บาลีวันละคำ

ปรัมปรโภชน์ (บาลีวันละคำ 3,071)

ปรัมปรโภชน์

อานิสงส์กฐินที่ไม่มีใครรู้จัก

และไม่มีใครสนใจที่จะรู้

…………..

ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ (คือข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระวินัย) 5 ประการ (เหมือนอานิสงส์การจำพรรษา) คือ

(1) จาริกไปไม่ต้องบอกลา

(2) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

(3) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้

(4) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา

(5) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์กฐินทั้ง 5 ข้อนี้ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ

คำหนึ่งที่น่ารู้คือ “ฉันปรัมปรโภชน์ได้

ปรัมปรโภชน์” คืออะไร?

ปรัมปรโภชน์” อ่านว่า ปะ-รำ-ปะ-ระ-โพด ประกอบด้วยคำว่า ปรัมปร + โภชน์

(๑) “ปรัมปร

เขียนแบบบาลีเป็น “ปรมฺปร” (ปะ-รำ-ปะ-ระ) รูปคำเดิมมาจาก ปร + ปร

ปร” บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก (แทนศัพท์ หึสา = เบียดเบียน) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ

: + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ในที่นี้หมายถึง –

(1) อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (another, other)

(2) ศัตรู, ปรปักษ์ (enemies, opponents)

ในที่นี้ “ปร” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

การประสมคำ :

ปร + ปร ลงนิคหิต (อํ) ที่ ปร คำหน้า แล้วแปลงนิคหิตเป็น มฺ

: ปร + อํ + ปร = ปรํปร > ปรมฺปร (ปะ-รำ-ปะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “อื่นและอื่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรมฺปร” ว่า “after the other” = “หลังอีกสิ่งหนึ่ง” หมายความว่า มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น หลังจากสิ่งนั้นก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นอีก แล้วก็มีอีกสิ่งหนึ่งเกิดต่อๆ กันไปอีก

ปรมฺปร” จึงแปลว่า การต่อเนื่อง, ความสืบเนื่อง, เรื่องที่บอกเล่าสืบๆ กันมา, สิ่งที่ทำตามๆ กันมา (succession, series)

ปรมฺปร” คำนี้เองที่ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรัมปรา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปรัมปรา : (คำวิเศษณ์) สืบ ๆ กันมา, เก่าก่อน. (ป., ส.).”

(๒) “โภชน์

เขียนแบบบาลีเป็น “โภชน” อ่านว่า โพ-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภช)

: ภุชฺ + ยุ > อน = ภุชน > โภชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” “สิ่งที่ควรกิน” หมายถึง อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป (food, meal, nourishment in general); การกิน (eating)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

โภชน-, โภชนะ : (คำนาม) อาหาร; การกิน, การกินข้าว. (ป., ส.).”

ปรมฺปร + โภชน = ปรมฺปรโภชน (ปะ-รำ-ปะ-ระ-โพ-ชะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “โภชนะอื่นและอื่น” หมายถึง ภิกษุฉันภัตตาหารในที่หนึ่งแล้วไปฉันที่อื่นต่อไปอีก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปรมฺปรโภชน” ว่า “taking food in succession” successive feeding (“ปรัมปรโภชน์”, การรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งแล้วไปฉันอีกแห่งหนึ่ง)

ปรมฺปรโภชน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรัมปรโภชน์” แปลกันว่า “โภชนะทีหลัง

อภิปรายขยายความ :

คัมภีร์มหาวิภังค์ ภาค 2 วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 491 ให้คำจำกัดความคำว่า “ปรมฺปรโภชน” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปรมฺปรโภชนํ  นาม  ปญฺจนฺนํ  โภชนานํ  อญฺญตเรน  โภชเนน  นิมนฺติโต  ตํ  ฐเปตฺวา  อญฺญํ  ปญฺจนฺนํ  โภชนานํ  อญฺญตรํ  โภชนํ  ภุญฺชติ  เอตํ  ปรมฺปรโภชนํ  นาม.

ที่ชื่อว่า “ปรัมปรโภชน” คือภิกษุอันเขานิมนต์ด้วยโภชนะ 5 ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เว้น (หรือข้าม) สถานที่รับนิมนต์นั้นไปฉันโภชนะ 5 ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่อื่น นี้ชื่อว่าปรัมปรโภชน์

…………..

หนังสือ “นวโกวาท” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งพระภิกษุสามเณรท่องจำกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรี มีข้อความที่แสดงเรื่อง “ปรัมปรโภชน์” ไว้ในกลุ่มสิกขาบทที่เรียกว่า “ปาจิตตีย์” 92 สิกขาบท ในหมวดที่ 4 โภชนวรรค สิกขาบทที่ 3 ซึ่งเรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “ปรัมปรโภชนสิกขาบท” ดังนี้ –

…………..

๓. ภิกษุรับนิมนต์แห่งหนึ่ง ด้วยโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น ไปฉันเสียที่อื่น ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ยกส่วนที่รับนิมนต์ไว้ก่อนนั้นให้แก่ภิกษุอื่นเสีย หรือหน้าจีวรกาลและเวลาทำจีวร.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปรัมปรโภชน์” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ปรัมปรโภชน์ : โภชนะทีหลัง คือ ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งด้วยโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น ไปฉันเสียในที่อื่นที่เขานิมนต์ทีหลังซึ่งพ้องเวลากัน.

…………..

ต้นเหตุของสิกขาบทนี้เกิดจากกรรมกรยากจนคนหนึ่งมีศรัทธาจะถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุทั้งหมด (พูดตามคำที่เข้าใจกันในเวลานี้ก็ว่า “เลี้ยงพระหมดวัด”) พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่าภิกษุมีจำนวนมาก เขายืนยันว่าสามารถจัดภัตตาหารให้เพียงพอได้ พระพุทธเจ้าก็รับนิมนต์

ภิกษุจำนวนหนึ่งรู้ว่าเจ้าภาพเป็นคนจน ก็ไปบิณฑบาตมาฉันเสียก่อน (ทำนองจะคาดการณ์ว่าภัตตาหารคงมีน้อยไม่พอกันฉัน เกรงจะฉันไม่อิ่ม ในคัมภีร์ไม่ได้ระบุตรงๆ แบบนี้ แต่ดูจากรูปการณ์แล้วเป็นเช่นนั้น)

ครั้นถึงเวลาไปฉัน พระที่ฉันมาแล้วก็รับภัตตาหารเพียงเล็กน้อย บอกเจ้าภาพว่าฉันมาจากที่อื่นแล้ว เจ้าภาพก็ต่อว่า-ว่าเห็นตนเป็นคนจน กลัวจะเลี้ยงไม่อิ่มหรืออย่างไร

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามมิให้ภิกษุทำเช่นนั้นอีก

ตามที่เข้าใจกันนั้น “ปรัมปรโภชน์” หรือ “ปรัมปรโภชนสิกขาบท” อันเป็นศีลข้อหนึ่งใน 227 ข้อ หมายถึง ภิกษุรับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในที่หนึ่งแล้ว แต่ไม่ไป กลับไปฉันเสียอีกที่หนึ่ง ภิกษุทำอย่างนี้ ถือว่าผิดศีลข้อนี้

แต่ถ้าได้รับกฐิน (คือที่ภาษาพระวินัยเรียกว่า “กรานกฐิน”) ย่อมได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตาม “ปรัมปรโภชนสิกขาบท” หมายความว่า รับนิมนต์ฉันภัตตาหารในที่หนึ่ง แล้วไปฉันอีกที่หนึ่ง ไม่ถือว่าผิด เพราะได้รับยกเว้น อันเป็นอานิสงส์กฐินข้อหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

อานิสงส์ตามพระวินัยอะไรก็ไม่รู้

ไหนจะสู้เงินล้านแสนแก่นอานิสงส์

สงสารศาสน์บริสุทธิ์ของพระพุทธองค์

มาเรียวลงในรุ่นเราเศร้าจริงจริง

———–

(ตามคำขอของพระคุณท่าน Sunant Ruchiwet Phramaha)

#บาลีวันละคำ (3,071)

8-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย