ญาณวชิโรดม (บาลีวันละคำ 3,073)
ญาณวชิโรดม
อ่านอย่างไร
คำว่า “ญาณวชิโรดม” เป็นนามสมณศักดิ์พระเถระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2563 มีราชทินนามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระญาณวชิโรดม” (มีสร้อยนามต่อไปอีก)
พระเถระรูปนี้มีสมณศักดิ์ก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะว่า “พระพรหมมงคลญาณ” หรือที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันในนามหลวงพ่อวิริยังค์ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร
คำว่า “ญาณวชิโรดม” แยกศัพท์เป็น ญาณ + วชิร + อุดม
(๑) “ญาณ” บาลีอ่านว่า ยา-นะ แปลว่า ปัญญา, ความรู้ที่เกิดจากการอบรมจิต
(๒) “วชิร” บาลีอ่านว่า วะ-ชิ-ระ แปลว่า (1) เพชร (2) สายฟ้า เรียกทับศัพท์ว่า วชิระ
(๓) “อุดม” บาลีเป็น “อุตฺตม” อ่านว่า อุด-ตะ-มะ แปลว่า สูงสุด
วชิร + อุดม แผลง อุ เป็น โอ จึงได้รูปเป็น “วชิโรดม”
“ญาณวชิโรดม” แปลตามศัพท์ว่า –
(1) ผู้มีปัญญาสูงสุดประดุจวชิระ (ปัญญาสูงสุด)
(2) ผู้มีปัญญาประดุจวชิระที่สูงสุด (วชิระสูงสุด)
มีผู้ถามผู้เขียนบาลีวันละคำว่า คำว่า “ญาณวชิโรดม” อ่านว่าอย่างไร?
คำว่า “ญาณวชิโรดม” อ่านตามหลักภาษาว่า –
(1) ยา-นะ-วะ-ชิ-โร-ดม
(2) ยาน-นะ-วะ-ชิ-โร-ดม
แต่มีผู้อ่านกันทั่วไปว่า ยาน-วะ-ชิ-โร-ดม
อภิปรายขยายความ :
เนื่องจากคำนี้เป็นวิสามานยนาม หรือที่บาลีไวยากรณ์เรียกว่า อสาธารณนาม (proper name) คือเป็นชื่อเฉพาะ จะอ่านอย่างไร ตลอดจนจะมีความหมายว่าอย่างไร ย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อ
คำวิสามานยนามจึงอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษา
ถ้าเมื่อปรากฏหลักฐานเป็นที่ชัดเจนว่า คำว่า “ญาณวชิโรดม” ที่เป็นนามสมเด็จพระราชาคณะนี้อ่านว่าอย่างไรแน่ ก็ขอให้อ่านไปตามหลักฐานที่ปรากฏนั้น ไม่พึงขัดแย้งกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามเหตุผลสามัญ เจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อจะให้อ่านอย่างไรก็ย่อมจะต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษาเป็นเบื้องต้น เมื่อไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นพิเศษอื่นใด ก็ย่อมจะต้องอ่านไปตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษาอยู่นั่นเอง
ทุกวันนี้เรามีเหตุผลในการอ่านคำต่างๆ เพิ่มขึ้นมาข้อหนึ่ง เรียกกันว่า “อ่านตามความนิยม”
ตัวอย่างเช่น คำว่า “คมนาคม”
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา (พ.ศ.2496-2499) ครูสอนให้อ่านคำนี้ว่า คะ-มะ-นา-คม พจนานุกรมก็กำหนดให้อ่านอย่างนี้ อ่านเป็นอย่างอื่นถือว่าอ่านผิดหลักภาษา
ต่อมาอีกไม่นาน ก็มีผู้อ่านคำนี้ว่า คม-มะ-นา-คม (จาก คะ-มะ-นา- เป็น คม-มะ-นา-) และอ่านเช่นนี้กันทั่วไป จนในที่สุดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ต้องเพิ่มคำอ่านจาก คะ-มะ-นา-คม เป็น คม-มะ-นา-คม อีกแบบหนึ่ง โดยบอกว่าเป็นการอ่านตามความนิยม และไม่ถือว่าผิด (ซึ่งก็คือยอมรับว่าถูกนั่นเอง)
ครั้นมาถึงวันนี้ คำว่า “คมนาคม” มีคนอ่านว่า คม-นา-คม กันทั่วไป
จะเห็นได้ว่า —
๑ จาก คะ-มะ-นา- กลายเป็น คม-มะ-นา-
๒ จาก คม-มะ-นา- กลายเป็น คม-นา-
เชื่อว่าต่อไปพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็จะต้องเพิ่มคำอ่านคำนี้ขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการอ่านที่ถูกต้องตามความนิยมเช่นเคย
ถามว่า หลักเกณฑ์การอ่านคำจำพวกนี้ก็มีกำหนดไว้ชัดเจน คนไทยไม่มีความสามารถจะศึกษาเรียนรู้และอ่านให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์กระนั้นหรือ?
เวลานี้มีทฤษฎีแนวใหม่เกี่ยวกับภาษาไทยเกิดขึ้น กล่าวคือมีผู้เสนอว่า ภาษาไทยจะเขียนอย่างไรและจะอ่านอย่างไรไม่จำเป็นต้องเอากฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษามาตัดสินอีกต่อไปแล้ว ควรใช้หลักเดียวคือ เขียนไปแล้วคนอ่านเข้าใจได้ตรงกันว่าสื่อสารถึงอะไร อ่านไปแล้วคนฟังเข้าใจได้ตรงกันว่าสื่อสารถึงอะไร – เท่านี้พอแล้ว
ถ้าเรายอมรับทฤษฎีนี้กันมากขึ้น ในที่สุดกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์หรือหลักภาษาก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป นั่นคือคนไทยก็ไม่ต้องเรียนหลักภาษาไทยกันอีกต่อไป
ใครอยากสะกดคำไหนอย่างไร ก็สะกดไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
ใครอยากอ่านคำไหนอย่างไร ก็อ่านไปตามสบาย ไม่มีผิดไม่มีถูก
และถ้าทฤษฎีนี้ลุกลามเข้าไปถึงภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนในพระพุทธศาสนา อะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในอนาคต?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มนุษย์ควรพัฒนาความไม่รู้ขึ้นไปหามาตรฐาน
: ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้
#บาลีวันละคำ (3,073)
10-11-63