แพทย์-แพศย์ (บาลีวันละคำ 799)
แพทย์-แพศย์
อ่านว่า แพด เหมือนกัน แต่สะกดต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน
(๑) “แพทย์” (-ทย์) บาลีเป็น “เวชฺช” (เวด-ชะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วิชฺชา ( = ความรู้ทางยา) + ณ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิชฺ-เป็น เอ, ลบ ณ และลบสระท้ายคำหน้า : วิชฺชา > วิชฺช
: วิชฺชา + ณ = วิชฺชา > เวชฺชา > เวชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้วิชาทางยา”
(2) วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ วิ-เป็น เอ, แปลง ทฺย เป็น ชฺช
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺย > เวทฺย > เวชฺช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้การเยียวยา”
“เวชฺช” หมายถึง หมอรักษาโรค
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เวชฺช” ว่า a physician, doctor, medical man, surgeon (หมอ, แพทย์, หมอยา, ศัลยแพทย์)
“เวชฺช” สันสกฤตเป็น “ไวทฺย” ใช้ในภาษาไทยว่า “แพทย์”
จะเห็นว่าคำนี้เราเขียนอิงไปทางสันสกฤต
(๒) “แพศย์” (-ศย์) บาลีเป็น “เวสฺส” (เวด-สะ) รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาตุ = ไป, เข้าไป) + ส ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ-เป็น เอ
: วิสฺ + ส = วิสฺส > เวสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ไปทางโน้นทางนี้ด้วยความอยากได้ทรัพย์” (2) “ผู้เข้าไป” ( = เข้าไปติดต่อทำกิจการต่างๆ)
“เวสฺส” เป็นวรรณะหนึ่งในสี่ของสังคมอินเดีย ( = กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร) หมายถึงคนสามัญ (a man of the people) ที่มิได้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ และศูทร ตามที่เข้าใจกันก็คือ คนที่ประกอบอาชีพอิสระทั่วไป เช่น เกษตรกร พ่อค้า แต่มักเน้นที่ “พ่อค้า”
“เวสฺส” สันสกฤตเป็น “ไวศฺย” ใช้ในภาษาไทยว่า “แพศย์”
จะเห็นว่าคำนี้เราก็เขียนอิงไปทางสันสกฤตเช่นเคย
สังเกตไว้เป็นความรู้ :
(1) –ชฺช ในบาลี มาเป็น –ทย ในภาษาไทย เช่น วิชฺชุ > วิทยุ, วิชฺชา > วิทยา, เวชฺช > แพทย์
(2) –สฺส ในบาลี มาเป็น –ศย, –ษย ในภาษาไทย เช่น อิสฺสา > ริษยา, สิสฺส > ศิษย์, เวสฺส > แพศย์
สรุปว่า :
เวชฺช > ไวทฺย > แพทย์ = หมอ
เวสฺส > ไวศฺย > แพศย์ = พ่อค้า
จะเป็นแพทย์ หรือจะเป็นแพศย์
: ถ้าหวังให้คนป่วยหายจากโรค ก็เป็นแพทย์-หมอ
: ถ้าหวังได้เงินจากการรักษา ก็เป็นแพศย์-พ่อค้า
: ถ้าหวังทั้งสองทาง ก็เอาดีไม่ได้ทั้งสองทาง
#บาลีวันละคำ (799)
26-7-57