อนิยต (บาลีวันละคำ 3,065)
อนิยต
2 ใน 227
ศีลของพระภิกษุที่มาในพระปาติโมกข์ ซึ่งพระต้องประชุมกันฟังทุกกึ่งเดือน มีจำนวนที่รู้ทั่วกันว่า “227 สิกขาบท” ดังที่มักพูดกันว่า “พระมีศีล 227”
ศีล 227 แบ่งเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดได้ดังนี้ –
(๑) ปาราชิก 4 สิกขาบท
(๒) สังฆาทิเสส 13 สิกขาบท
(๓) อนิยต 2 สิกขาบท
(๔) นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า นิสสัคคีย์)
(๕) สุทธิกปาจิตตีย์ 92 สิกขาบท (เรียกสั้นว่า ปาจิตตีย์)
(๖) ปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท
(๗) เสขิยะ หรือเสขิยวัตร 75 สิกขาบท
(๘) อธิกรณสมถะ 7 สิกขาบท
รวม 227 สิกขาบท
“อนิยต” เป็น 2 ใน 227
คำว่า “อนิยต” ภาษาไทยอ่านว่า อะ-นิ-ยด บาลีอ่านว่า อะ-นิ-ยะ-ตะ ประกอบด้วย อ + นิยต
(๑) “อ”
อ่านว่า อะ คำเดิมคือ “น” (นะ) เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(๒) “นิยต”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมฺ (ธาตุ = ระวัง; ผูก, พัน) + ต ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + ต = นิยมต > นิยต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดแน่นอนลงไป” หมายถึง สำรวม, ยับยั้ง, ระวัง, ระงับ, แน่ใจ [ในเรื่องอนาคต], กำหนดแน่ [ในผลที่จะเกิด], แน่นอน, ถูกทำให้แน่ใจ, จำเป็น (restrained, bound to, con- strained to, sure [as to the future], fixed [in its consequences], certain, assured, necessary)
การประสมคำ :
น + นิยต
ตามกฎไวยากรณ์บาลี :
(1) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อ” (อะ)
(2) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)
ในที่นี้ “นิยต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อ”
: น + นิยต = นนิยต > อนิยต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ได้กำหนดแน่นอนลงไป” หรือ “สิ่งที่ยังกำหนดแน่นอนลงไปไม่ได้” หมายถึง ยังตกลงกันไม่ได้, ไม่แน่นอน, ยังสงสัยอยู่ (not settled, uncertain, doubtful)
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “อนิยต” และ “อนิยตสิกขาบท” บอกไว้ดังนี้ –
(1) อนิยต : ไม่แน่, ไม่แน่นอน เป็นชื่ออาบัติที่ยังไม่แน่ ระหว่างปาราชิก สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ ซึ่งพระวินัยธรจะต้องวินิจฉัย
(2) อนิยตสิกขาบท : สิกขาบทที่วางอาบัติไว้ไม่แน่ คือยังไม่ระบุชัดลงไปว่าเป็นปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์, มี ๒ สิกขาบท
…………..
หนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี มีข้อความที่แสดงเรื่อง “อนิยต” ไว้ดังนี้ –
…………..
อนิยต ๒
๑. ภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่าง คือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น.
๒. ภิกษุนั่งในที่ลับหูกับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่าง คือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใดให้ปรับอย่างนั้น.
…………..
หนังสือ “วินัยมุข เล่ม ๑” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเช่นกัน ตอนอธิบายอนิยตสิกขาบท ลงท้ายมีข้อความดังนี้ –
…………..
อนิยตสิกขาบทเหล่านี้ควรถือเป็นแบบสำหรับอธิกรณ์อันเกิดขึ้น. ถ้ามีผู้กล่าวหาภิกษุ และข้อความที่กล่าวหานั้นถ้าเป็นจริง มีโทษโดยฐานละเมิดพระบัญญัติอันให้ต้องอาบัตินั้นๆ เช่นนี้ควรพิจารณา ถ้าไม่ถึงเป็นอาบัติ ไม่ควรพิจารณา. อธิกรณ์นั้นที่พิจารณาอยู่ ถ้าไม่มีผู้อื่นเป็นพยาน เป็นการตัวต่อตัว ควรฟังเอาปฏิญญาของภิกษุ. ถ้ามีพยานอื่นเป็นหลักฐาน โดยทางพิจารณาถือว่าฟังได้ แม้จำเลยปฏิเสธก็ปรับอาบัติได้.
…………..
แถม :
“นิยต” และ “อนิยต” 2 คำนี้เราแทบจะไม่รู้จักกันในภาษาไทยประจำวัน แต่มีความหมายที่น่าสนใจ
มีคำที่น่าสนใจ 2 คำที่เนื่องกับคำว่า “นิยต” คือ “นิยตโพธิสัตว์” และ “นิยตมิจฉาทิฏฐิ”
“นิยตโพธิสัตว์” หมายถึง ผู้ปรารถนาพุทธภูมิคือหวังจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติหรือเงื่อนไข 8 ประการ ที่เรียกว่า “อัฐธรรมสโมธาน” (ดูคำนี้) เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ประการของเงื่อนไข) ว่าจะได้ตรัสรู้แน่นอน นับแต่บัดนั้นก็จะได้ชื่อว่า “นิยตโพธิสัตว์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้จะได้ตรัสรู้แน่นอน”
“นิยตมิจฉาทิฏฐิ” หมายถึง ผู้มีความเห็นผิดจากหลักสัจธรรม มี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเห็นผิด แต่ไม่ลึก ยังพออบรมแก้ไขให้กลับเห็นถูกได้ เรียกว่า “อนิยตมิจฉาทิฏฐิ”
อีกประเภทหนึ่งเห็นผิดชนิดที่ฝังลึกจนแก้ไม่ได้ แม้บุคคลระดับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนก็ไม่เปลี่ยนความเห็น ที่เรียกว่าพระโปรดไม่ขึ้น ประเภทนี้เรียกว่า “นิยตมิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาปากตลกๆ ว่า “เห็นผิดชนิดกู่ไม่กลับ”
ยังมีคำที่เนื่องกับ “นิยต” และ “อนิยต” อีกหลายคำ แต่แสดงพอเป็นนิทัศน์เพียงเท่านี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
๏ คนจริงไม่เปลี่ยนใจ
คงนิสัยและสันดาน
ชอบชั่วก็เชี่ยวชาญ
ในเชิงชั่วจนช่ำชอง
๏ ชอบดีก็ดีแน่
ดั่งทองแท้คงธาตุทอง
ใครปรารถน์จะเปลี่ยนปอง
บ่เปลี่ยนได้เพราะใจเดียว๚ะ๛
ถอดความ :
คนที่ใจดิ่งไปในทางเดียว
ชั่วก็ชั่วดิ่งไป
ดีก็ดีดิ่งไป
คนชนิดนี้ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนได้
#บาลีวันละคำ (3,065)
2-11-63