อารี ไม่ใช่ “อารีย์” (บาลีวันละคำ 3,080)
อารี ไม่ใช่ “อารีย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อารี : (คำวิเศษณ์) เอื้อเฟื้อ, มีแก่ใจ, มีใจเผื่อแผ่.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “อารี” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำอะไรในภาษาอะไร
สมัยที่การสะกดคำยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากยังไม่มีพจนานุกรมฉบับที่เป็นมาตรฐานของบ้านเมืองหรือของทางราชการ สมัยที่ —
“สถิต” ยังมีผู้สะกดเป็น “สถิตย์”
“จำนง” ยังมีผู้สะกดเป็น “จำนงค์”
“เครื่องสำอาง” ยังมีผู้สะกดเป็น “เครื่องสำอางค์”
“อารมณ์” ยังมีผู้สะกดเป็น “อารมย์”
“อารี” ก็มักมีผู้สะกดเป็น “อารีย์” คือมี ย การันต์ด้วย
ในเมื่อพจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “อารี” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำอะไรในภาษาอะไร เมื่อมีผู้สะกดคำนี้เป็น “อารีย์” จึงชวนให้สงสัยว่า “อารี” ในชั้นเดิมจะมาจากบาลีสันสกฤตคำใดคำหนึ่งกระมัง
และคำที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ คำว่า “อริย” ในบาลี หรือ “อารฺย” ในสันสกฤต
(๑) “อริย” (อะ-ริ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”
(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย = อริณฺย > อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”
(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”
(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”
(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: อริย + ณ = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”
สรุปว่า “อริย” แปลว่า –
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –
๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)
๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)
๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”
(๒) “อารฺย” เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“อารฺยฺย, อารฺย : (คำคุณศัพท์) ควรเคารพ, ควรบูชา; ควร; พึงแสวงหา, พึงได้; respectable, venerable; proper; to be sought, to be obtained; – (คำนาม) เจ้าของ; พระนามของพระพุทธเจ้า; สหาย; นามของปารวตี; an owner; name of Buddha; a friend; name of Pārvati.”
โปรดสังเกตว่า ความหมายของ “อารฺย” ตามที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้นี้ไม่ตรงนักกับความหมายที่เราคุ้นในภาษาไทย
“อารฺย” ในสันสกฤต ใช้ในภาษาไทยเป็น “อารยะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –
“อารย-, อารยะ : (คำวิเศษณ์) เจริญ. (ส.; ป. อริย).”
อภิปราย :
“อริย” ในบาลี ทีฆะ อะ เป็น อา กลายรูปเป็น “อารีย”
“อารฺย” ในสันสกฤต เขียนเป็น “อารีย” ในภาษาไทย
“อารีย” (จาก “อริย” ในบาลี และ “อารฺย” ในสันสกฤต) อ่านว่า อา-รี-ยะ สะกดแบบไทยเป็น “อารีย์” อ่านว่า อา-รี มีความหมายว่า “การกระทำเยี่ยงผู้เจริญแล้ว” คือมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
การที่สมัยหนึ่งมีผู้สะกดคำว่า “อารี” เป็น “อารีย์” น่าจะมีที่มาที่ไปดังที่ว่ามานี้
โปรดทราบว่า นี่เป็นการอธิบายแบบลากเข้าวัดหรือลากเข้าหาความหมาย อุปมาเหมือนหวยออกแล้วจึงแก้ฝัน ซึ่งจะต้องฝันแม่นทุกครั้งไป
สมมุติว่าเป็นไปได้ดังที่ว่านี้ คำนี้เขียนเป็น “อารีย์” ก็น่าจะถูกกับที่มาของคำมากกว่าที่เขียนเป็น “อารี” ตามพจนานุกรมฯ
แต่ถึงกระนั้น เมื่อพจนานุกรมฯ กำหนดให้เขียน “อารี” เราก็ควรเขียนตามนี้ เพื่อให้เกิดเอกภาพทางภาษา
ถ้าใครอยากสะกดคำไหนอย่างไร ก็เขียนกันได้ตามเหตุผลของแต่ละคนหรือตามใจชอบ ก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่า “จลาจลทางภาษา” ซึ่งไม่เป็นผลดีในทางใดๆ ทั้งสิ้น
วิธีที่ถูกต้องก็คือ ใครเห็นว่าคำไหนพจนานุกรมฯ สะกดไม่ถูกตามเหตุผลหรือตามความเห็นของตน และเห็นว่าควรสะกดอย่างไร ก็เสนอความเห็นไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในกรณีนี้ก็คือราชบัณฑิตยสภา เมื่อราชบัณฑิตยสภาเห็นชอบตามที่เสนอแล้วประกาศแก้ไขให้สะกดคำนั้นเสียใหม่ เราจึงค่อยเขียนตามแบบใหม่โดยพร้อมเพรียงกัน
วิธีนี้อาจช้าไม่ทันใจ แต่เป็นวิธีหรือวิถีที่ถูกต้องของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของอารยชนคนผู้เจริญแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความอารีเป็นวิถีของบัณฑิต
: การฉวยโอกาสจากความอารีเป็นวิธีของ bandit
17-11-63