นขลิขิต (บาลีวันละคำ 3,091)
นขลิขิต
อ่านว่า นะ-ขะ-ลิ-ขิด
ประกอบด้วยคำว่า นข + ลิขิต
(๑) “นข”
บาลีอ่านว่า นะ-ขะ รากศัพท์มาจาก น (ตัดมาจากศัพท์ว่า “นตฺถิ” = ไม่มี) + ข (แทนศัพท์ว่า “อินฺทฺริย” = อินทรีย์)
: นตฺถิ > น + ข = นข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ไม่มีอินทรีย์คือประสาทรู้สึก” หมายถึง เล็บมือหรือเล็บเท้า, เล็บสัตว์ (a nail of finger or toe, a claw)
(๒) “ลิขิต”
บาลีอ่านว่า ลิ-ขิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ลิขฺ (ธาตุ = เขียน) + อิ อาคม + ต ปัจจัย
: ลิขฺ + อิ + ต = ลิขิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาเขียนแล้ว” (อักษรหรือข้อความที่ถูกเขียนขึ้น)
“ลิขิต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ขัด, ตัด, แกะสลัก (carved, cut, worked)
(2) เขียน, จารึก (written, inscribed)
(3) ทำให้เรียบ, โกน (made smooth, shaved)
(4) ทำเครื่องหมาย, เนรเทศ, ประณาม, ประกาศให้อยู่นอกกฎหมาย (marked, proscribed, made an outlaw)
“ลิขิต” ในภาษาไทยอ่านว่า ลิ-ขิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ลิขิต : (คำนาม) หนังสือ, จดหมาย, (นิยมใช้เฉพาะจดหมายของพระสงฆ์), หากเป็นจดหมายของสมเด็จพระสังฆราช ใช้ว่า พระลิขิต. (คำกริยา) เขียน, กำหนด, เช่น พระพรหมได้ลิขิตชีวิตไว้แล้ว. (ป., ส.).”
นข + ลิขิต = นขลิขิต แปลตามศัพท์ว่า “รูปลักษณ์อันเขียนแล้วด้วยเล็บ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นขลิขิต : (คำนาม) เครื่องหมายวงเล็บ รูปดังนี้ ( ).”
รายละเอียดของ “นขลิขิต” พจนานุกรมฯ ยกไปอธิบายไว้ที่คำว่า “วงเล็บ” มีข้อความดังนี้ –
…………..
วงเล็บ :
(๑) (คำนาม) เครื่องหมายวรรคตอนรูปดังนี้ ( ) สําหรับใช้กันข้อความที่ขยายหรืออธิบายจากข้อความอื่น และข้อความในระหว่างวงเล็บนั้นจะอ่านหรือเว้นเสียก็ได้ ไม่ทำให้เนื้อความนอกจากนั้นเสียไป เช่น จึงสรุปได้ว่ามนุษย์หรือขันธ์ ๕ นั้น ได้สร้างโลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง) ให้แก่ตัวเองทั้งสิ้น, ใช้กันข้อความซึ่งบอกที่มาของคำหรือข้อความ เช่น สิลา น. หิน, ก้อนหิน. (ป.; ส. ศิลา)
(๒) (คำนาม) ใช้กันนามเต็มหรือบรรดาศักดิ์ที่เขียนใต้ลายมือชื่อ เช่น
……………………
(ดูที่ภาพประกอบ)
……………………
ใช้กันตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นหัวข้อหรือที่เป็นเลขหมายบอกเชิงอรรถ ส่วนตัวอักษรหรือตัวเลขที่เป็นหัวข้ออาจใช้เพียงเครื่องหมายวงเล็บปิดก็ได้ เช่น วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ (๑) อภิวันท์ลาบาทพระชินวร ข้อ (ก) ข้อ ๑), ใช้ในวิชาคณิตศาสตร์และสูตรทางวิทยาศาสตร์เพื่อกั้นตัวเลขหรือสัญลักษณ์ไว้เป็นกลุ่ม เช่น a2 – b2 = (a + b)(a – b), Al2(SO4)3, นขลิขิต ก็ว่า.
…………..
แถม :
คำว่า “วงเล็บ” คำอังกฤษที่ใช้กันเป็นสามัญว่า bracket
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล bracket เป็นบาลีว่า:
addhacanda-rekhā อทฺธจนฺท–เรขา (อัด-ทะ-จัน-ทะ เร-ขา) = รูปรอยดั่งจันทร์เสี้ยว
…………..
: บาลีแขกว่า “อทฺธจนฺท-เรขา”
: บาลีไทยว่า “นขลิขิต”
: สิ่งเดียวกันสิกลับคิดไปคนละทาง
ดูก่อนภราดา!
: ร้อยคนเห็นกันไปร้อยอย่างจึงเป็นเรื่องธรรมดา
#บาลีวันละคำ (3,091)
28-11-63