บาลีวันละคำ

อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ (บาลีวันละคำ 3,087)

อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ

อ่านอย่างไร

ในคำประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ เช่นทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระพรหมมงคลญาณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณวชิโรดม เป็นต้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า –

…………..

… และจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนาเทอญ

…………..

มีผู้สงสัยสอบถามกันว่า คำว่า “อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” อ่านว่าอย่างไร

ข้อความที่เขียนเช่นนี้มีปรากฏในคำประกาศสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย เช่น คำประกาศสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ เมื่อ พ.ศ.2445 เป็นต้น มีข้อความว่า –

…………..

… จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬารทุกประการ

…………..

เป็นอันได้ความรู้ว่า ข้อความที่ใช้เช่นนี้มีแบบแผนมาแต่กาลก่อน

ในคำประกาศนั้น “อายุ” และ “ปฏิภาณ” น่าจะอ่านตามที่อ่านกันเป็นปกติทั่วไป คือ –

อายุ” อ่านว่า อา-ยุ

ปฏิภาณ” อ่านว่า ปะ-ติ-พาน

แต่ “วรรณ สุข พล” จะอ่านอย่างไร?

ถ้าอ่านตามที่ตาเห็น –

วรรณ” อ่านว่า วัน

สุข” อ่านว่า สุก

พล” อ่านว่า พน

อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” เมื่อสะกดเช่นนี้ ก็ต้องอ่านว่า อา-ยุ วัน สุก พน ปะ-ติ-พาน

ถ้าอ่านอย่างนี้ ก็ชวนให้สงสัยว่า คำประกาศอันเป็นพระบรมราชโองการต้องใช้ถ้อยคำที่เป็นแบบแผนและมีความอลังการงดงามทั้งรูปศัพท์และเสียงอ่าน มีเจตนาจะให้อ่านเช่นนั้นแน่หรือ

โดยเฉพาะ “วรรณ สุข พล” อ่านว่า วัน สุก พน ฟังดูค่อนข้างกระด้าง ขาดความสละสลวยเป็นอันมาก

อ่านอย่างไร คำตอบที่ตรงที่สุดคือ ฟังจากที่อาลักษณ์อ่าน

อาลักษณ์อ่านอย่างไร ถือว่าถูกต้องตามนั้น

แต่ปัญหาคือจะฟังอาลักษณ์อ่านได้ที่ไหน เชื่อว่าคนส่วนหนึ่ง-ซึ่งอาจเป็นส่วนมากด้วย-ไม่รู้แหล่ง หรือเข้าไม่ถึงแหล่ง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการฟัง

ถ้าไม่ได้ฟังอาลักษณ์อ่าน จะมีทางรู้ได้อย่างไรอีก

ที่น่าจะทำได้คือ มีหนังสือคู่มือการอ่านคำพิเศษหรือคำที่เป็นแบบแผนต่างๆ ทำนองเดียวกับหนังสือ “อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน”

แล้วถ้าหนังสือเล่มนั้นไม่มีคำที่ต้องการรู้คำอ่าน จะทำอย่างไร?

วิธีที่เป็นพื้นฐานก็คือ หาความรู้ทางภาษาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีความรู้มากพอที่จะคิดวินิจฉัยเป็นเบื้องต้นได้

วิธีศึกษาก็อย่างเช่น เมื่อเห็นคำ “อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” ก็นึกถึงบทอนุโมทนาของพระสงฆ์ที่เป็นภาษาบาลีว่า “อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” ซึ่งทั้ง 4 คำนี้เราเรียกกันว่า “จตุรพิธพร” แปลว่า “พรสี่ประการ

อายุ” อ่านตรงตัวว่า อา-ยุ หมายถึง มีอายุยืนนาน

วณฺโณ” อ่านว่า วัน-โน หมายถึง มีผิวพรรณผ่องใส หรือมีผู้ยกย่องนับถือ

สุขํ” อ่านว่า สุ-ขัง หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ

พลํ” อ่านว่า พะ-ลัง หมายถึง มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง

จะเห็นได้ว่า “อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” เอามาจาก “จตุรพิธพร” นี่เอง แต่เพิ่ม “ปฏิภาณ” เข้าไปอีกอย่างหนึ่ง

วณฺโณ” เอามาเขียนเป็น “วรรณ” ถ้าจะอ่านให้คล้อยตามรูปคำเดิมก็น่าจะอ่านว่า วัน-นะ (ไม่ใช่ วัน)

สุขํ” เอามาเขียนเป็น “สุข” ถ้าจะอ่านให้คล้อยตามรูปคำเดิมก็น่าจะอ่านว่า สุ-ขะ (ไม่ใช่ สุก)

พลํ” เอามาเขียนเป็น “พล” ถ้าจะอ่านให้คล้อยตามรูปคำเดิมก็น่าจะอ่านว่า พะ-ละ (ไม่ใช่ พน)

อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ” จึงน่าจะอ่านว่า อา-ยุ วัน-นะ สุ-ขะ พะ-ละ ปะ-ติ-พาน

ถ้าเจตนาจะให้อ่านเช่นว่านี้ ก็มีข้อกังขาว่า ไฉนไม่สะกดเป็น “วรรณะ สุขะ พละ” ตรงๆ เสียเลย จะได้หมดปัญหาในการอ่าน

คำตอบคือ คงจะเป็นหลักนิยมเกี่ยวกับอักขรวิธีอย่างหนึ่งในสมัยหนึ่งที่นิยมสะกดอย่างนี้ แต่ให้อ่านอย่างนั้น อันเป็นกฎที่ผู้อ่านจะต้องเรียนรู้และเข้าใจให้ตรงกัน

คำเทียบก็อย่างเช่น “พระพุทธ” เราอ่านกันว่า พฺระ-พุด ธ ธงหลัง ท ทหาร เราไม่ออกเสียง นี่ก็เพราะเรารู้หลักนิยมว่าเป็นเช่นนี้

วรรณ สุข พล” ก็ทำนองเดียวกัน ภาษาในคำประกาศท่านสะกดกันมาอย่างนี้ ถ้าเราเรียนรู้หลักนิยมในการอ่าน เราก็จะสามารถอ่านได้ตรงตามเจตนา

ถ้าศึกษาหลักภาษาไปเรื่อยๆ ตามตัวอย่างดังว่านี้ แม้จะไม่ได้ยินอาลักษณ์อ่าน หรือไม่มีหนังสือคู่มือการอ่าน เราก็ยังพอมองเห็นแนวทางในการอ่าน ไม่ใช่อ่านแบบเดาสุ่ม แต่อ่านอย่างมีหลัก

แม้หากว่าอาจจะไม่ตรงกับที่อาลักษณ์อ่านจริงๆ แต่ก็ยังได้ชื่อว่าอ่านอย่างมีหลักอยู่นั่นเอง เป็นอันได้ใช้สติปัญญาพอสมควรแก่เหตุ ควรแก่การสรรเสริญได้ส่วนหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อาหาร กินเพื่อต่อชีวิต

กระนั้นก็ยังประดิดประดอยให้มีรสโอชา

: การใช้ภาษา จึงมิใช่เพียงแค่สื่อสารกันเข้าใจ

เขียนอย่างไรอ่านอย่างไร นั่นแหละคือโอชารสของภาษา

#บาลีวันละคำ (3,087)

24-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย