บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

“ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” (๑) 

“ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” (๑) 

———————

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๓ ผมเขียนคำว่า “องคชาต” เป็นบาลีวันละคำ และมีภาพผู้หญิงยืนชูป้ายเป็นภาพประกอบ

ผู้หญิงที่ยืนชูป้ายนั้นคงจะเรียกกันว่า “เด็ก” นุ่งกางเกงขาสั้นมาก ข้อความในป้ายอ่านได้ว่า “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” 

เมื่อโพสต์ออกไป ก็มีคนทักท้วงเชิงตำหนิว่า ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม

ผมอ่านคำทักท้วงแล้วก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่มีข้อสงสัยเงียบๆ ว่า ผม “ไปยุ่งกับเด็ก” ตรงไหน 

แต่เวลานั้นผมเห็นว่ากำลังน้ำเชี่ยวลมแรง คืออารมณ์คนกำลังบูด พูดอะไรออกไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็จึงไม่ได้ตอบอะไร

ผมเห็นว่าตอนนี้อารมณ์คงจะปกติดีแล้ว อย่างน้อยก็คงมีสติและมีใจกว้างพอที่จะรับฟังกัน ก็จึงจะขอโอกาสปรารภสู่กันฟัง

ข้อปรารภนี้ไม่ใช่คำแก้ตัว แต่ขอโอกาสบอกถึง “วิธีคิด” ของผม

ข้อปรารภของผมก็ยังคงเป็นข้อสงสัยเดิม คือ ผม “ไปยุ่งกับเด็ก” ตรงไหน?

ผมอ่านทบทวนข้อความในบาลีวันละคำวันนั้นแล้ว ก็ไม่ได้พบถ้อยคำอะไรที่พูดถึงเด็กคนนั้นหรือเด็กคนไหนทั้งสิ้น อันที่จริงบาลีวันละคำวันนั้นไม่ได้มีข้อความใดๆ ที่เอ่ยถึงเด็กหรือเอ่ยถึงภาพประกอบภาพนั้นเลยสักคำด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยการตีความ 

แล้วผม “ไปยุ่งกับเด็ก” ตรงไหน?

ถ้าคำว่า “ไปยุ่งกับเด็ก” หมายถึงไปเอารูปเด็กยืนชูป้ายมาลงประกอบเรื่อง ผมก็ยังสงสัยอยู่นั่นเองว่า ทำไมหรือด้วยเหตุผลอะไรการเอารูปเด็กยืนชูป้ายรูปนั้นมาลงประกอบเรื่องจึงเป็นการ “ไปยุ่งกับเด็ก” 

ผมอยากจะชวนให้คิดแบบนี้ครับ ขอความกรุณาค่อยๆ ตามวิธีคิดของผมไป

๑ มีคนเผยแพร่รูปเด็กยืนชูป้ายมีข้อความ “องค์เดียวที่ฉันจะก้มหัวให้คือองคชาต” ต่อสาธารณชน 

ตัดประเด็นรูปจริงรูปปลอมออกไป 

รูปนั้นเป็นรูปจริงๆ ส่วนเด็กคนนั้นยืนถือป้ายจริงๆ หรือเป็นภาพตัดต่อ ไม่ได้ทำให้คำตำหนิทักท้วงเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ เพราะคำทักท้วงไม่ได้ทักท้วงว่า “ผมเอารูปปลอมมาเผยแพร่ทำไม” แต่ทักท้วงว่า “ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” นั่นคือคำทักท้วงนี้ไม่ได้ติดใจสงสัยเรื่องภาพจริงภาพปลอม แต่มุ่งไปที่เนื้อหาในภาพหรือตัวภาพเลยทีเดียว ดังนั้น แม้สมมุติว่าภาพนั้นเป็นภาพปลอม ผมก็ยังคงโดนตำหนิว่า “ผมไปยุ่งกับเด็กทำไม” อยู่นั้นเอง

ขั้นตอนนี้ (มีคนเผยแพร่รูปเด็กยืนชูป้ายต่อสาธารณชน) คงไม่มีใครกล่าวหาว่าผมไปยุ่งกับเด็กนะครับ

๒ ผมไปเห็นภาพนั้นเข้า 

ก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปอีกเป็นอันมากที่ตาไม่บอด และมีภาพนั้นมาอยู่ในทัศนวิสัย คือระยะที่สามารถมองเห็นได้ ก็ย่อมจะได้เห็นภาพนั้นได้ทุกคน 

ขั้นตอนนี้ ผมไปยุ่งกับเด็กหรือยัง?

๓ ผมมองเด็กในภาพ และอ่านข้อความตามป้ายในภาพ

ขั้นตอนนี้ ผมไปยุ่งกับเด็กหรือยัง?

๔ ผมวิจารณ์เด็กและวิจารณ์ข้อความในภาพ 

สมมุติว่าผมวิจารณ์ข้อความในภาพ หรือวิจารณ์การแต่งตัวของเด็กในภาพให้คนที่อยู่ใกล้ๆ ฟัง ซึ่งคนทั่วไปที่เห็นภาพนั้นก็คงจะทำเหมือนๆ กัน แต่พูดกันคนสองคนเท่านั้น และไม่ได้เอาคำพูดนั้นไปเผยแพร่ที่ไหน

ขั้นตอนนี้ ถ้าผมทำ ผมก็เริ่มไปยุ่งกับเด็กแล้ว ใช่ไหมครับ 

แต่ข้อเท็จจริง ผมไม่ได้ทำ คือไม่ได้พูดไม่ได้วิจารณ์อะไรให้ใครฟังทั้งสิ้น ข้อสำคัญไม่ได้เอาข้อวิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับภาพนั้นมาเขียนในบาลีวันละคำเลยสักคำเดียว

ผมไปยุ่งกับเด็กหรือยัง?

๕ ผมเอาภาพนั้นมาลงประกอบบาลีวันละคำโดยไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับภาพนั้นเลย

ขั้นตอนนี้ ผมถูกตำหนิว่าไปยุ่งกับเด็ก!! 

ท่านตามผมมาถึงตอนนี้ พอจะบอกได้หรือไม่ว่า —

ผมไปยุ่งกับเด็กตรงไหน? 

ผมไปทำอะไรจึงถูกตำหนิว่า “ไปยุ่งกับเด็ก”?

การเอาภาพนั้นมาลงประกอบบาลีวันละคำโดยไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับภาพนั้นเลย ทำไมจึงถูกตำหนิว่า “ไปยุ่งกับเด็ก”?

เท่าที่ผมทราบ คนที่ถ่ายหรือทำภาพนั้นขึ้นมาก็ดี ตัวเด็กในภาพก็ดี ไม่ได้ประกาศหวงห้ามไม่ให้เอาภาพนั้นไปเผยแพร่ (อย่างน้อยที่สุดก็ในขณะนั้น)

แล้วทำไมผม-ผู้เอาภาพนั้นมาเผยแพร่-จึงถูกตำหนิว่า “ไปยุ่งกับเด็ก”?

ถ้าสมมุติว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองประกาศว่า ห้ามนำภาพนั้นไปเผยแพร่ แล้วผมเอาภาพนั้นมาเผยแพร่ ผมก็ควรถูกตำหนิว่า “ไปยุ่งกับเจ้าหน้าบ้านเมืองทำไม” หรือ “ไปยุ่งกับกฎหมายทำไม” 

ไม่ใช่ “ไปยุ่งกับเด็กทำไม” ใช่หรือไม่?

แต่ก็ไม่ได้มีใครตำหนิผมว่า ไปยุ่งกับเจ้าหน้าบ้านเมืองทำไม หรือไปยุ่งกับกฎหมายทำไม 

มีแต่ตำหนิว่า ไปยุ่งกับเด็กทำไม

วิธีคิดของผมเป็นดังที่แสดงมา ดังนั้นผมจึงสงสัยว่า ผมทำผิดอะไรจึงถูกตำหนิว่าไปยุ่งกับเด็ก?

……………….

พักครึ่งเวลาแค่นี้ก่อน

ตอนหน้าจะเป็นข้อสันนิษฐานของผม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๓

๑๖:๔๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *