บาลีวันละคำ

อภิเชต < appreciate (บาลีวันละคำ 3,074)

อภิเชต < appreciate

จงใจหรือเพราะเขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

มีผู้เขียนคำว่า “อภิเชต” และบอกความหมายว่า “รู้สึกซาบซึ้งใจ” (ดูภาพประกอบ)

เมื่อสะกดอย่างนี้ ตามรูปศัพท์ก็ต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต

คำถามคือ “อภิเชต” ที่เป็นคำบาลีสันสกฤตแปลว่าอะไร

อภิเชต” ที่เป็นคำบาลีสันสกฤตอ่านว่า อะ-พิ-เช-ตะ แยกศัพท์เป็น อภิ + เชต

(๑) “อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(๒) “เชต” (เช-ตะ) รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ชิ เป็น เอ (ชิ > เช)

: ชิ + = ชิต > เชต แปลตามศัพท์ว่า “ชนะแล้ว” หมายถึง พิชิต, ปราบ, เอาชนะได้ (conquered, subdued, mastered)

ปกติ “ชิต” หรือ “เชต” ใช้เป็นคำกริยาและคำวิเศษณ์ (บาลีไวยากรณ์เรียก “วิเสสนะ”) แต่ที่ใช้เป็นคำนามก็มี แปลว่า ชัยชนะ (victory)

ชิต” ที่เราคงจะคุ้นกันดีพอสมควรก็คือในวลีหรือประโยคที่ว่า “ชิตํ เม, ชิตํ เม” (ชิตัง เม, ชิตัง เม) แปลว่า “เราชนะแล้ว, เราชนะแล้ว

ชิต” แปลงเป็น “เชต” มีความหมายเหมือนกัน

อภิ + เชต = อภิเชต บาลีอ่านว่า อะ-พิ-เช-ตะ ใช้ในภาษาไทยอ่านว่า อะ-พิ-เชด แปลว่า “ชนะอย่างยิ่งใหญ่” คือชนะแล้วมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือชนะในเรื่องสำคัญ ชนะแล้วกลายเป็นบุคคลสำคัญขึ้นมา

ตามหลักภาษาที่แสดงมา “อภิเชต” ที่เป็นคำบาลีสันสกฤตไม่ได้แปลว่า “รู้สึกซาบซึ้งใจ” แต่ประการใด

ถ้าเช่นนั้น “อภิเชต” ที่มีการแสดงคำแปลว่า “รู้สึกซาบซึ้งใจ” มาจากไหน?

ตามที่ฟังมา ได้ความว่า คำว่า “อภิเชต” ซึ่งอ่านว่า อะ-พิ-เชด มีผู้คิดขึ้นเพื่อใช้กับคำอังกฤษว่า appreciate คือตั้งใจจะเลียนเสียง appreciate ออกมาเป็น “อภิเชต

พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล appreciate เป็นไทยว่า

…………..

1. หยั่งรู้, เล็งเห็น, รู้จัก, รู้คุณค่า, รู้สำนึกบุญคุณ, แสดงความพอใจ, ชอบ, ชมเชย

2. (ราคา) ขึ้น

…………..

ความหมายของ appreciate ไม่ได้ใกล้เคียงกับ “ชนะอย่างยิ่งใหญ่” เลยแม้แต่คำเดียว

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล appreciate (คำกริยา) เป็นบาลี ดังนี้:

(1) anumodati อนุโมทติ (อะ-นุ-โม-ทะ-ติ) = ชื่นชมยินดี

(2) agghaṃ jānāti อคฺฆํ ชานาติ (อัก-คัง ชา-นา-ติ) = รู้ถึงคุณค่า

(3) guṇaṃ jānāti คุณํ ชานาติ (คุ-นัง ชา-นา-ติ) = รู้ถึงคุณค่า

(4) agghaṃ vaḍḍheti อคฺฆํ วฑฺเฒติ (อัก-คัง วัด-เท-ติ) =เพิ่มคุณค่า, ให้ราคาสูงขึ้น

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกคำอ่าน appreciate ว่า แอ็พรี-ฌิเอท

appreciate > แอ็พรี-ฌิเอท > อภิเชต นับว่าเป็นการเลียนเสียงที่ใช้จินตนาการยาวไกลมาก เพราะจะต้องอธิบายตีโค้งไปไกลแสนไกลเพื่อให้ “อภิเชต” มีความหมายตรงกับ appreciate ที่แปลกันว่า “รู้สึกซาบซึ้งใจ

แต่ในเมื่อภาษาบาลีมีกฎเกณฑ์ที่รัดกุม คำว่า “อภิเชต” จึงไม่อาจตีความให้ตรงกับ appreciate แล้วคิดเอาเองว่าหมายถึง “รู้สึกซาบซึ้งใจ

ผู้คิดคำนี้อาจมีเหตุผลว่า “อภิเชต” ที่เขาคิดขึ้นนี้ไม่ใช่คำบาลี แต่เป็นคำที่เขาคิดขึ้นเองเพื่อให้มีเสียงใกล้เคียงกับ appreciate เท่านั้น

ถ้าอธิบายอย่างนี้ ก็แปลว่าผู้คิดคำนี้ไม่ได้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ในการทับศัพท์คือการถ่ายเสียงคำอังกฤษออกมาเป็นอักษรไทย ซึ่งก็เท่ากับเป็นคำที่เขียนตามใจชอบนั่นเอง

อุปมาเหมือนคนโกนผมห่มจีวรเอาเอง แล้วประกาศว่าเขาไม่ใช่พระ และไม่ได้มีเจตนาจะให้ใครเข้าใจผิดว่าเป็นพระแต่ประการใดทั้งสิ้น

ซึ่งก็จะต้องอธิบายได้ด้วยว่า-แล้วมาโกนผมห่มจีวรเหมือนพระด้วยวัตถุประสงค์อะไร

จงใจสร้างปัญหา

หรือว่าเพราะเขลา

หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังไม่รู้ อย่าเพิ่งเขียน

: ถ้ายังไม่ได้เรียน อย่าเพิ่งบอกว่ารู้

#บาลีวันละคำ (3,074)

11-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย