ปรัตถานุมาน (บาลีวันละคำ 3,072)
ปรัตถานุมาน
ตามอัตโนมัตยาธิบาย
อ่านว่า ปะ-รัด-ถา-นุ-มาน
แยกศัพท์เป็น ปรัตถ + อนุมาน
(๑) “ปรัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปรตฺถ” อ่านว่า ปะ-รัด-ถะ ในบาลีมีความหมาย 2 นัย
: นัยที่ 1 เป็นคำนาม มาจากคำว่า ปร + อตฺถ
(ก) “ปร” บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ
: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ในที่นี้หมายถึง –
(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)
(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)
ในที่นี้ “ปร” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(ข) “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถฺ + อ = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)
(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)
(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
ในที่นี้ “อตฺถ” มีความหมายเน้นหนักตามข้อ (3)
ปร + อตฺถ = ปรตฺถ แปลว่า “ความหมายอย่างอื่น” หรือ “ความหมายของสิ่งอื่น”
โดยทั่วไป คำว่า “ปรตฺถ” มักใช้ในความหมายว่า “ประโยชน์ของผู้อื่น” คือประโยชน์ที่ทำเพื่อผู้อื่น (the profit or welfare of another) ตรงกันข้ามกับ “อตฺตทตฺถ” (อตฺต + อตฺถ) หมายถึง ผลประโยชน์หรือกำไรของตน (one’s own profit or interest) นั่นคือ “อตฺถ” หมายถึง “ประโยชน์” แต่ในที่นี้ “อตฺถ” หมายถึง “ความหมาย” (sense, meaning, signification)
: นัยที่ 2 “ปรตฺถ” เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หรือจะว่าเป็นคำนิบาตชนิดหนึ่งก็ได้ เป็นนิบาตบอกสถานที่ หมายถึง ที่อื่น, หลังจากนี้, ในชีวิตอนาคต, ในโลกอื่น (elsewhere, hereafter, in the Beyond, in the other world)
“ปรตฺถ” ตามนัยนี้มักคู่กับ “อิธ” (อิ-ทะ) คือ –
อิธ = ในโลกนี้
ปรตฺถ = ในโลกหน้า
“ปรตฺถ” ตามนัยนี้ไม่เกี่ยวกับ “ประโยชน์” หรือ “ความหมาย” เป็นคนละคำกัน
และ “ปรตฺถ” ในคำว่า “ปรัตถานุมาน” นี้ก็ไม่ใช่ “ปรตฺถ” ที่แปลว่า โลกหน้าหรือโลกอื่น แต่เป็น “ปรตฺถ” ที่หมายถึง “ความหมาย” โปรดแยกกันให้ชัด
(๒) “อนุมาน” บาลีอ่านว่า อะ-นุ-มา-นะ ประกอบด้วย อนุ + มาน
(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปล “อนุ” ว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
(ข) อนุ + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อนุ + มา = อนุมา + ยุ > อน = อนุมาน แปลตามศัพท์ว่า “การกำหนดตามสิ่งที่ควรกำหนด”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อนุมาน” ว่า อนุมาน, การกำหนดตามเหตุผล
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุมาน” ว่า inference (การอนุมานหรือการคาดคะเน)
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล inference เป็นบาลีว่า –
(1) anumāna อนุมาน (อะ-นุ-มา-นะ) = การอนุมาน
(2) naya นย (นะ-ยะ) = นัย (“เค้าความที่ส่อให้เข้าใจเอาเอง”)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “อนุมาน” รวมไว้กับ “อนุมา” และ “อนุมิติ” บอกไว้ดังนี้ –
“อนุมา, อนุมาน, อนุมิติ : (คำนาม) การลงเอย, การกล่าวกล่อม ตะล่อม อวสาน จากอุทาหรณ์ที่กำหนดให้; inference, drawing a conclusion from given premises.”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล inference เป็นไทยว่า ลงความเห็นได้, แสดงว่า, ข้อลงความเห็น, ข้อวินิจฉัย
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อนุมาน” ว่า คาดคะเน, ความคาดหมาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนุมาน : (คำกริยา) คาดคะเนตามหลักเหตุผล. (ป., ส.).
ปรตฺถ + อนุมาน = ปรตฺถานุมาน (ปะ-รัด-ถา-นุ-มา-นะ) > ปรัตถานุมาน (ปะ-รัด-ถา-นุ-มาน) แปลตามศัพท์ว่า “การให้เหตุผลตามความหมายของสิ่งอื่น” หรือ “การสรุปความตามความหมายของสิ่งอื่น”
“ปรัตถานุมาน” เป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาปรัชญา มาจากคำอังกฤษว่า syllogism
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล syllogism เป็นบาลีว่า:
tidhābhūta-takka ติธาภูต–ตกฺก (ติ-ทา-พู-ตะ ตัก-กะ) แปลว่า “แนวคิดที่เป็นสามส่วน”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล syllogism เป็นไทยดังนี้ –
…………..
1. การอ้างเหตุผลในตรรกวิทยาโดยอาศัยข้อเท็จจริงสองข้อ เช่นว่า ความดีทุกอย่างควรสรรเสริญ และความกรุณาก็เป็นความดีอันหนึ่งฉะนั้นความกรุณาจึงควรสรรเสริญ
2. การอ้างเหตุผลตบตา
…………..
ขยายความ :
ประมวลความตามความหมายที่แปลมาจากถ้อยคำเท่าที่ตาเห็น ผู้เขียนบาลีวันละคำขอขยายความตามอัตโนมัตยาธิบาย (แปลว่า “อธิบายตามความเข้าใจของตัวเอง”) โดยยึดเอาความหมายของคำว่า “ติธาภูต–ตกฺก” = “แนวคิดที่เป็นสามส่วน” ตามพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ประกอบกับความหมายของคำว่า syllogism ตามพจนานุกรม สอ เสถบุตรเป็นหลัก ดังต่อไปนี้ –
คำว่า “ปรัตถานุมาน” หมายถึง การอ้างเหตุผลโดยมีโครงสร้างประโยคเป็น 3 ส่วน กล่าวคือ:
ส่วนที่ ๑ ยกข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอันเป็นที่ยอมรับกันแล้วขึ้นตั้ง เช่น “ความดีทุกอย่างควรสรรเสริญ”
ส่วนที่ ๒ ยกข้อเสนอหรือสิ่งที่เป็นเป้าหมายของตนขึ้นมาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงในข้อที่ ๑ เช่น “ความกรุณาก็เป็นความดีอันหนึ่ง”
ส่วนที่ ๓ สรุปความหมายของส่วนที่ ๒ (ตามตัวอย่างคือ “ความกรุณา”) ด้วยความหมายของส่วนที่ ๑ (ตามตัวอย่างคือ “ความดีทุกอย่าง”)
นั่นคือ —
ในเมื่อ “ความดีทุกอย่าง” ควรสรรเสริญ
จึงสรุปได้ว่า “ความกรุณา” อันเป็นความดีชนิดหนึ่งก็ย่อมควรสรรเสริญด้วย
ตัวอย่างอื่นๆ :
(๑) คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ
(๒) นายดำเป็นคนไทย
(๓) ดังนั้น นายดำจึงเป็นคนมีน้ำใจ
(๑) พระวัดสันติปาลารามสวดพระปาติโมกข์เก่ง
(๒) พระทองย้อยอยู่วัดสันติปาลาราม
(๓) ดังนั้น พระทองย้อยจึงสวดพระปาติโมกข์เก่ง
ที่พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล syllogism อีกความหมายหนึ่งว่า “การอ้างเหตุผลตบตา” ก็เพราะข้อสรุป (คือการสรุปตามข้อ (๓) หรือในส่วนที่ ๓) อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง (ตามข้อ (๑) หรือในส่วนที่ ๑) ก็เป็นได้
กล่าวคือ:-
นายดำเป็นคนไทยก็จริง แต่อาจไม่ใช่คนมีน้ำใจก็เป็นได้ ความมีน้ำใจหรือไม่มีน้ำใจมิได้ขึ้นอยู่กับความเป็นคนไทยอย่างเดียว คนไทยที่ไม่มีน้ำใจก็มีถมไป ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นคนไทยจะต้องมีน้ำใจหมดทุกคน
พระทองย้อยอยู่วัดสันติปาลารามก็จริง แต่อาจสวดพระปาติโมกข์ไม่เก่งหรือสวดไม่ได้ด้วยซ้ำไป พระวัดสันติปาลารามที่สวดพระปาติโมกข์ไม่เก่งหรือสวดไม่ได้ก็มี ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นพระวัดสันติปาลารามจะต้องสวดพระปาติโมกข์เก่งทุกรูป
“ปรัตถานุมาน” ที่แปลว่า “การสรุปความตามความหมายของสิ่งอื่น” ก็คือ
– ข้อเท็จจริง (ตามข้อ ๑) เป็นอย่างหนึ่ง ( = สิ่งอื่น)
– ข้อเสนอเพื่อต้องการให้สรุป (ตามข้อ ๒) เป็นอีกอย่างหนึ่ง
– ข้อสรุป กลับไปเอาข้อเท็จจริงตามข้อ ๑ มาสรุปข้อเสนอตามข้อ ๒
จึงเป็นการสรุปที่อาจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และดังนั้น การสรุปแบบนั้นจึงเป็น “การอ้างเหตุผลตบตา” ดังที่พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล syllogism (ปรัตถานุมาน) อีกความหมายหนึ่ง
ถ้าจะให้เข้าใจชัดขึ้นก็ต้องลองสรุปผิดๆ ให้ดู เช่น –
(๑) ควายเป็นสัตว์สี่เท้า
(๒) แมวก็เป็นสัตว์สี่เท้า
(๓) เพราะฉะนั้น แมวคือควาย
แบบนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า “การอ้างเหตุผลตบตา” (syllogism) คืออย่างไร
“ปรัตถานุมาน” หรือ syllogism มีนัยดังแสดงมาฉะนี้แล
หมายเหตุ: ที่อธิบายมานี้ ว่าตามรูปศัพท์เท่าที่ตาเห็นแล้วลากเข้าไปหาความเข้าใจ ไม่ได้คำนึงถึงหลักตรรกศาสตร์หรือวิชาปรัชญาใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น จะต้องให้ผู้รู้หลักตรรกศาสตร์หรือรู้วิชาปรัชญาอธิบายอีกทีหนึ่งจึงจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องตามแนวของศาสตร์นั้นๆ-ซึ่งอาจไม่ตรงกับที่อธิบายมานี้โดยสิ้นเชิงก็เป็นได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนอื่นตบตาเราได้เป็นครั้งคราวพอให้ครื้นเครง
: แต่ความเขลาของเราตบตาตัวเองได้ตลอดกาล
—————
(ส่งการบ้านคุณครู Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
9-11-63