer ส่วน “นายทหารพระธรรมนูญ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า Staff judge advocate

ขอแรงญาติมิตรที่แม่นยำในข้อมูลด้านนี้กรุณาบอกกล่าวเป็นวิทยาทานด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ใครว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม?

: เพียงแต่ท่านทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม

: โลกก็มีความยุติธรรมทันที

10-4-60