เสนารักษ์ (บาลีวันละคำ 3,081)
เสนารักษ์
ทหารรู้จัก แต่ยังไม่มีในพจนานุกรม
อ่านว่า เส-นา-รัก
แยกศัพท์เป็น เสนา + รักษ์
หรืออาจจะเป็น เสนา + อารักษ์
(๑) “เสนา”
บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)
บาลี “เสนา” สันสกฤตก็เป็น “เสนา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เสนา : (คำนาม) กองทัพ; ภควดี; มูรติพลหรือยุทโธปกรณานิของเทพดา; ชายาของการติเกย; an army; a goddess; the personified armament of the gods; the wife of Kārtikeya.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –
“เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”
คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก
(๒) “รักษ์”
เป็นการเขียนตามรูปคำสันสกฤตว่า “รกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“รกฺษ : (คำนาม) การรักษา, การคุ้มครองป้องกัน; เท่าหรืออังคาร; preserving, protecting; ashes.”
“รักษ์” บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺข (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย
: รกฺข + อ = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา”
ในบาลีมีคำว่า “รกฺขก” (รัก-ขะ-กะ) อีกคำหนึ่ง รากศัพท์มาจาก รกฺข + อ + ก ปัจจัย หรือบางทีเรียก “ก สกรรถ” (กะ สะ-กัด) คือลง ก ปัจจัยความหมายเท่าเดิม
รกฺข > รกฺขก มีความหมายดังนี้ –
(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)
(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)
(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)
(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)
เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “รกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้ –
ความหมายของ รกฺขติ :
(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)
(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])
(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])
รกฺข > รกฺษ ในภาษาไทยใช้เป็น “รักษ์” “รักษา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รักษ์, รักษา : (คำกริยา) ระวัง เช่น รักษาสุขภาพ, ดูแล เช่น รักษาทรัพย์สมบัติ, ป้องกัน เช่น รักษาบ้านเมือง, สงวนไว้ เช่น รักษาความสะอาด รักษาไมตรี; เยียวยา เช่น รักษาคนไข้. (ส.; ป. รกฺข).”
(๓) “อารักษ์”
บาลีเป็น “อารกฺข” (อา-รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + รกฺขฺ = อารกฺขฺ + อ = อารกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)
“อารกฺข” ถ้าใช้เป็นคำนามหมายถึงตัวบุคคล แปลว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มักเป็น “อารกฺขา” (อิตถีลิงค์) แปลว่า “การดูแล” “การรักษา”
บาลี “อารกฺข” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อารฺกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation; (คำวิเศษณ์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อารฺกฺษก” อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อารฺกฺษก : (คำนาม) ผู้ดูแลหรือรักษา; ยามรักษาการ, ผู้เดิรยามรักษาการ; นครรักษิน (นายตำรวจนคราภิบาลก์); one who keeps ward or protects; a watchman, a patrol; a police officer.”
ในที่นี้ “อารกฺข” ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อารักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อารักษ์ : (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล; เทวดาผู้พิทักษ์รักษา, มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา. (ส.; ป. อารกฺข).”
การประสมคำ :
๑ เสนา + รักษ์ = เสนารักษ์
๒ เสนา + อารักษ์ = เสนารักษ์
“เสนารักษ์” ไม่ว่าจะมาจาก เสนา + รักษ์ หรือ เสนา + อารักษ์ ก็มีความหมายเท่ากัน คือหมายถึง การดูแลรักษา- หรือผู้ดูรักษากำลังทหารให้หายจากอาการเจ็บป่วย
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “เสนารักษ์” (อ่านเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลา 20:30 น.) อธิบายไว้ดังนี้ (สำนวนภาษาตามต้นฉบับ ปรับแก้เฉพาะสะกดการันต์และวรรคตอน)
…………..
เสนารักษ์ คือ บริการทางการแพทย์ ทำหน้าที่คล้ายพยาบาล จัดบริการดำรงไว้ซึ่งคุณภาพและพลานามัยที่เหมาะต่อการปฏิบัติการทางทหาร การอนุรักษ์กำลังรบถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญของแพทย์ทหาร รัฐบาลอนุมัติตั้งโรงเรียนเสนารักษ์กองทัพบก ในปี พ.ศ.2482 เน้นแนวทางที่สามารถรักษาชีวิต ได้แก่ การห้ามเลือด การดูแลแผล เปิดทรวงอก และการเปิดทางเดินหายใจ ไม่เน้น CPR การพันแผล ดามเฝือก ฯลฯ หัตถการ รับผิดชอบในการให้การปฐมพยาบาลและดูแลการบาดเจ็บในสนามรบ พวกเขายังรับผิดชอบในการให้การรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องในกรณีที่ไม่มีแพทย์ที่พร้อมใช้งาน รวมถึงการดูแลผู้ป่วยและการบาดเจ็บในสงคราม พวกเขาให้บริการเพื่อให้ง่ายต่อการย้ายไปพร้อมกับกองกำลังและตรวจสอบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ทหารบก
แพทย์ ทบ.
Army Corps เริ่มก่อตั้งเป็นกองกรมกลาง กรมยุทธนาธิการ และโรงพยาบาลกลางกรมทหารบก ในปี พ.ศ.2443 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมแพทย์ทหารบก ต่อมาปี พ.ศ.2485 เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเสนารักษ์ทหารบก ได้ยกระดับเป็น กองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 และกรมเสนารักษ์ ในปี 2489 ย้ายกลับมาปากคลองหลอด เปลี่ยนชื่อเป็น กรมแพทย์ทหารบก อีกครั้งนับแต่นั้นมา และ พ.ศ.2495 ได้ก่อตั้งโรงเรียนเสนารักษ์
ทหารเรือ
แพทย์ ทร.
Naval Corps ฐานะและนามของหน่วยได้ปรับปรุงกันมาตามยุคตามสมัย เพื่อความเหมาะสม บางสมัยก็มีฐานะเป็นกรมกอง บางสมัยก็เปลี่ยนนาม คือ พ.ศ.2475 เป็นระยะเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศชาติกำลังตกต่ำ หน่วยนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมเสนารักษ์ ราชนาวี” แล้วลดลงเป็น “กองเสนารักษ์ ราชนาวี” สังกัดกรมแพทย์สุขาภิบาลทหารบก พ.ศ.2476 เปลี่ยนเป็น “กองเสนารักษ์ ราชนาวี” ย้ายมาสังกัดกรมทหารเรือ และกองทัพเรือ พ.ศ.2479 เปลี่ยนเป็น “กองแพทย์ทหารเรือ” สังกัดกองทัพเรือ พ.ศ.2493 ยกฐานะขึ้นเป็น “กรมแพทย์ทหารเรือ” สังกัดกองทัพเรือ เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้
ทหารอากาศ
แพทย์ ทอ.
Air Force Corps 2493 ในสงครามเกาหลี กองทัพไทยเข้าร่วมกองกำลังสหประชาชาติ แพทย์และพยาบาลทหารอากาศอยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งกลับทางอากาศ และปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลศัลยกรรมเคลื่อนที่ของสหประชาชาติ ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2491 กองเสนารักษ์ทหารอากาศเลื่อนฐานะเป็น “กรมแพทย์ทหารอากาศ”
…………..
หมายเหตุ: โปรดตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง โดยเฉพาะกรณีนำไปอ้างอิง
…………..
คำว่า “เสนารักษ์” เป็นคำที่ใช้กันมานานและเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะในวงการทหาร แต่คำนี้ก็มีชะตากรรมเหมือนคำอื่นๆ อีกมาก คือแม้จะใช้กันมานานและยังเป็นที่รู้จักกันอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เงินช่วยชีวิตคนป่วยได้
: แต่เงินจำนวนเดียวกันนั่นเองก็ฆ่าคุณธรรมของหมอได้ด้วย
#บาลีวันละคำ (3,081)
18-11-63