บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ศึกษาโลกธรรมสูตร เพื่อปลดสมณศักดิ์

ราชูนํ อนุวตฺติตุํ

บาลีอีกคำหนึ่งที่ชาวพุทธควรรู้

อ่านว่า รา-ชู-นัง อะ-นุ-วัด-ติ-ตุง

มีคำบาลี 2 คำ คือ “ราชูนํ” และ “อนุวตฺติตุํ

(๑) “ราชูนํ” (รา-ชู-นัง)

คำเดิมคือ “ราช” (รา-ชะ) แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ความหมายในวงกว้างในปัจจุบันคือ ผู้ปกครองบ้านเมือง หรือ “ทางราชการบ้านเมือง

ราช” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “ราชูนํ

วิภัตตินามที่สองท่านกำหนดคำแปลภาษาไทยนำหน้านามคำนั้นๆ ว่า “ซึ่ง, สู่, ยัง, สิ้น, ตลอด, กะ” โดยเลือกคำใดคำหนึ่งที่ได้ความกลมกลืน

ราชูนํ” จึงแปลว่า “ซึ่งพระราชา, สู่พระราชา, ยังพระราชา, สิ้นพระราชา, ตลอดพระราชา, กะพระราชา

(๒) “อนุวตฺติตุํ” (อะ-นุ-วัด-ติ-ตุง)

รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ) + วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป, หมุนไป) + ตุํ (ตุง) ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (วตฺตฺ + อิ + ตุํ)

: อนุ + วตฺตฺ = อนุวตฺตฺ + อิ + ตุํ = อนุวตฺติตุํ แปลตามศัพท์ว่า “เพื่อเป็นไปตาม” หมายถึง เพื่อปฏิบัติตาม, เพื่อทำตาม

อนุวตฺติตุํ” เป็นคำภาวนาม หรือกริยานาม ตุํ ปัจจัย กำหนดคำแปลภาษาไทยนำหน้านามคำนั้นๆ ว่า “เพื่อ-, เพื่ออัน-

อนุวตฺต-” แปลว่า การคล้อยตาม, การอนุวัตตาม, การยอมตาม, การปฏิบัติตาม, การเชื่อฟัง (complying with, conformity with, compliance, observance, obedience)

ราชูนํ อนุวตฺติตุํ” จึงแปลว่า “เพื่อเป็นไปตามพระราชา” หมายถึง เพื่อคล้อยตามพระราชา, เพื่อปฏิบัติตามที่พระราชากำหนด, เพื่อปฏิบัติตามที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดไว้

ขยายความ :

ราชูนํ อนุวตฺติตุํ” มีที่มาจากพระวินัยปิฎก ขอยกคำแปลเรื่องราวตอนนี้มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

……..

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชมีพระราชประสงค์จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไรขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง.

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า —

อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ราชูนํ  อนุวตฺติตุํ = ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน

ที่มา: วัสสูปนายิกขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 209

อภิปราย :

พระพุทธพจน์อันเป็นพุทธานุญาตนี้ คณะสงฆ์ใช้เป็นหลักอ้างอิงอยู่เสมอเมื่อภิกษุหรือคณะสงฆ์จะต้องปฏิบัติเรื่องใดๆ ตามที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดไว้

ตัวอย่างเช่นทางราชการมีกฎหมายกำหนดให้ชายไทยที่มีอายุครบเกณฑ์ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ

ภิกษุที่มีอายุถึงเกณฑ์ แม้กำลังบวชอยู่ก็ต้องไปเข้ารับการตรวจเลือกตามระเบียบของทางราชการ ตรวจเลือกแล้วถ้าถูกเกณฑ์ (ที่เรียกกันว่า “ถูกทหาร”) ก็ต้องลาสิกขาไปเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ เว้นไว้แต่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่ทางราชการยอมผ่อนผันให้

กรณีเช่นนี้แหละเป็นการปฏิบัติตรงตามพระพุทธานุญาต “อนุชานามิ  ภิกฺขเว  ราชูนํ  อนุวตฺติตุํ” จะถือว่าทางบ้านเมืองบีบบังคับภิกษุหรือคณะสงฆ์มิได้

แต่ก็ใช่ว่าภิกษุหรือคณะสงฆ์จะต้องปฏิบัติตามที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดไว้หมดทุกเรื่องก็หาไม่ ท่านให้ปฏิบัติตามเฉพาะเรื่องที่เป็น “ธัมมิกะ” คือถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น เรื่องที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยท่านไม่ยอมให้ปฏิบัติเลย

เช่น ถ้าทางบ้านเมืองออกกฎหมายห้ามภิกษุออกบิณฑบาตก่อนเที่ยงวัน หลังเที่ยงวันแล้วจึงให้ออกบิณฑบาตได้ ภิกษุจะออกบิณฑบาตและฉันอาหารหลังเที่ยงวันโดยอ้างว่าเป็นการอนุวัตตามกฎหมายของบ้านเมือง ดังนี้หาชอบไม่

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ถิ่นใดผู้บริหารบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่เป็นสัมมาทิฐิ พระพุทธศาสนาย่อมอยู่ในถิ่นนั้นได้ยาก เพราะอาจถูกกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้สะดวกด้วยประการต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ การอยู่ในปฏิรูปเทส-แดนดินถิ่นที่สมควร ท่านจึงจัดเป็นอุดมมงคลข้อหนึ่ง

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้บริหารบ้านเมืองไม่เป็นสัมมาทิฐิ

: พระสงฆ์อุตริละทิ้งพระธรรมวินัย

พระพุทธศาสนาย่อมถึงกาลประลัยไปจากแผ่นดินนั้นแล

#บาลีวันละคำ (2,278)

7-9-61

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *