บาลีวันละคำ

คณโภชน์ (บาลีวันละคำ 3,070)

คณโภชน์

อานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครรู้จัก

และไม่มีใครสนใจที่จะรู้

…………..

ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (คือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย) 5 ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) คือ

(1) จาริกไปไม่ต้องบอกลา

(2) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

(3) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้

(4) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา

(5) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์กฐินทั้ง 5 ข้อนี้ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ

คำหนึ่งที่น่ารู้คือ “ฉันคณโภชน์ได้

คณโภชน์” คืออะไร?

คณโภชน์” อ่านว่า คะ-นะ-โพด ประกอบด้วยคำว่า คณ + โภชน์

(๑) “คณ

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + (อะ) ปัจจัย

: คณฺ + = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน

คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

(๑) “โภชน์

เขียนแบบบาลีเป็น “โภชน” อ่านว่า โพ-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภช)

: ภุชฺ + ยุ > อน = ภุชน > โภชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” “สิ่งที่ควรกิน” หมายถึง อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป (food, meal, nourishment in general); การกิน (eating)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โภชน-, โภชนะ : (คำนาม) อาหาร; การกิน, การกินข้าว. (ป., ส.).”

คณ + โภชน = คณโภชน (คะ-นะ-โพ-ชะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกินเป็นหมู่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คณโภชน” ว่า food prepared as a joint meal (อาหารที่จัดให้ฉันรวมกัน)

คณโภชน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “คณโภชน์

ขยายความ :

คัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค 2 วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 483 ให้คำจำกัดความคำว่า “คณโภชน” ไว้ดังนี้ –

…………..

คณโภชนํ  นาม  ยตฺถ  จตฺตาโร  ภิกฺขู  ปญฺจนฺนํ  โภชนานํ  อญฺญตเรน  โภชเนน  นิมนฺติตา  ภุญฺชนฺติ  เอตํ  คณโภชนํ  นาม.

ที่ชื่อว่า “คณโภชน” คือคราวที่มีภิกษุ 4 รูปอันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ 5 ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วฉัน นี้ชื่อว่าคณโภชน์

…………..

หนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี มีข้อความที่แสดงเรื่อง “คณโภชน์” ไว้ในกลุ่มสิกขาบทที่เรียกว่า “ปาจิตตีย์” 92 สิกขาบท ในหมวดที่ 4 โภชนวรรค สิกขาบทที่ 2 ซึ่งเรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “คณโภชนสิกขาบท” ดังนี้ –

…………..

๒. ถ้าทายกเขามานิมนต์ออกชื่อโภชนะทั้ง ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปรับของนั้นมาหรือฉันของนั้นพร้อมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัย คือ เป็นไข้อย่าง ๑ หน้าจีวรกาลอย่าง ๑ เวลาทำจีวรอย่าง ๑ เดินทางไกลอย่าง ๑ ไปทางเรืออย่าง ๑ อยู่มากด้วยกันบิณฑบาตไม่พอฉันอย่าง ๑ โภชนะเป็นของสมณะอย่าง ๑

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “คณโภชน์” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

คณโภชน์ : ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะแล้วฉัน; ในหนังสือวินัยมุข ทรงมีข้อพิจารณาว่า บางทีจะหมายถึงการนั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกความหมายของ “คณโภชน์” ว่า “ฉันเป็นหมู่

คำว่า “ทรงมีข้อพิจารณาว่า” หมายถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงความเห็นเรื่องนี้ไว้หนังสือ “วินัยมุข เล่ม ๑” ดังนี้ –

…………..

มีทางจะเข้าใจได้อีกอย่างหนึ่ง นั่งล้อมโภชนะฉัน เรียกสั้นว่า ฉันเข้าวง ชื่อว่าฉันเป็นหมู่. ตามธรรมเนียมของพราหมณ์ก็ดี ของภิกษุก็ดี เวลาฉันนั่งเรียงเป็นแถว ไม่นั่งล้อมเป็นวง. บางทีจะห้ามการฉันเข้าวงอย่างนี้บ้างกระมัง. เมื่อถือเอาความเช่นนี้ ภิกษุผู้เดินทาง ผู้ไปทางเรือ ผู้ตกอยู่ในคราวอัตคัด ได้รับประโยชน์จากพระพุทธานุญาต คงรู้สึกสะดวกขึ้นมาก.

…………..

เป็นอันได้ความตามที่เข้าใจกันมาว่า “คณโภชน์” หรือ “คณโภชนสิกขาบท” อันเป็นศีลข้อหนึ่งใน 227 ข้อ หมายถึง ถ้ามีผู้มานิมนต์ไปฉันภัตตาหารโดยระบุชื่อหรือชนิดของอาหาร เช่น “นิมนต์ไปฉันไก่ย่าง” “นิมนต์ไปฉันสุกี้” อย่างนี้เป็นต้น พระรับนิมนต์ไปฉันไม่ได้ เป็นอาบัติ

ธรรมเนียมการใช้คำพูดนิมนต์พระไปฉัน จึงพูดแต่เพียงว่า “นิมนต์ฉันเช้า” หรือ “นิมนต์ฉันเพล” หรือ “นิมนต์ฉันภัตตาหาร” เท่านี้พอ (คำว่า “ภัตตาหาร” ไม่ถือว่าระบุชื่ออาหาร) ไม่ต้องระบุว่าไปฉันอะไร

อีกนัยหนึ่ง “คณโภชน์” หรือ “คณโภชนสิกขาบท” หมายถึง ฉันเป็นวง ซึ่งตรงกับรูปศัพท์ “คณโภชน” ที่แปลว่า “การกินเป็นหมู่

คณโภชน์” ตามความหมายดังกล่าวนี้ ภิกษุทำไม่ได้ ถือว่าผิดศีล

แต่ถ้าได้รับกฐิน (คือที่ภาษาพระวินัยเรียกว่า “กรานกฐิน”) ย่อมได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตาม “คณโภชนสิกขาบท” หมายความว่า ผู้นิมนต์ระบุชื่อหรือชนิดของอาหารก็ไปฉันได้ หรือฉันเป็นวงก็ได้ ไม่ถือว่าผิด เพราะได้รับยกเว้น อันเป็นอานิสงส์กฐินข้อหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นเงินเป็นอานิสงส์กฐิน

: ศาสนาของพระจอมมุนินทร์ก็เรียวลงไปทุกวัน

———–

(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sunant Ruchiwet Phramaha)

#บาลีวันละคำ (3,070)

7-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย