บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทัวร์ลง

ทัวร์ลง

——–

ผมชอบคำว่า “ทัวร์ลง” เป็นคำเบาๆ เรียกง่าย พูดง่าย ออกเสียงง่าย และความหมายดี-คือมองเห็นภาพชัด

ขอให้นึกถึงนักท่องเที่ยว (tourist) ซึ่งไปกันเป็นคณะใหญ่ ถ้าเป็นรถยนต์ก็เป็นขบวนยาว เมื่อไปถึงที่หมาย ก็จะเห็นภาพรถคับคั่ง คนคึกคักขวักไขว่ คนต้อนรับหรือเจ้าของพื้นที่ก็จะชุลมุนวุ่นวายเข้ามารุมล้อม สับสนอลหม่านไปหมด

นั่นแหละคือภาพของคำว่า “ทัวร์ลง” 

ส่วนความหมายของคำว่า “ทัวร์ลง” ก็คือ มีใครกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกสู่สาธารณะ แล้วคนทั้งหลายเกิดไม่ชอบใจการกระทำเช่นนั้นหรือความคิดเห็นเช่นนั้นจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ก็พากันรุมตำหนิติเตียนด่าว่าคนที่กระทำการเช่นนั้นหรือคนที่แสดงความคิดเห็นเช่นนั้นเป็นการใหญ่ 

ถ้าบรรยายด้วยสำนวนร่ายยาวมหาเวสสันดร กัณฑ์ชูชก ก็น่าจะเหมือนกับที่ท่านร่ายเอาไว้ว่า –

………………..

… แล้วก็ร่ารำรุกเร็วแร่เข้ามา บ้างก้ร้องว่าเข้าเถิดสิเหวยเข้าเถิดสิวาวิ่งวุ่นวาย สมาคนฺตฺวา เมาะ สมนฺตโต ปริกฺขิปิตฺวา เอ็งก็เข้าข้างซ้ายกูก็เข้าข้างขวา เอ็งล้อมข้างหน้ากูล้อมข้างหลัง ทำละล้าละลังเล่นละลุกลน กุตูหลา เมาะ โกตุหลา ชาตา เป็นโกลาหลละลนละลานไล่เลี้ยวล้อม เข้าแห่โหมโห่ห้อมหุ้มอยู่วะวู่วาม อุลูกญฺเจว วายสา ดุจหนึ่งว่าฝูงกาเข้าเต้นตามตอมนกเค้า …

………………..

อาการเช่นนี้แลเรียกกันว่า “ทัวร์ลง” 

ใครถูกรุมตำหนิติเตียนด้วยอาการเช่นว่านั้นก็เรียกว่า ถูก “ทัวร์ลง” 

“ทัวร์ลง” เป็นคำประเภทที่เรียกว่าคำสะแลง สำนวน หรือภาษาปาก บางท่านเรียกว่า คำคะนอง คำชนิดนี้ส่วนมากอายุสั้น คือพูดกันอยู่พักหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ หายไป 

อย่างคำว่า “จุงเบย” ที่เคยฮิตติดปากชาวเฟซบุ๊กอยู่พักหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นต้น 

คำ “จุงเบย” นี้มีผู้สันนิษฐานว่าเกิดจากอุบัติเหตุ คือจะพิมพ์คำว่า “จังเลย” – เช่น “คิดถึงจังเลย” แต่นิ้วกดปุ่มหรือกดแป้นพลาด “จัง” กลายเป็น “จุง” (สระ อุ กับไม้หันอากาศ อยู่ใกล้กัน) “เลย” กลายเป็น “เบย” (บ ใบไม้ กับ ล ลิง อยู่ใกล้กัน) “จังเลย” จึงกลายเป็น “จุงเบย” เมื่อเจ้าของข้อความเผยแพร่ออกไปโดยไม่ได้ตรวจตราให้ถี่ถ้วน คนที่ได้อ่านจะมีอารมณ์ครึกครื้นอย่างไรไม่ทราบ จับเอาคำพลาดนั้นไปพูดต่อ แล้วพูด (คือเขียน) ต่อๆ กันไปเป็นที่ครึกครื้น

แต่อยู่ได้พักเดียว เวลานี้ไม่มีใครพูดคำว่า “จุงเบย” กันอีกแล้ว

แต่บางคำก็อายุยืน เช่นคำว่า “ทึ่ง” ที่หมายถึงอยากรู้อยากเห็น รู้สึกว่าน่าสนใจ น่าอัศจรรย์ใจ บางทีก็พูดว่า น่าทึ่ง 

ผมเคยอ่านพบที่ไหนจำไม่ได้ บอกไว้ว่าต้นเหตุเกิดจากในวัง หรือตำหนักเจ้านายที่ไหนสักแห่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เลี้ยงนกต่างประเทศชนิดหนึ่ง จะเป็นนกกระจอกเทศหรือนกอะไรไม่แน่ใจ เป็นนกเชื่อง ตัวใหญ่ คอยาว ปล่อยให้เดินไปไหนมาไหนเป็นอิสระ เวลาเห็นคนนั่งเป็นกลุ่มอยู่ตรงไหน นกนั้นก็มักจะเข้าไปใกล้ๆ ยื่นคอเข้าไปกลางวง แล้วก็ส่งเสียงร้องฟังเป็น ทึ่ง ทึ่ง ทึ่ง คนก็จับเอาเสียงที่ได้ยินว่า “ทึ่ง” นั้นมาพูด เวลามีใครแสดงอาการสนใจอยากรู้อยากเห็นเรื่องอะไรก็เรียกว่า “ทึ่ง” 

เรื่องที่มาคำว่า “ทึ่ง” นี้ ถ้าท่านผู้ใดทราบแน่ชัด จะตรงกับที่ผมว่าหรือแตกต่างกันไปอย่างไร กรุณาถ่ายทอดสู่กันฟัง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

คำว่า “ทึ่ง” นี้ยังใช้พูดกันอยู่จนทุกวันนี้ มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานด้วย

ผมเข้าใจว่า บรรดาถ้อยคำภาษาแปลกๆ ที่เกิดขึ้นและผู้คนใช้พูดจากันอยู่พักหนึ่งเช่นนี้ ราชบัณฑิตยสภาน่าจะมีแผนกติดตามรวบรวมเก็บไว้เป็นหลักฐาน บอกความหมาย บอกประวัติที่เกิด และถ้าบอกนามผู้ที่คิดพูดขึ้นมาเป็นคนแรกได้ด้วย ก็จะเป็นการดีนักหนา เป็นองค์ความรู้อย่างหนึ่งเนื่องด้วยภาษาอันเป็นสมบัติวัฒนธรรมของชาติ 

………..

ญาติมิตรที่เห็นชื่อเรื่อง “ทัวร์ลง” แล้วคิดคาดเดาว่าผมคงจะพูดแนวนั้นแนวโน้น หรือแนวไหนๆ หวังว่าคงจะไม่ผิดหวังนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กันยายน ๒๕๖๓

๑๗:๐๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *